เคยพูดถึงเกี่ยวกับซีรีส์ Gundam SEED ไป 1 ครั้งในบทความ “ครบรอบ 20 ปี Gundam Seed: การเหยียดเผ่าพันธุ์และไฟสงครามก็ยังไม่เคยหมดไป” แต่วันนี้จะพูดถึง Gundam อีกซีรีส์หนึ่งที่กำลังเป็นกระแส (โดยเฉพาะหลังจากฉาก “ตบยุง” ในตอนจบของ EP. 12 ที่ทำให้ซีรีส์นี้ดำดิ่งสู่ความมืดมิดอย่างไร้ก้นบึ้ง และทำให้แฟน ๆ ลงแดงกระหายอยากดูต่อกันเป็นจำนวนมาก) คือ Mobile Suit Gundam: the Witch from Mercury หรือในชื่อไทยน่ารัก ๆ ว่า “โมบิลสูทกันดั้ม แม่มดจากดาวพุธ”
แรงจูงใจของเรื่อง The Witch from Mercury
ที่พูดถึง Gundam SEED เนื่องจากภาคแม่มดฯ นี้มีหลายองค์ประกอบคล้ายกับภาค SEED อย่างมาก มีพล็อตเกี่ยวกับการที่มนุษย์แบ่งแยกออกเป็น 2 เผ่าพันธุ์
โดยใน SEED จะเรียกเผ่ามนุษย์ปกติว่า Naturals และเรียกมนุษย์สายพันธุ์ตัดต่อพันธุกรรมว่า Coordinators ส่วนในภาคแม่มดฯ จะเรียกมนุษย์ปกติที่เกิดบนโลกว่า Earthians และเรียกมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในอวกาศว่า Spacians ซึ่งเหล่า Spacians จะมีแนวโน้มเป็นชนชั้นสูงที่มีบริษัททำธุรกิจระหว่างดวงดาวจนร่ำรวยกว่าชาว Earthians โดยเฉลี่ย ทำให้จะมีแนวโน้มที่ชาว Earthians จะโดนดูถูกเหยียดหยามจากชาว Spacians อย่างมาก ซึ่งประเด็นของการเหยียดเผ่าพันธุ์นี้ก็เด่นชัดมากเหมือนกับใน SEED นอกจากนี้ประเด็นการลดทอนความเป็นมนุษย์ (Dehumanize) ก็ชัดมากในภาคแม่มดฯ นี้ อย่างที่เราจะเห็นตัวละครหลายตัวที่ประสบกับเคราะห์กรรมบางอย่าง…
เสน่ห์ของ Gundam ภาค The Witch from Mercury
แต่ไหนแต่ไร ซีรีส์ Gundam นั้นเป็นซีรีส์สำหรับวัยรุ่นผู้ชาย เป็นข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธได้ยาก จนกระทั่งในปี 1995 จึงมี “กันดั้มบอยแบนด์” อย่างภาค Gundam Wing ขึ้นมา ซึ่งเป็นกลุ่มวัยรุ่นหนุ่ม ๆ ที่ดึงดูดแฟนคลับสาว ๆ ได้เป็นจำนวนมาก แต่ถึงอย่างไร เนื้อเรื่องของ Gundam Wing ก็ยังเป็นเนื้อเรื่องผู้ช้ายผู้ชายสไตล์กันดั้ม ๆ เช่นเคย แม้ว่าจะมีสาว ๆ สัมผัสถึงเสน่ห์ของจักรวาล Gundam กันได้บ้าง แต่ซีรีส์ Gundam ทุกภาคก็ไม่เคยเป็นเรื่องราวสำหรับผู้หญิงจริง ๆ สักครั้ง
