เคยพูดถึงวิทยายุทธใน Dragon Ball ที่อ้างอิงจากโลกแห่งความจริงไปแล้วใน “วิทยายุทธในเรื่อง Dragon Ball ที่อ้างอิงจากโลกแห่งความจริง” วันนี้อยากกล่าวถึงวิทยายุทธในเรื่องซามูไรพเนจร (るろうに剣心-明治剣客浪漫譚-) บ้าง ว่าอ้างอิงจากโลกแห่งความจริงมากน้อยเพียงใด
การออกแบบตัวละครเคนชิน
ตัวละครเคนชินนั้นไม่ได้เกิดขึ้นมาลอย ๆ หากแต่อ้างอิงจากนักฆ่าที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นที่ชื่อ คะวะคะมิ เก็นไซ (河上彦斎) ซึ่งเป็น 1 ใน 4 นักฆ่าที่โด่งดังที่สุดในปลายยุคบะกุฟุ (ก่อนการปฏิรูปเมจิจะเกิดขึ้นในปี ค. ศ. 1868) โดยในขณะปฏิบัติการนั้น เก็นไซ ได้รับฉายาว่า ฮิโตะคิริ เก็นไซ (人斬り彦斎) ที่แปลว่า “จอมเชือดเก็นไซ” จึงมีแนวโน้มให้เชื่อได้ว่าฉายา ฮิโตะคิริ บัตโตไซ (人斬り抜刀斎) หรือ “จอมเชือดบัตโตไซ” น่าจะเป็นการเล่นคำจากประวัติศาสตร์จริงของคำว่าจอมเชือดเก็นไซ เป็นแน่
อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก คะวะคะมิ เก็นไซ ใช้ชีวิตอยู่ในมุมมืดของสังคม จึงไม่เคยมีภาพถ่ายหรือภาพเขียนใด ๆ ดังนั้นจึงไม่ได้มีหน้าตาเหมือนเคนชินในเรื่องแน่ ๆ คงเป็นเพียงขอยืมประวัติศาสตร์บางส่วนในช่วงนั้น และขอยืมฉายาจอมเชือดเก็นไซ มาแต่งเติมเรื่องราวเป็นเรื่องซามูไรพเนจรเท่านั้น หากจะมีจุดที่คล้ายกันก็คือ เก็นไซก็เป็นชายร่างเล็กมาก ว่ากันว่าสูงไม่ถึง 160 เซนติเมตร ซึ่งเคนชินในการ์ตูนก็เป็นชายร่างเล็กเช่นกัน
ความหมายของเพลงดาบล่องนภา
คำว่า “เพลงดาบล่องนภา” เขียนขึ้นด้วยอักษรคันจิ 5 ตัวคือ ฮิเท็ง-มิทสุรุงิ-ริว (飛天御剣流) ดังนี้
ฮิเท็ง (飛天) | หมายถึง เหินฟ้า หรือ ทะยานฟ้า ซึ่งในฉบับแปลไทยได้แปลไว้อย่างงดงามว่า “ล่องนภา” |
มิ (御) | เป็นอักษรแสดงการยกย่องสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ในที่นี้เขียนเชิดชูวิชาดาบของสำนักตัวเอง |
ทสุรุงิ (剣) | หมายถึง ดาบหรือกระบี่ที่มีคม 2 ด้าน แม้ว่าดาบญี่ปุ่นจะมีลักษณะคมด้านเดียวที่เรียกว่า คะตะนะ (刀) แต่วิชาดาบของญี่ปุ่นครอบคลุมทั้งดาบแบบคมด้านเดียว และคม 2 ด้าน |
ริว (流) | หมายถึง สำนัก หรือ กระแส |
เดิมที “เพลงดาบล่องนภา” มีแผนจะไม่ใช้อักษร มิ (御) ที่เป็นอักษรแสดงการยกย่อง แต่ไปใช้อักษร มิ (三) ที่แปลว่า สาม เนื่องจากเคล็ดลับของเพลงดาบล่องนภามี 3 ประการคือ
- ความเร็วของดาบ
- ความเร็วของร่างกายผู้ใช้ดาบ
- ความเร็วในการอ่านการเคลื่อนไหวของศัตรู
อีกทั้งสรรพคุณของเพลงดาบนี้คือ “เหวี่ยงดาบ 1 ครั้งสังหารได้ 3 คนในดาบเดียว” แต่เดิมจึงจะใช้อักษรมิ (三) ที่แปลว่า สาม แต่เมื่อเปิดตัวเนื้อเรื่องจริง ๆ ผู้แต่งเรื่องตัดสินใจใช้อักษร มิ (御) ที่เป็นอักษรแสดงการยกย่องไปแทน (ผู้เขียนคอลัมน์นี้ขอเดาเอาเองว่าอักษรแสดงการยกย่องฟังดูเท่สมกับเป็นเพลงดาบในตำนานมากกว่าอักษรที่แปลว่าสาม)
เพลงดาบล่องนภา – ขณะมีดาบ
เพลงดาบล่องนภาอ้างอิงจากวิชาดาบโบราณของญี่ปุ่นที่มีอยู่จริงทั้งหมด 2 วิชาคือ
