My Hero Academia - Feature

(เผยแพร่ครั้งแรก 14 ธ.ค. 2021)​ การ์ตูนเรื่อง My Hero Academia นั้นพิมพ์ในนิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ Weekly Jump (週刊少年ジャンプ) ของญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี ค. ศ. 2014 จนปัจจุบัน และมี Anime จนถึง Season 6 แล้ว แต่เนื้อเรื่องก็ยังคงดำเนินอยู่ โด่งดังมากทั้งในญี่ปุ่นเองและในต่างประเทศ

เรื่องย่อของ My Hero Academia

My Hero Academia - Plot
วิลเลินยักษ์ที่ปรากฎตัวในตอนที่ 1 ของ Season 1

เนื้อเรื่องกล่าวถึงโลกในยุคอนาคตที่ประชากรโลกประมาณ 80% มีการกลายพันธุ์และเกิดความสามารถพิเศษต่าง ๆ ที่เรียกว่า ‘อัตลักษณ์ (個性)’ โดยอัตลักษณ์นี้สืบทอดทางพันธุกรรม เหล่าคนที่มีอัตลักษณ์จะมีทั้งหมด 3 กลุ่มคือ

  1. ประชาชนทั่วไป (คือมีอัตลักษณ์แต่ว่าไม่ได้ใช้อัตลักษณ์ไปประกอบอาชีพอะไรเป็นพิเศษ)
  2. ฮีโร่ที่ใช้อัตลักษณ์ในการปราบเหล่าร้าย
  3. เหล่าร้ายที่เรียกตัวเองว่า ‘วิลเลิน (Villain)’ ที่ใช้อัตลักษณ์ในทางที่ผิดกฎหมาย

โดยพระเอกของเรื่องคือ มิโดะริยะ อิสึคุ (緑谷出久) ผู้ใฝ่ฝันตั้งแต่เด็กว่าอยากเป็นฮีโร่ แต่เขาเองกลับไร้อัตลักษณ์โดยสิ้นเชิง เป็นประชากร 20% ที่เหลือของโลกที่ไร้ความสามารถใด ๆ ในเชิงพันธุกรรมเพราะมีร่างกายเป็นมนุษย์ยุคเก่าก่อนวิวัฒนาการ

My Hero Academia - Midoriya and All Might
“นายน่ะ ก็เป็นฮีโร่ได้นะ” ประโยคในฉากที่เปลี่ยนชีวิตมิโดะริยะโดยสิ้นเชิง

แต่ฟ้าลิขิตให้มิโดะริยะเป็นพระเอก จึงมีโอกาสได้รับถ่ายทอดอัตลักษณ์จากฮีโร่อันดับหนึ่ง ทำให้พระเอกที่ไม่เคยมีอัตลักษณ์ใด ๆ ต้องฝึกฝนเพื่อใช้อัตลักษณ์นั้นให้มีประสิทธิภาพ และเรียนรู้การใช้อัตลักษณ์เพื่อต่อสู้กับวิลเลินและนำความสงบสุขกลับคืนสู่สังคม

มองสังคมปัจจุบันที่สะท้อนออกมาในเรื่อง

My Hero Academia - Japan Society
นักเรียนห้อง 1-A เพื่อนร่วมชั้นของมิโดะริยะ

เวลาพูดถึงเรื่อง My Hero Academia คนส่วนใหญ่มักจะนำไปเปรียบเทียบกับเรื่อง X-Men ของค่าย Marvel เพราะดูเผิน ๆ แล้วมีโครงสร้างของเรื่องที่คล้ายกันมาก คือมีเหล่ามนุษย์กลายพันธุ์ที่แบ่งเป็นฝ่ายดีกับฝ่ายร้าย แล้วทั้ง 2 ฝ่ายก็ดำเนินการในรูปแบบขององค์กร และต้องต่อสู้ห้ำหั่นกัน แต่เมื่อดูปีที่ทั้ง 2 เรื่องถือกำเนิดขึ้นมาไปพร้อม ๆ กับพิจารณาบริบททางประวัติศาสตร์และสังคม จะพบว่าทั้ง 2 เรื่องมีความแตกต่างกันมาก

