Life 2007 Jdrama - Feature

(เผยแพร่ครั้งแรก 7 ก.ย. 2021) ซีรีส์ญี่ปุ่นเรื่อง Life เดิมทีเป็นการ์ตูนชื่อไทยว่า Life: ชีวิตบัดซบของอะยุมุ ฉบับรวมเล่มมีทั้งหมด 20 เล่ม เขียนโดยอาจารย์ซุเอะโนะบุ เคโกะ (すえのぶけいこ)โดยการ์ตูนเรื่องนี้ยังได้รับรางวัลโคดันฉะมังงะโช (講談社漫画賞) ประเภทการ์ตูนผู้หญิง (少女漫画) ดีเด่นในปี 2006 อีกด้วย

เรื่องย่อ “Life” ฉบับซีรีส์

Life 2007 Jdrama - Plot

ซีรีส์เปิดตัวอย่างทรงพลัง เมื่อนางเอกของเรื่อง “ชิอิบะ อะยุมุ (椎葉歩)” กำลังเดินทางไปโรงเรียนด้วยสีหน้ากังวล เมื่อเดินไปถึงหน้าตึกโรงเรียน ก็มีตัวละครลึกลับโยนทั้งโต๊ะและเก้าอี้ของอะยุมุลงมาชั้นล่างอย่างหมายเอาชีวิต โครมมมม เรียกว่าคนดูช็อกกันไปตาม ๆ กันกับฉากนี้ พร้อมคำคำพูดที่แสดงถึงการตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวของอะยุมุ

“ฉันเองก็ไม่รู้เฉลยหรอก แต่ฉันก็ตัดสินใจแล้ว ว่าจะใช้ชีวิตแบบที่ฉันเป็น และ ตัดสินใจที่จะสู้กับการกลั่นแกล้งในโรงเรียน ฉันจะไม่แพ้!

(正解は分からない。だけど私は決めたんだ。自分らしく生きることを、そして、イジメと闘うことを。私は、負けない)”

ชิอิบะ อะยุมุ, Life: ชีวิตบัดซบของอะยุมุ (2007)

ระหว่างที่อะยุมุโดนคนจำนวนมากในชั้นเรียนรุมแกล้งอย่างโหดร้ายอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ซีรีส์ก็พาเราย้อนอดีตกลับไปให้เห็นว่า อะยุมุเคยสัญญากับเพื่อนสนิทตอนมัธยมต้นไว้ว่าจะสอบเข้าโรงเรียนมัธยมปลายนิชิดะเตะ (西舘高校) ด้วยกัน แต่แล้วเพื่อนกลับสอบไม่ติดในขณะที่อะยุมุสอบติด เพื่อนโทษว่าเป็นความผิดของอะยุมุ (อิจฉานั่นแหละ) ทำให้สัมพันธภาพของทั้งสองหมางใจกันไป อะยุมุจึงกลายเป็นคนเก็บตัว เก็บกด มีอาการกรีดข้อมือตัวเองด้วย แต่แล้วในโรงเรียนมัธยมปลายนิชิดะเตะนี่เองที่อะยุมุได้พบกับมิตรภาพจากเพื่อนที่ร่าเริงสดใสอย่าง อันไซ มะนะมิ (安西愛海) โดยที่อะยุมุไม่รู้ตัวเลยว่ากำลังพาชีวิตตัวเองเข้าไปสู่วังวนแห่งการถูกรุม Bully อย่างไร้ขีดจำกัดจนบอบช้ำทั้งกายใจและเกือบเอาชีวิตไม่รอดอยู่หลายครั้ง เพราะมะนะมิคือจอมปีศาจสุดโรคจิตในคราบนางฟ้าแสนสวยนั่นเอง

ทำไมถึงแนะนำเรื่องนี้?

Life 2007 Jdrama - Bully

ปัญหาการ Bully ในโรงเรียนของญี่ปุ่นนั้นร้ายแรงมาก ซีรีส์เรื่องนี้พาทุกคนตีแผ่ปัญหา Bully แบบรอบด้านได้ดี ไม่อย่างนั้นในหลาย ๆ ครั้ง สังคมเอเชียมีแนวโน้มอาจไปรุมซ้ำเติมเหยื่ออีกรอบก็เป็นได้ เช่นโดนแกล้งก็เพราะแกมันผิดปกติเอง โดนแกล้งเพราะแกไปทำให้ใครหมั่นไส้ล่ะสิ สมน้ำหน้าแล้ว ลักษณะเดียวกับเวลาสังคมประณามเหยื่อที่โดนข่มขืนว่าอยากแต่งตัวโป๊เอง หรือ อยากไปอ่อยเขาก่อนเอง เป็นต้น ซีรีส์ได้พาไปสู่สาเหตุแห่งการ Bully หลายสาเหตุ ตั้งแต่การแข่งขันทางการศึกษาอย่างสูงของสังคมญี่ปุ่น จนพ่อแม่เห็นลูกเป็นแค่เครื่องมือเอาหน้าทางสังคมของตัวเอง การใช้ความรุนแรงในบ้านเช่นการที่พ่อซ้อมลูกอย่างทารุณ การใช้อำนาจเงินตราและเส้นสายอย่างไร้จิตสำนึกของผู้ปกครอง การเพิกเฉยต่อหน้าที่และจรรยาบรรณของครู การทำอะไรเป็นกลุ่ม ๆ ตามสไตล์สังคมแบบ Collectivism ของญี่ปุ่น ที่ทำให้การ Bully ยกระดับความรุนแรงขึ้นเป็นลักษณะของการรุมแกล้งเหยื่อกันชนิดยกทั้งชั้นเรียน หรือถึงขั้นคนทั้งโรงเรียนรุมแกล้งเหยื่อเพียงคนเดียว ในบางครั้งแม้แต่ครูก็รุมแกล้งเหยื่อด้วย เป็นต้น