1.เคนจุตสึ (剣術)
เป็นวิชาดาบโบราณที่เน้นสังหาร (ต่างจากเคนโด้: 剣道 ในปัจจุบันที่กลายเป็นกีฬาแล้ว มีกติกาห้ามโน่นนี่มากมาย) ทุกการเคลื่อนไหวต้องฆ่าหรือทำให้ศัตรูบาดเจ็บให้ได้จำนวนมากที่สุด เพราะใช้ในสงครามจริง ไม่ได้เน้นต่อสู้ แต่เน้นฆ่า ทุกดาบต้องฆ่าและฆ่าให้มากที่สุดในทุกการเคลื่อนไหว
2.อิไอจุตสึ (居合術) และ บัตโตจุตสึ (抜刀術)
เป็น 2 วิชาที่คล้ายกันมากจนบางคนก็เรียกรวมกันว่าอิไอบัตโตจุตสึ (居合抜刀術) ซึ่งเป็นวิชาดาบที่พิเศษกว่าวิชาดาบของชาติอื่นตรงที่เป็นวิชาดาบที่เน้นการใช้ดาบตอนที่ดาบยังอยู่ในฝัก ในขณะที่เคนจุตสึคือวิชาดาบที่เน้นการใช้ดาบหลังดาบออกจากฝักดาบแล้ว
a. อิไอจุตสึ (居合術)
อักษรคำว่า อิ (居) หมายถึงการนั่ง หรือ หมายถึงฝักดาบ จึงเป็นวิชาที่เน้นการใช้ดาบจากท่านั่ง และเน้นการใช้ดาบที่ยังอยู่ในฝัก
b. บัตโตจุตสึ (抜刀術)
คำว่า บัตโต (抜刀) แปลว่าชักดาบออกจากฝัก วิชานี้จึงเป็นวิชาที่เน้นการชักดาบออกจากฝักและฆ่าศัตรูให้เร็วที่สุดในชั่วพริบตาที่ชักดาบ
เนื่องจากอิไอจุตสึและบัตโตจุตสึมีความเกี่ยวข้องกันอย่างมากจึงแยกออกจากกันได้ยาก เคนชินในเรื่องซามูไรพเนจรมีพรสวรรค์มากเป็นพิเศษด้านการชักดาบฆ่าศัตรูในชั่วพริบตา จึงได้รับฉายาว่า บัตโตไซ (抜刀斎) ซึ่งได้กล่าวไปแล้วว่าบัตโต (抜刀) แปลว่าชักดาบออกจากฝัก ส่วน ไซ (斎) หมายถึงความสำรวม ความมีระเบียบ ฉายาว่าบัตโตไซจึงแปลว่า “ชักดาบฆ่าคนได้อย่างหมดจดสมบูรณ์แบบไร้ที่ติ”
เพลงดาบล่องนภา – ขณะไร้ดาบ
เพลงดาบล่องนภาไม่ได้มีแต่เพลงดาบ แต่มีวิชาตอนไร้ดาบด้วย หากดูภาพยนตร์ที่ซะโต้ ทะเคะรุ แสดงเป็นเคนชิน จะเห็นวิชาไร้ดาบได้ชัดมากตอนเปิดตัวที่โรงฝึกของคะโอะรุ ว่าต่อให้ไม่มีดาบ เคนชินก็น่ากลัวมากอยู่ดี ต้องแยกให้ชัดก่อนว่าวิชาคาราเต้ที่เป็นศิลปะการต่อสู้มือเปล่าของ “ญี่ปุ่นปัจจุบัน” นั้น แต่เดิมไม่ได้เป็นของญี่ปุ่น เพราะคาราเต้เพิ่งเข้าไปสู่ญี่ปุ่นในปี ค. ศ. 1922 นี่เอง (อ่านเพิ่มเติมที่นี่) ดังนั้นวิชาต่อสู้แบบไร้ดาบของเคนชินในช่วงปลายยุคบะกุฟุจึงไม่ใช่คาราเต้ แต่มีแนวโน้มจะเป็นวิชาจูจุทสึ (柔術) หรือที่ไทยชอบเรียกว่า “ยิวยิตสู” นั่นเอง
เนื่องจากซามูไรสมัยก่อนใส่เกราะเหล็กและต่อสู้กันด้วยดาบหรืออาวุธยาว แม้จะมีการเตะต่อยกันนอกสนามรบบ้างแต่ก็ไม่ได้จำเป็นถึงขั้นต้องพัฒนาพลังการเตะต่อยให้เป็นรูปธรรม แต่ไปเน้นการจับทุ่มให้ล้มและจุก หรือช้ำในจากน้ำหนักของเกราะเวลาโดนทุ่ม การบิดข้อต่อมือเท้าแขนขาให้หัก การบิดข้อต่อมือเท้าแขนขาให้เห็นช่องว่างของเกราะเพื่อเอาดาบเสียบสังหารศัตรูได้ ญี่ปุ่นยุคซามูไรจึงพัฒนาวิชาต่อสู้มือเปล่าออกมาเป็นแนวทางของจูจุทสึ คือไม่เน้นเตะต่อย แต่เน้นจับทุ่มและหักแขนขาเป็นหลัก (อ่านเพิ่มเติมที่นี่) อย่างไรก็ตามมีคำเรียกอีกอย่างสำหรับวิชาซามูไรไร้ดาบคือจะเรียกว่า “มุเทะ” หรือ “มุเดะ” ที่ใช้อักษรเดียวกันคือ 無手 ที่แปลว่า “ในมือไร้อาวุธ” แต่กระแสหลักไม่ค่อยมีคนเรียกมุเทะหรือมุเดะเพราะจะเรียกรวมว่าจูจุทสึกันมากกว่า