X-Men นั้นออกสู่ตลาดครั้งแรกในปี ค. ศ. 1963 (ภาวิน มาลัยวงศ์, 2554) ซึ่งยังเป็นยุคที่คนกลุ่มน้อยของสังคม หรือ คนชายขอบ ยังกลัวการใช้ชีวิตที่แตกต่างจากกระแสหลักของสังคม (คนกลุ่มน้อยของสังคมหรือคนชายขอบ สามารถตีความได้ทั้งคนที่รักเพศเดียวกัน ผู้อพยพต่างสัญชาติ คนที่มีรสนิยมอะไรบางอย่างแปลก ๆ เป็นต้น หมายถึงกลุ่มคนใด ๆ ที่ ‘แตกต่าง’ ออกไปจากกระแสหลักในสังคมของยุคนั้น ๆ) ตัวละครมนุษย์กลายพันธุ์ในเรื่อง X-Men จึงเป็นชนกลุ่มน้อยในสังคม ต้องพยายามใช้ชีวิตหลบ ๆ ซ่อน ๆ ไม่เผยให้ใครรู้ว่าตัวเองนั้น ‘แตกต่าง’ ออกไป มนุษย์กลายพันธุ์ใน X-Men นั้นบางคนมีความแตกต่างทางกายภาพอย่างชัดเจนที่ไม่เหมือนมนุษย์ปกติ แต่บางคนก็ดูเหมือนมนุษย์ปกติทุกอย่างเพียงแต่มีความสามารถพิเศษแฝงอยู่ อย่างไรก็ตาม สังคมในเรื่อง X-Men นั้น มนุษย์ธรรมดายังคงไม่ยอมรับและผลักไสเหล่ามนุษย์กลายพันธุ์เหล่านี้ออกไป ไม่ยอมรับมนุษย์กลายพันธุ์เหล่านี้ว่าเป็นสมาชิกของสังคม

ในขณะที่โลกของ My Hero Academia นั้นระบุไว้ชัดเจนว่า “ประชากรโลกประมาณ 80% มีการกลายพันธุ์และเกิดความสามารถพิเศษต่าง ๆ” ในเรื่องนี้ไม่ได้พูดถึงการ ‘กลายพันธุ์’ ว่าเป็นเรื่องน่ารังเกียจ แต่มองว่าเป็นพรสวรรค์หรือความสามารถพิเศษ จึงใช้คำว่า ‘อัตลักษณ์ (個性)’ แทนคำว่า ‘กลายพันธุ์’ ทำให้ในโลกของ My Hero Academia นั้น มนุษย์กลายพันธุ์หมายถึงความเท่ อัตลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร พรสวรรค์ คือหมายถึงด้านที่เป็นบวก และคนที่ไร้อัตลักษณ์กลับถูกมองเป็น ‘มนุษย์ยุคเก่า’ ไปแทน ต่างจากมนุษย์กลายพันธุ์ใน X-Men ที่ต้องอยู่อย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ ในสังคมเพราะถูกมองเป็นตัวประหลาด

ใน X-Men นั้นถึงแม้ว่าบางคนก็ดูเหมือนมนุษย์ปกติทุกอย่างเพียงแต่มีความสามารถพิเศษแฝงอยู่ ก็ยังไม่สามารถแสดงตัวได้ว่า ‘มีพรสวรรค์’ เพราะยังเป็นแนวคิดของสังคมยุคปี 1963 แต่ My Hero Academia นั้นเป็นสังคมยุคปี 2014 เป็นต้นมา ซึ่งโลกมนุษย์ยุคปัจจุบันนั้นอยากได้ความแตกต่าง ความมีอัตลักษณ์ ความมีพรสวรรค์ คือในโลกแห่งความจริงที่เรา ๆ ท่าน ๆ อาศัยอยู่นั้น ต้องการ ‘การมีตัวตนในโลก’ นั่นเอง คือประชากรส่วนใหญ่ควรจะต้องมีอัตลักษณ์ และควรเป็นอัตลักษณ์ที่เท่ ดูดี ส่วนใครที่ไม่มีอัตลักษณ์หรือมีอัตลักษณ์ที่ไม่เท่ ก็จะถูกแกล้ง โดนดูหมิ่นเหยียดหยาม ไปเสียได้

