ถ้าพูดถึง มิตาราชิดังโงะ (みだらし団子) คนรักอาหารญี่ปุ่นทั้งหลายต้องรู้จักอย่างแน่นอน แต่ถ้าพูดถึง “มิดาราชิดังโงะ” ทุกคนรู้จักกันไหมคะ ?? นี่ไม่ใช่การพิมพ์ผิดแต่อย่างใด เพราะอาหารชนิดนี้ก็เป็นดังโงะเสียบไม้อีกประเภทหนึ่งเช่นกัน! ถ้าสงสัยว่ามันคือดังโงะอะไร ต่างกับมิตาราชิดังโงะอย่างไร หาทานได้ที่ไหน วันนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักดังโงะประเภทนี้โดยสังเขปกันค่ะ

มิดาราชิดังโงะ คืออะไร ?

มิดาราชิดังโงะ (みだらし団子) เป็นดังโงะเสียบไม้ประเภทหนึ่ง นิยมทานกันในแถบภูมิภาคฮิดะของจังหวัดกิฟุ มีลักษณะคล้ายกับมิตาราชิดังโงะคือเป็นดังโงะสีน้ำตาลเสียบไม้หลายลูก แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือเรื่องรสชาติ มิตาราชิดังโงะมีเอกลักษณ์โดยทั่วไปคือความหวานจากซอสมิตาราชิที่ผสมน้ำตาล โชยุ และแป้งมัน

ส่วนมิดาราชิดังโงะจะเคลือบเฉพาะซอสโชยุที่ไม่หวาน ทำให้มีกลิ่นหอม คนส่วนมากจึงมีอิมเมจว่ามิดาราชิดังโงะเป็นอาหารจริงจังมากกว่าที่จะทานเป็นขนม และหากต้องการเพิ่มความหอมยิ่งขึ้น หลังจากย่างดังโงะและเคลือบซอสแล้วก็จะนำไปย่างอีกครั้ง

ความเป็นมาของมิดาราชิดังโงะ

จักรพรรดิโกไดโกะ

คนส่วนใหญ่มองว่าทั้ง 2 อย่างคืออาหารชนิดเดียวกัน และเชื่อกันว่าชื่อของมิดาราชิดังโงะเป็นการเพี้ยนมาจากมิตาราชิดังโงะ ที่มาของอาหารชนิดนี้มีทฤษฎีบอกว่าได้รับการเผยแพร่มาจากศาลเจ้าชิโมกาโมะในเกียวโต ว่ากันว่าจักรพรรดิโกไดโกะ (ปลายสมัยคามาคุระ) ตักน้ำขึ้นมาจากบ่อมิตาราชิในบริเวณวัด มีฟองน้ำ 1 ฟองลอยขึ้นสู่ผิวน้ำ และต่อมาก็มีฟองน้ำลอยขึ้นมาอีก 4 ฟอง แลดูเหมือนลูกดังโงะ จากนั้นจึงมีการสั่งให้ทำมิตาราชิดังโงะเป็นครั้งแรกในบ้านของนักบวชเพื่อสักการะหน้าศาลเจ้าในช่วงเทศกาลอาโออิและเทศกาลมิตาราชิที่ศาลเจ้าชิโมกาโมะในเกียวโต

