หลังจากที่ทางฮอลลีวู้ดมีความพยายามในการ “สร้างจักรวาล” ของตัวเอง โดยมี Marvel เป็นหัวหอกที่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามจนค่ายอื่นก็พยายามสร้างจักรวาลของตัวเองกันบ้าง เช่นค่าย DC หรือการพยายามสร้าง MonsterVerse รวมทั้งความพยายามสร้าง Dark Universe เป็นต้น
ในที่สุดก็ถึงเวลาที่ทางญี่ปุ่นหันมาสร้างจักรวาลของตัวเองบ้าง โดยนำผลงานเก่า ๆ ที่เคยโด่งดัง 4 เรื่องมาเข้าโครงการ SHIN คือ SHIN Godzilla (2016), SHIN Evangelion (2021), SHIN Ultraman (2022) และ SHIN Kamen Rider (2023) โดยออกอากาศครบทั้ง 4 เรื่องหลังจากที่ SHIN Kamen Rider เริ่มออกอากาศที่ญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคม 2023 ที่ผ่านมา
SHIN Godzilla
ก็อดซิลล่านั้นออกอากาศครั้งแรกในปี 1954 และมีภาคต่ออีกมากมาย ฮิตอย่างต่อเนื่องหลายทศวรรษ จนแม้แต่ฮอลลีวู้ดก็ซื้อไปสร้างเป็นเวอร์ชั่นแบบฮอลลีวู้ดเองอีกหลายภาค ญี่ปุ่นเป็นชาติที่หวาดกลัวอาวุธนิวเคลียร์อย่างมากเพราะเคยลิ้มรสความน่ากลัวของอาวุธนิวเคลียร์มาแล้ว เมื่อมีความพยายามอยากสร้างภาพยนตร์ปีศาจร่างยักษ์ จึงเอาแนวคิดมลพิษจากนิวเคลียร์มาทำให้เป็นรูปเป็นร่าง จึงกลายเป็นปีศาจก็อดซิลล่า ซึ่งเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่ปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีจากนิวเคลียร์และกลายพันธุ์เป็นปีศาจร่างยักษ์
แต่ใน SHIN Godzilla ภาคนี้ดูเหมือนจะบอกทางอ้อมว่าหายนะของญี่ปุ่นที่แท้จริงนั้นไม่ใช่เจ้าสัตว์เลื้อยคลานร่างยักษ์นี้หรอก แต่เป็นระบบราชการของญี่ปุ่นต่างหาก! กลายเป็นภาพยนตร์ที่เครียดและจิกกัดสังคมญี่ปุ่นเต็ม ๆ อยู่หลายดอก ให้อารมณ์ที่แตกต่างออกไปจากหนังก็อดซิลล่าภาคอื่น ๆ ที่ผ่านมาอย่างมาก
SHIN Evangelion
SHIN Evangelion กลับจะมีชื่อภาษาอังกฤษอย่างเป็นทางการที่ไม่มีคำว่า SHIN อยู่ในชื่อ คือชื่อว่า Evangelion: 3.0+1.0 Thrice Upon a Time ซึ่งจะเป็นบทสรุปที่แท้จริงของซีรีส์อีวานเกเลียนอันโด่งดัง ที่น่าสนใจคือเรื่องนี้เป็นเพียงเรื่องเดียวในโครงการ SHIN ที่เป็นอนิเมะจริง ๆ ต่างจากอีก 3 เรื่องที่เป็นภาพยนตร์แบบคนแสดงที่เรียกว่าโทะคุซัทสึ (特撮) จึงยังมองภาพไม่ออกว่าจะเอาทั้ง 4 เรื่องมา Crossover จักรวาลกันยังไง
แน่นอนว่า อีวานเกเลียนก็คืออีวานเกเลียน ผู้ชมสามารถตีความไปได้ต่าง ๆ นานารูปแบบ ผู้เขียนจึงมิกล้าจะสรุปหรือตีความใด ๆ ของ SHIN Evangelion ต้องปล่อยให้ผู้อ่านคอลัมน์นี้ไปหามารับชมและดื่มด่ำกับความอีวานเกเลียนกันเอง
SHIN Ultraman
SHIN Ultraman เป็น Ultraman ภาคที่มีความเชื่อมโยงกับ SHIN Godzilla เพราะเป็นโลกเดียวกันกับบที่กล่าวถึงสัตว์ประหลาดร่างยักษ์ที่เรียกว่า “ไคจู (怪獣)” เหมือนในเรื่อง SHIN Godzilla แต่มีการกล่าวถึงสิ่งมีชีวิตต่างดาวหลายเผ่าพันธุ์ที่เข้ามาบนโลกรวมทั้งอุลตร้าแมนด้วย โดยบรรยากาศของเรื่องก็ยังคล้ายกับ SHIN Godzilla อีกนั่นแหละเพราะมีการกล่าวถึงขั้นตอนการทำงานของระบบราชการแบบญี่ปุ่น บทบาทของกองกำลังป้องกันตัวเอง และ บทบาทของนักการเมือง แต่โฟกัสไปที่การตั้งคำถามว่ามนุษย์ยังควรจะดำรงเผ่าพันธุ์ของตัวเองต่อไปในจักรวาลนี้หรือไม่ มากกว่าเน้นไปที่เสียดสีระบบราชการเท่ากับ SHIN Godzilla
SHIN Kamen Rider