ภาคแม่มดฯ นี้จึงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ Gundam ที่มาแนว Feminist สุดขั้ว เป็นซีรีส์ Gundam “ของผู้หญิง โดยผู้หญิง เพื่อผู้หญิง” โดยเฉพาะ เพื่อจับตลาดวัยรุ่นหญิงกันเป็นหลักเลย ตั้งแต่ตัวละครเอกที่เป็นวัยรุ่นผู้หญิงอย่าง ซูเล็ตต้า เมอร์คิวรี่ หรือแม้แต่ตัวละครใส่หน้ากากลึกลับที่ Gundam ทุกภาคต้องมี ในภาคแม่มดฯ ก็แหวกขนบโดยการเป็นตัวละครหญิงใส่หน้ากากแทน (ภาคอื่นทุก ๆ ภาค ตัวละครไอ้หน้ากากลึกลับมักเป็นผู้ชาย)
จึงมีการตั้งชื่อเป็นแนวการ์ตูนผู้หญิงคือ “แม่มดฯ” ที่มีต้นกำเนิดจากการ์ตูนแนวแม่มดหรือแนวสาวน้อยพลังจิตหลาย ๆ เรื่องนั่นเอง ที่ญี่ปุ่นจะเรียกการ์ตูนแนวนี้ว่าเป็นสาย มะโฮโชโจะมังงะ (魔法少女漫画: การ์ตูนแนวแม่มดสาวน้อยพลังจิต)
พล็อตเรื่องของ Gundam: The Witch from Mercury จึงเป็นพล็อตสายการ์ตูนโชโจะมังงะ (少女漫画: การ์ตูนสำหรับวัยรุ่นผู้หญิง) คือมีองค์ประกอบเด่น 3 อย่างดังต่อไปนี้
1) เกี่ยวกับความรัก (恋愛)
2) มีอุปสรรคหรือความขัดแย้ง (葛藤)
3) การเติบโตของตัวละครหลังจากผ่านอุปสรรคหรือความขัดแย้งนั้น (成就)
ดังจะเห็นได้ว่าตัวเอกอย่าง ซูเล็ตต้า เมอร์คิวรี่ ต้องพัวพันกับเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ พร้อมกลิ่นอายยูริ (หญิงรักหญิง) ด้วย และมีอุปสรรคแบบผู้หญิง ๆ และมีการเติบโตในสัมพันธภาพ ทุกขั้นตอนเป็นไปตามสไตล์การ์ตูนผู้หญิงแนวโชโจะมังงะเป๊ะ ๆ คือมาแบบสัมพันธภาพ งอน ง้อ จีบกัน หวานแหววตามประสาวัยรุ่นผู้หญิง นางเอกจึงมีคาแรคเตอร์เป็นแม่มดสาวสวยหวาน ผมแดง แบ๊ว ๆ โก๊ะ ๆ ตามสูตรสำเร็จการ์ตูนแนวแม่มดสาวน้อยพลังจิตหลาย ๆ เรื่อง เรียกว่าจัดเต็มทุกองค์ประกอบเพื่อดึงแฟนคลับผู้หญิงสู่จักรวาล Gundam ให้จงได้
แต่อย่าลืมว่านี่คือ Gundam Series!
Gundam ก็คือ Gundam เราย่อมจะคาดหวังความสดใส สว่างไสว เฮฮา จบลงด้วยความหวานแหวว ได้ยากมาก ๆ เพราะหัวใจหลักของซีรีส์ Gundam ทุกภาคก็คือสงคราม ความตาย ความสูญเสีย ดังนั้น ในภาคแม่มดฯ นี้แม้ว่าจะจบถึงแค่ EP. 12 และต้องรอ Season 2 จึงยังไม่มีใครเดาทางได้ว่าจะจบลงอย่างไร ที่แน่ ๆ คือใน EP. 0 ตอน Prologue กับใน EP. 12 ฉาก “ตบยุง” เป็นการตอกตะปูฝาโลงอย่างชัดเจน ว่าถึงแม้จะมีองค์ประกอบแนวการ์ตูนผู้หญิงหวาน ๆ ตั้งแต่ EP. 1 – EP. 11 เพียงใด แต่นี่ก็คือจักรวาล Gundam ย่อมจะไม่ทำให้ผู้ชมผิดหวังเรื่องปวดตับแน่นอน!!