แต่เดิมวิธีการเสียบดังโงะคือใช้ไม้ไผ่มาฉีกเป็นไม้เล็ก ๆ 10 ไม้ ใน 1 ไม้เสียบดังโงะลูกเล็กไว้ที่ปลายไม้ 1 ลูก เว้นระยะห่างเล็กน้อยแล้วจึงเสียบดังโงะอีก 4 ลูกติดกัน เมื่อครบทั้ง 10 ไม้ก็จะได้ดังโงะทั้งหมด 50 ลูกที่เรียงกันเหมือนรูปพัด แต่หน้าตาของมิตาราชิดังโงะที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบันเกิดขึ้นในสมัยไทโช ซึ่งในช่วงเวลานั้นมีเพียงแค่ดังโงะเคลือบโชยุอย่างเดียว เมื่อเจ้าของร้าน Kamo Mitarashi Chaya คิดค้นซอสที่ผสมโชยุและน้ำตาลทรายแดง ก็กลายเป็นที่ชื่นชอบของทุกคนตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ ทำให้ปัจจุบันเป็นที่รู้กันทั่วไปในเกียวโตและภูมิภาคคันไซว่า มิตาราชิดังโงะมีรสหวาน ส่วนของแถบภูมิภาคฮิดะของจังหวัดกิฟุจะเคลือบเพียงแค่โชยุแบบดั้งเดิมเหมือนสมัยโบราณจึงไม่หวานเหมือนที่อื่น เรียกกันว่ามิดาราชิดังโงะ

เพลิดเพลินกับดังโงะในทาคายาม่า

ในภูมิภาคฮิดะของจังหวัดกิฟุ มิดาราชิดังโงะเป็นที่นิยมในฐานะอาหารทานเล่นแบบเดินไปทานไป โดยเฉพาะในทาคายาม่าที่ยังคงรักษาสภาพเมืองเก่าเอาไว้ จึงมีร้านขายดังโงะมากมายหลายร้านให้ได้ลิ้มลองรสชาติความอร่อยแบบดั้งเดิมที่หาทานได้ยาก เรียกได้ว่าเป็นแหล่งของมิดาราชิดังโงะเลยก็ว่าได้ เหมาะกับการซื้อทานแล้วเดินเล่นชมทิวทัศน์ของบ้านเมืองเก่าแก่ไปด้วย ราคาอาจแตกต่างกันในแต่ละร้านแต่ก็อยู่ที่ไม้ละประมาณ 80 เยน

ทำไมในคันไซเสียบดังโงะ 5 ลูก แต่คันโตเสียบดังโงะ 4 ลูก ?

ทุกวันนี้เราจะเห็นได้ว่าอาหารประเภทดังโงะเสียบไม้ในภูมิภาคคันไซจะมี 5 ลูก เนื่องจากอาหารชนิดนี้กำเนิดในเกียวโตซึ่งมีไม้ละ 5 ลูกมาตั้งแต่แรก เมื่อแพร่กระจายไปในภูมิภาคคันไซจึงมี 5 ลูกดังเดิม ส่วนในภูมิภาคคันโตจะมี 4 ลูก ความจริงแล้วในสมัยเอโดะ ในภูมิภาคคันโตก็เคยขายดังโงะไม้ละ 5 ลูกเช่นกัน โดยจะขายในราคาไม้ละ 5 มง แต่ในปี 1756 มีการผลิตเหรียญ 4 มงขึ้นมา ทำให้มีลูกค้าขี้โกงบางคนซื้อดังโงะ 1 ไม้โดยจ่ายแค่ 4 มง ร้านค้าจึงต้องลดจำนวนลงเหลือเพียงไม้ละ 4 ลูกเพื่อไม่ให้ขาดทุนและป้องกันลูกค้าประเภทนี้

ไม่คิดเลยนะคะว่ามิตาราชิดังโงะก็มีแฝดคนละฝาอย่างมิดาราชิดังโงะด้วย ทำเอาอยากลองชิมแล้วเปรียบเทียบกันทั้งสองแบบเลย หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้เพื่อน ๆ ได้รู้จักวัฒนธรรมของอาหารชนิดนี้และทานดังโงะได้เอร็ดอร่อยมากขึ้นนะคะ

สรุปเนื้อหาจาก: mag.japaaan

AsmarCat

นักเขียนทาสแมวที่คอสเพลย์เป็นงานอดิเรก ชื่นชอบ Pop Culture ของญี่ปุ่นเป็นพิเศษ ดูเมะ ฟังเพลง และ Cafe Hopping มามองญี่ปุ่นในมุมใหม่ ๆ ไปด้วยกันนะคะ

ไอคอน PDPA

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า