สรุป
นอกจากความสนุกของเนื้อเรื่องแล้ว การเอาประวัติศาสตร์จริงบางส่วนมาผสมกับจินตนาการของผู้แต่ง ก็เป็นศิลปะการสร้างสรรค์งานบันเทิงรูปแบบหนึ่งที่นิยมกันมาก (อย่างเช่นงานเขียนของกิมย้ง ที่เอาประวัติศาสตร์จีนมาผสม) ผู้เขียนคอลัมน์จะหาโอกาสนำประวัติศาสตร์จริงที่แฝงในซีรีส์ ภาพยนตร์ หรือการ์ตูน มาขยายความให้ผู้อ่านอีกในวาระต่อ ๆ ไป
เกี่ยวกับผู้เขียน
วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล เป็นคนไทยเพียงไม่กี่คนที่เคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นมาแล้วถึง 4 แห่ง โดยเคยได้รับทุนแลกเปลี่ยนระหว่างที่ว่าการจังหวัด Okinawa และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปศึกษาที่ The University of the Ryukyus รวมทั้งเคยได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่นแบบสอบผ่านสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ไปศึกษาที่ 1) Tokyo University of Foreign Studies / 2) International Christian University / และ 3) Keio University มีประสบการณ์ทำงานที่หลากหลาย เคยเป็นผู้สื่อข่าวและผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ให้บริษัท Nippon Production Service (บริษัทในเครือสถานีโทรทัศน์ NHK) / เป็นผู้สอนภาษาไทยที่สถาบันภาษาไทยหลายแห่งในโตเกียว / เป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติที่สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจและการตลาดให้บริษัท Corporate Directions Inc. ของประเทศญี่ปุ่น / เป็นผู้ก่อตั้งสาขาภาษาญี่ปุ่นธุรกิจของคณะศิลปศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ / เป็นผู้อำนวยการบริษัท AIRA Capital และเป็นทีมงานก่อตั้งบริษัท AIRA and AIFUL รวมทั้งบัตรกดเงินสด A-Money / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท TOYO Business Service / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท JECC ประเทศญี่ปุ่น / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจของบริษัท Business Consultants South East Asia / มีประสบการณ์สอนในมหาวิทยาลัยมากกว่า 10 แห่งในประเทศไทย / เป็นที่ปรึกษาและจัดฝึกอบรมให้องค์กรหลายแห่ง
ปัจจุบันมีธุรกิจเล็ก ๆ ของตัวเองคือ บริษัท Consulting Agency for Talent จำกัด ทำธุรกิจให้คำปรึกษาด้านพัฒนาองค์กรและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HROD และ HRD) / เป็นนักวิชาการอิสระ / วิทยากรอิสระ / นอกจากเขียนคอลัมน์ที่ Conomi แห่งนี้แล้ว ก็เขียนคอลัมน์ให้ธนาคารไทยพาณิชย์ / เขียนคอลัมน์ให้ The PEOPLE Online Magazine / เขียนคอลัมน์ให้ Marumura และยังคงใฝ่เรียนรู้สิ่งใหม่ต่าง ๆ อยู่เสมอแม้ว่าจะมีปริญญา 7 ใบแล้วก็ตาม
ติดตามผลงานเขียนทั้งหมดของวีรยุทธได้ที่
Facebook : รวมผลงานของวีรยุทธ – Weerayuth’s Ideas