ใครชอบเมนูกาแฟนมต้องคุ้นสองเมนูนี้แน่นอน เพราะทั้ง “คาเฟ่โอเล่” (Café au lait หรือในภาษาญี่ปุ่น カフェオレ) และ “คาเฟ่ลาเต้” (Caffe Latte หรือในภาษาญี่ปุ่น カフェラテ) ล้วนแล้วแต่เป็นเมนูยอดนิยมในร้านกาแฟ ที่ญี่ปุ่นเองก็มีกาแฟบรรจุขวดหรือแก้วพลาสติกขายตามซูเปอร์มาเก็ตทั้งแบบคาเฟ่โอเล่และคาเฟ่ลาเต้เหมือนกัน แถมหน้าตาและรสชาติคล้ายกันมากอีกด้วย สรุปแล้วทั้งสองเมนูนี้คือสิ่งเดียวกันหรือเปล่านะ? ถ้าไม่ใช่แล้วต่างกันอย่างไรล่ะ?
ภาษาฝรั่งเศส vs ภาษาอิตาลี
คาเฟ่โอเล่ เป็นภาษาฝรั่งเศส หมายถึง กาแฟใส่นม เป็นวิธีดื่มกาแฟที่ได้รับความนิยมในฝรั่งเศส จะชงโดยเทนมร้อนลงในกาแฟดริป และเสิร์ฟในถ้วยแบบไม่มีด้ามจับที่เรียกว่า “Cafe au lait bowl” อัตราส่วนของกาแฟต่อนมจะเป็น 1:1
ส่วน คาเฟ่ลาเต้ เป็นภาษาอิตาลี หมายถึง “นมกาแฟ” ในภาษาอิตาลีคำว่า “คาเฟ่” (Caffe) โดยทั่วไปจะหมายถึง เอสเพรสโซเข้มข้นโดยใช้กาแฟคั่วแบบอิตาลีที่มีการคั่วในระดับลึกที่สุด คาเฟ่ลาเต้จึงหมายถึง เครื่องดื่มที่ใส่นมผสมกับเอสเปรสโซกับนม อัตราส่วนของเอสเพรสโซและนมคือ 2:8
จุดร่วมระหว่างคาเฟ่โอเล่และคาเฟ่ลาเต้คือ ใส่นมเหมือนกัน ส่วนจุดต่างคือวิธีสกัดกาแฟที่ใช้ จุดเด่นของคาเฟ่โอเล่คือมีรสขมนิด ๆ ทำให้สามารถเพลิดเพลินไปกับรสชาติที่นุ่มนวลได้ ส่วนจุดเด่นของคาเฟ่ลาเต้คือ ความขมขึ้นมาอีกระดับ เนื่องจากใช้เอสเปรสโซที่มีความเข้มข้นมากกว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ มีร้านกาแฟเฟรนไชส์บางร้านเรียกเครื่องดื่มที่มีฟองนมว่า “คาเฟ่ลาเต้” ซึ่งเป็นวิธีเรียกแบบอเมริกันสไตล์ ในอิตาลีจะเรียกเครื่องดื่มที่มีฟองนมว่า “คาปูชิโน่”
เมนูไหนมีคาเฟอีนมากกว่ากัน?
หลายคนอาจจะมองว่า คาเฟ่ลาเต้น่าจะมีคาเฟอีนมากกว่าเพราะมีรสขมกว่า แต่จริง ๆ แล้วถ้าเทียบจากขนาดแก้ว คาเฟ่โอเล่จะมีคาเฟอีนมากกว่า เพราะคาเฟ่ลาเต้ใส่นมมากกว่า จึงทำให้มีปริมาณคาเฟอีนน้อยกว่าคาเฟ่โอเล่ แต่ถ้าเทียบกาแฟดริปกับเอสเพรสโซในปริมาณเดียวกันแล้ว เอสเพรสโซจะมีคาเฟอีนมากกว่า
แล้วต่างอะไรกับนมกาแฟ?
นอกจากคาเฟ่โอเล่และคาเฟ่ลาเต้แล้ว เราก็ยังมีนมกาแฟเพิ่มเข้ามา เพราะวัตถุดิบพวกนางทั้งสามนั้นเหมือนกันเลย! คนญี่ปุ่นนิยมดื่มนมกาแฟเย็นๆ หลังแช่ออนเซ็นร้อน ๆ (ส่วนตัวก็ยังสงสัยอยู่ว่าทำไมต้องเป็นนมกาแฟ?) วัตถุดิบและปริมาณนมกับกาแฟก็ไม่ต่างกัน ที่ต่างกันจะเป็นเรื่องของ “บทบาท” คาเฟ่โอเล่กับคาเฟ่ลาเต้จะเน้นที่กาแฟ ส่วนนมกาแฟก็จะเน้นไปที่นมนั่นเอง
เธอคนนั้นคือฉันอีกคน! วลีนี้ไม่เกินจริงสำหรับคาเฟ่โอเล่และคาเฟ่ลาเต้ ส่วนตัวแล้วมองว่าทั้งสองเมนูนั้นคือสิ่งเดียวกัน เพราะคิดว่าเป็นเมนูที่ถูก Localize มาจากต้นตำรับอีกที ทำให้ความต่างของประเภทกาแฟและสัดส่วนของส่วนผสมต่างกันไปตามแต่ละร้านนั่นเองค่ะ ว่าแล้วก็ขอไปชงดื่มสักแก้วก่อนนะคะ
สรุปข้อมูลจาก otonanswer