SHIN Kamen Rider เป็นเรื่องล่าสุดในโครงการ SHIN ที่ออกอากาศในญี่ปุ่นไปเมื่อเดือนมีนาคม 2023 เนื้อเรื่องกล่าวถึงองค์กรชั่วร้ายที่จับมนุษย์ไปทดลองเป็น “มนุษย์ดัดแปลง” หรือ ไคโซนิงเง็น (改造人間) โดยคงความคลาสสิกแบบไรเดอร์ยุคเก่า ๆ เอาไว้ และมีความทารุณเลือดร้ายระดับติดเรต PG12 เรียกว่าโหดแบบเคารพต้นฉบับไรเดอร์ของ Ishinomori Shoutaro เลย และเป็นเรื่องที่โหดเลือดสาดที่สุดในโทะคุซัทสึทั้ง 3 เรื่องในโครงการ SHIN
กล่าวโดยสรุป
ยังไม่สามารถรู้ถึงอนาคตของทั้ง 4 เรื่องได้ มีความพยายามที่จะสร้าง SHIN Japan Heroes Amusement World ที่เป็นอีเว้นต์แบบตระเวนให้บริการไปตามสถานที่ต่าง ๆ ในญี่ปุ่น ให้ผู้เล่นสามารถได้ลองเครื่องเล่นแบบจำลองเหตุการณ์ต่าง ๆ จากทั้ง 4 เรื่องได้ รวมทั้งมีความพยายามขายสินค้าหรือไอเท็มต่าง ๆ จากทั้ง 4 เรื่อง และแม้ว่าทั้ง 4 เรื่องจะทำรายได้ดีมากในประเทศญี่ปุ่น แต่เนื่องจากโลกปัจจุบันนั้นเชื่อมต่อกันหมด หากยังไม่สามารถสร้างรายได้และชื่อเสียงในระดับนานาชาติ ก็ยังตอบยากว่าทิศทางของโครงการ SHIN จะเป็นไปในทางใด ในฐานะแฟน ๆ สื่อบันเทิงของญี่ปุ่นก็ขอเอาใจช่วยให้มีการนำแนวคิดนี้ไปต่อยอดสร้างจักรวาลของญี่ปุ่นให้ประสบความสำเร็จได้อย่าง Marvel บ้าง
เกี่ยวกับผู้เขียน
วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล เป็นคนไทยเพียงไม่กี่คนที่เคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นมาแล้วถึง 4 แห่ง โดยเคยได้รับทุนแลกเปลี่ยนระหว่างที่ว่าการจังหวัด Okinawa และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปศึกษาที่ The University of the Ryukyus รวมทั้งเคยได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่นแบบสอบผ่านสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ไปศึกษาที่ 1) Tokyo University of Foreign Studies / 2) International Christian University / และ 3) Keio University มีประสบการณ์ทำงานที่หลากหลาย เคยเป็นผู้สื่อข่าวและผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ให้บริษัท Nippon Production Service (บริษัทในเครือสถานีโทรทัศน์ NHK) / เป็นผู้สอนภาษาไทยที่สถาบันภาษาไทยหลายแห่งในโตเกียว / เป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติที่สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจและการตลาดให้บริษัท Corporate Directions Inc. ของประเทศญี่ปุ่น / เป็นผู้ก่อตั้งสาขาภาษาญี่ปุ่นธุรกิจของคณะศิลปศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ / เป็นผู้อำนวยการบริษัท AIRA Capital และเป็นทีมงานก่อตั้งบริษัท AIRA and AIFUL รวมทั้งบัตรกดเงินสด A-Money / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท TOYO Business Service / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท JECC ประเทศญี่ปุ่น / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจของบริษัท Business Consultants South East Asia / มีประสบการณ์สอนในมหาวิทยาลัยมากกว่า 10 แห่งในประเทศไทย / เป็นที่ปรึกษาและจัดฝึกอบรมให้องค์กรหลายแห่ง
ปัจจุบันมีธุรกิจเล็ก ๆ ของตัวเองคือ บริษัท Consulting Agency for Talent จำกัด ทำธุรกิจให้คำปรึกษาด้านพัฒนาองค์กรและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HROD และ HRD) / เป็นนักวิชาการอิสระ / วิทยากรอิสระ / นอกจากเขียนคอลัมน์ที่ Conomi แห่งนี้แล้ว ก็เขียนคอลัมน์ให้ธนาคารไทยพาณิชย์ / เขียนคอลัมน์ให้ The PEOPLE Online Magazine / เขียนคอลัมน์ให้ Marumura และยังคงใฝ่เรียนรู้สิ่งใหม่ต่าง ๆ อยู่เสมอแม้ว่าจะมีปริญญา 7 ใบแล้วก็ตาม
ติดตามผลงานเขียนทั้งหมดของวีรยุทธได้ที่
Facebook : รวมผลงานของวีรยุทธ – Weerayuth’s Ideas