My Hero Academia - Key Point

ความน่าสนใจของเรื่อง My Hero Academia จึงชวนให้คิดตาม ว่าในสภาพที่ใคร ๆ ต่างก็มีตัวตน ใคร ๆ ต่างก็มีอัตลักษณ์ มีความโดดเด่น แต่เมื่อพระเอกที่ ‘ไร้อัตลักษณ์’ จู่ ๆ ได้รับพรสวรรค์บางอย่างมา จะเลือกทางเดินในชีวิตต่อไปอย่างไร แล้วยังมีเรื่องประเด็นขั้วตรงข้ามระหว่าง พันธุกรรมหรือชาติตระกูล VS ความพยายามพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ว่าในที่สุดแล้ว สิ่งที่ได้รับจากครอบครัวหรือสิ่งที่พัฒนาเองต่อด้วยตัวเองโดยไม่พึ่งครอบครัว สิ่งใดจะถูกต้องและนำไปสู่ความสำเร็จมากกว่ากัน?

จึงเป็นอีกเรื่องที่แนะนำให้หามาอ่านหรือชม และคิดตามในแง่มุมต่าง ๆ ตามที่แต่ละท่านจะรู้สึกนึกคิดกัน

รายการอ้างอิง

ภาวิน มาลัยวงศ์. (2554). รู้จักเควียร์ผ่านนักรบกลายพันธุ์เอ็กซ์เมน. วารสารมนุษยศาสตร์, 18(1), 1–14.

เกี่ยวกับผู้เขียน

วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล เป็นคนไทยเพียงไม่กี่คนที่เคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นมาแล้วถึง 4 แห่ง โดยเคยได้รับทุนแลกเปลี่ยนระหว่างที่ว่าการจังหวัด Okinawa และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปศึกษาที่ The University of the Ryukyus รวมทั้งเคยได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่นแบบสอบผ่านสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ไปศึกษาที่ 1) Tokyo University of Foreign Studies / 2) International Christian University / และ 3) Keio University มีประสบการณ์ทำงานที่หลากหลาย เคยเป็นผู้สื่อข่าวและผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ให้บริษัท Nippon Production Service (บริษัทในเครือสถานีโทรทัศน์ NHK) / เป็นผู้สอนภาษาไทยที่สถาบันภาษาไทยหลายแห่งในโตเกียว / เป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติที่สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจและการตลาดให้บริษัท Corporate Directions Inc. ของประเทศญี่ปุ่น / เป็นผู้ก่อตั้งสาขาภาษาญี่ปุ่นธุรกิจของคณะศิลปศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ / เป็นผู้อำนวยการบริษัท AIRA Capital และเป็นทีมงานก่อตั้งบริษัท AIRA and AIFUL รวมทั้งบัตรกดเงินสด A-Money / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท TOYO Business Service / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท JECC ประเทศญี่ปุ่น / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจของบริษัท Business Consultants South East Asia / มีประสบการณ์สอนในมหาวิทยาลัยมากกว่า 10 แห่งในประเทศไทย / เป็นที่ปรึกษาและจัดฝึกอบรมให้องค์กรหลายแห่ง

ปัจจุบันมีธุรกิจเล็ก ๆ ของตัวเองคือ บริษัท Consulting Agency for Talent จำกัด ทำธุรกิจให้คำปรึกษาด้านพัฒนาองค์กรและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HROD และ HRD) / เป็นนักวิชาการอิสระ / วิทยากรอิสระ / นอกจากเขียนคอลัมน์ที่ Conomi แห่งนี้แล้ว ก็เขียนคอลัมน์ให้ธนาคารไทยพาณิชย์ / เขียนคอลัมน์ให้ The PEOPLE Online Magazine / เขียนคอลัมน์ให้ Marumura และยังคงใฝ่เรียนรู้สิ่งใหม่ต่าง ๆ อยู่เสมอแม้ว่าจะมีปริญญา 7 ใบแล้วก็ตาม

ติดตามผลงานเขียนทั้งหมดของวีรยุทธได้ที่

Facebook : รวมผลงานของวีรยุทธ – Weerayuth’s Ideas 

Weerayuth Podsatiangool

ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมองค์กรญี่ปุ่นและวัฒนธรรมมวลชน

ไอคอน PDPA

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า