การที่มี EP. 1 – EP. 11 มีแต่ความหวานแหวว ราวกับเป็นขนมหวานล่อคนดูให้ติดใจ แต่จริง ๆ แล้วไส้ในของเรื่องที่เปรียบเหมือนยาขม (ขมจัด ๆ ด้วย) กลับไปอยู่ที่ EP. 0 – Prologue และ EP. 12 แทน ทำให้ภาคแม่มดฯ นี้มีเสน่ห์อย่างประหลาดล้ำ ที่มีความผู้หญิงมาผสมกับบรรยากาศสงครามแบบการ์ตูนผู้ชาย ออกมาได้กลมกล่อมลงตัว และน่าติดตามอย่างมาก น่าติดตามว่าใน Season 2 น้ำตาลที่เคลือบไว้จะละลายไปหมดแล้วจัดเต็มรสขมอย่างเดียวให้ตับพังพินาศกันไปเลย หรือจะยังคอยเติมน้ำตาลหยอดให้ผู้ชมบริโภคได้ง่าย ๆ ขึ้นบ้างหรือไม่
เกี่ยวกับผู้เขียน
วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล เป็นคนไทยเพียงไม่กี่คนที่เคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นมาแล้วถึง 4 แห่ง โดยเคยได้รับทุนแลกเปลี่ยนระหว่างที่ว่าการจังหวัด Okinawa และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปศึกษาที่ The University of the Ryukyus รวมทั้งเคยได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่นแบบสอบผ่านสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ไปศึกษาที่ 1) Tokyo University of Foreign Studies / 2) International Christian University / และ 3) Keio University มีประสบการณ์ทำงานที่หลากหลาย เคยเป็นผู้สื่อข่าวและผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ให้บริษัท Nippon Production Service (บริษัทในเครือสถานีโทรทัศน์ NHK) / เป็นผู้สอนภาษาไทยที่สถาบันภาษาไทยหลายแห่งในโตเกียว / เป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติที่สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจและการตลาดให้บริษัท Corporate Directions Inc. ของประเทศญี่ปุ่น / เป็นผู้ก่อตั้งสาขาภาษาญี่ปุ่นธุรกิจของคณะศิลปศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ / เป็นผู้อำนวยการบริษัท AIRA Capital และเป็นทีมงานก่อตั้งบริษัท AIRA and AIFUL รวมทั้งบัตรกดเงินสด A-Money / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท TOYO Business Service / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท JECC ประเทศญี่ปุ่น / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจของบริษัท Business Consultants South East Asia / มีประสบการณ์สอนในมหาวิทยาลัยมากกว่า 10 แห่งในประเทศไทย / เป็นที่ปรึกษาและจัดฝึกอบรมให้องค์กรหลายแห่ง
ปัจจุบันมีธุรกิจเล็ก ๆ ของตัวเองคือ บริษัท Consulting Agency for Talent จำกัด ทำธุรกิจให้คำปรึกษาด้านพัฒนาองค์กรและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HROD และ HRD) / เป็นนักวิชาการอิสระ / วิทยากรอิสระ / นอกจากเขียนคอลัมน์ที่ Conomi แห่งนี้แล้ว ก็เขียนคอลัมน์ให้ธนาคารไทยพาณิชย์ / เขียนคอลัมน์ให้ The PEOPLE Online Magazine / เขียนคอลัมน์ให้ Marumura และยังคงใฝ่เรียนรู้สิ่งใหม่ต่าง ๆ อยู่เสมอแม้ว่าจะมีปริญญา 7 ใบแล้วก็ตาม
ติดตามผลงานเขียนทั้งหมดของวีรยุทธได้ที่
Facebook : รวมผลงานของวีรยุทธ – Weerayuth’s Ideas