สังคมไทยเองก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ทั้งการแข่งขันทางการศึกษา พ่อแม่เห็นลูกเป็นเครื่องมือไว้อวดกับสังคมมากกว่าความรักหรือเข้าใจลูก การใช้ความรุนแรงในครอบครัว การใช้เงินตราและเส้นสายอย่างไร้จิตสำนึก จรรยาบรรณครูล้มเหลว การทำอะไรตามกระแสแบบก้มหน้าก้มตาทำตามเขาไปโดยไม่ได้ไตร่ตรองด้วยจิตสำนึกของตัวเองให้ดี เหล่านี้ก็เห็นความเชื่อมโยงระหว่างสังคมไทยและสังคมญี่ปุ่นว่าไม่ได้แตกต่างกันนัก โดยเฉพาะในปัจจุบันที่โลกเรามีสื่อออนไลน์แพร่หลายมากแล้ว มีการเกิด Cyber Bullying ขึ้นอีกด้วย จึงอยากจะแนะนำเรื่องนี้ให้ผู้ชมได้ชมกัน โดยเฉพาะ เยาวชนที่กำลังประสบปัญหาตัวเองโดนรุม Bully อยู่ พ่อแม่ที่มีลูกไม่ว่าจะลูกเล็กหรือลูกวัยรุ่น ครูอาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาทุกท่าน

เกี่ยวกับผู้เขียน

วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล เป็นคนไทยเพียงไม่กี่คนที่เคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นมาแล้วถึง 4 แห่ง โดยเคยได้รับทุนแลกเปลี่ยนระหว่างที่ว่าการจังหวัด Okinawa และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปศึกษาที่ The University of the Ryukyus รวมทั้งเคยได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่นแบบสอบผ่านสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ไปศึกษาที่ 1) Tokyo University of Foreign Studies / 2) International Christian University / และ 3) Keio University มีประสบการณ์ทำงานที่หลากหลาย เคยเป็นผู้สื่อข่าวและผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ให้บริษัท Nippon Production Service (บริษัทในเครือสถานีโทรทัศน์ NHK) / เป็นผู้สอนภาษาไทยที่สถาบันภาษาไทยหลายแห่งในโตเกียว / เป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติที่สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจและการตลาดให้บริษัท Corporate Directions Inc. ของประเทศญี่ปุ่น / เป็นผู้ก่อตั้งสาขาภาษาญี่ปุ่นธุรกิจของคณะศิลปศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ / เป็นผู้อำนวยการบริษัท AIRA Capital และเป็นทีมงานก่อตั้งบริษัท AIRA and AIFUL รวมทั้งบัตรกดเงินสด A-Money / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท TOYO Business Service / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท JECC ประเทศญี่ปุ่น / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจของบริษัท Business Consultants South East Asia / มีประสบการณ์สอนในมหาวิทยาลัยมากกว่า 10 แห่งในประเทศไทย / เป็นที่ปรึกษาและจัดฝึกอบรมให้องค์กรหลายแห่ง

ปัจจุบันมีธุรกิจเล็ก ๆ ของตัวเองคือ บริษัท Consulting Agency for Talent จำกัด ทำธุรกิจให้คำปรึกษาด้านพัฒนาองค์กรและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HROD และ HRD) / เป็นนักวิชาการอิสระ / วิทยากรอิสระ / นอกจากเขียนคอลัมน์ที่ Conomi แห่งนี้แล้ว ก็เขียนคอลัมน์ให้ธนาคารไทยพาณิชย์ / เขียนคอลัมน์ให้ The PEOPLE Online Magazine / เขียนคอลัมน์ให้ Marumura และยังคงใฝ่เรียนรู้สิ่งใหม่ต่าง ๆ อยู่เสมอแม้ว่าจะมีปริญญา 7 ใบแล้วก็ตาม

ติดตามผลงานเขียนทั้งหมดของวีรยุทธได้ที่

Facebook : รวมผลงานของวีรยุทธ – Weerayuth’s Ideas 

Weerayuth Podsatiangool

ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมองค์กรญี่ปุ่นและวัฒนธรรมมวลชน

ไอคอน PDPA

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า