Mobile Suit Gundam SEED Feature

(เผยแพร่ครั้งแรก มิ.ย. 2022) หลายท่านคงคุ้นเคยกับอนิเมะตระกูล Gundam เป็นอย่างดี แต่วันนี้จะพูดถึงภาคเก่า ๆ อย่าง Mobile Suit Gundam SEED (機動戦士ガンダムSEED) ซึ่งออกอากาศตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2002 ถึงวันที่ 27 กันยายน 2003 และครบรอบ 20 ปี ไปแล้วในปี 2022

พล็อตหลักของกันดั้มทุกภาคคือ “สงคราม” (แม้จะแฝงเจตนาคือการขายของเล่นให้ได้มากที่สุดก็ตาม แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นหลักในเนื้อเรื่องของภาคนี้) โดยในภาค Gundam SEED นี้จะเด่นที่สุดในเรื่องของ “การเหยียดเผ่าพันธุ์” ซึ่งตลอดทั้งเรื่องจะแสดงให้เห็นความเกลียดชังระหว่างเผ่าพันธุ์ที่มีต่อกันอย่างมาก ระดับที่สามารถ “ลดทอนความเป็นมนุษย์ (Dehumanize)” ของอีกฝ่ายได้อย่างเลือดเย็น สามารถสังหารโหดอีกฝ่ายชนิดที่ตายเป็นเบือโดยปราศจากความรู้สึกผิด เพราะอีกฝ่าย “ไม่ใช่มนุษย์” อยู่แล้วตามการรับรู้ของ 2 ฝ่ายที่เป็นปรปักษ์กัน

แรงจูงใจของเรื่อง Gundam SEED

Mobile Suit Gundam SEED Plot

เนื่องจาก Gundam SEED จัดเป็นซีรีส์กันดั้มภาคแรกสุดของศตวรรษใหม่ (ศตวรรษที่ 21) ทางผู้สร้างจึงต้องการทั้ง “กลับไปสู่ต้นกำเนิดกันดั้ม” แต่ก็ “แสวงหาพล็อตแนวใหม่” ไปพร้อม ๆ กัน

ในด้าน “กลับไปสู่ต้นกำเนิดกันดั้ม” จะเห็นได้ว่ามีการใช้พล็อตของยุคเก่า (จักรวาล UC ของกันดั้มภาคเก่า ๆ หลายภาค) ไว้มากมาย ทั้งพล็อตขโมยหุ่นยนต์ หรือ พล็อตให้ตัวละครหญิงขับหุ่นยักษ์ทำลายเมือง รวมทั้งพล็อตนิวไทป์ (ซึ่งในภาคนี้จะไม่เรียกว่านิวไทป์ แต่เรียกว่า SEED Mode) ฯลฯ ทำให้ผู้ชมยุคเก่าหลายท่านรู้สึกคุ้นเคย และพล็อตเหล่านี้ก็เป็นพล็อตที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วในอดีตจึงค่อนข้างจะรับประกันว่ายังไงก็ไม่เจ๊ง จึงมีการใช้พล็อตของ UC มากมายมาใช้ในภาค Gundam SEED นี้

อีกด้านหนึ่งคือ “แสวงหาพล็อตแนวใหม่” เนื่องจากโลกแห่งความจริงในตอนนั้น กระแสทั่วโลกกำลังจับตามองประเด็นทางพันธุกรรมอย่างมาก ทั้งเรื่องพืชตัดต่อพันธุกรรม รวมทั้งมนุษย์ตัดต่อพันธุกรรม จึงมีการตั้งคำถามด้านจริยธรรมกับเทคโนโลยีพันธุกรรมดังกล่าวอย่างมาก

Gundam SEED จึงกล่าวถึงการห้ำหั่นระหว่างมนุษย์ธรรมดาสายพันธุ์เดิมอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ที่เรียกว่า Naturals และมนุษย์สายพันธุ์ใหม่ที่เกิดจากการตัดต่อพันธุกรรมที่เรียกว่า Coordinators เริ่มตั้งแต่ชาว Coordinators นั้นจะมีสมรรถนะต่าง ๆ โดยเฉลี่ยสูงกว่า Naturals เป็นส่วนใหญ่ (ไม่ทุกคน แต่โดยเฉลี่ยส่วนใหญ่จะเหนือกว่า Naturals) เช่น พวก Coordinators จะไม่ป่วยเป็นโรคอะไรที่ทำให้ต้องถึงแก่ชีวิตอย่างโรคมะเร็ง รวมทั้งมีร่างกายแข็งแรงกว่า และมีสติปัญญาที่ดีกว่า ในขณะที่ Naturals เริ่มประสบภาวะหวาดกลัวเพราะถูก Coordinators แย่งงานหรือแย่งโอกาสทางสังคมไปในหลายรูปแบบ ทำให้พัฒนาความเกลียดชังว่า Coordinators นั้น “ไม่ใช่มนุษย์”

ส่วนพวก Coordinators จำนวนมากก็เริ่มดูถูกพวก Naturals ว่าเป็น “พวกยุคเก่าที่ควรสูญพันธุ์” เพราะเป็นเผ่าที่ด้อยกว่าพวกเรา “พวกเรา” เหนือกว่า “พวกมัน” ทำให้มนุษย์ทั้ง 2 เผ่าพันธุ์เริ่มเกิดความขัดแย้งกัน และนำไปสู่อาชญากรรมหลายรูปแบบที่เกิดจากความเกลียดชัง (Hate Crimes) และในที่สุด ก็พัฒนาสเกลของความเกลียดชังระหว่างกันและกันไปสู่สงครามอวกาศเต็มรูปแบบในที่สุด

ความน่าสนใจของ Gundam SEED

Mobile Suit Gundam SEED Take Aways

ปมของสงครามใน Gundam SEED คือแนวคิดว่า “ไม่ใช่พวกเรา ก็ต้องเป็นพวกมัน” แบบ Binary Division แบ่งฝักฝ่ายทุกอย่างเป็นเพียง 2 ฝ่าย ถ้าเป็น Naturals ก็ต้องไม่อยู่ร่วมโลกกับ Coordinators อะไรทำนองนี้

การแก้ปัญหาความขัดแย้งจึงต้องอาศัยแนวคิดที่ 3 ซึ่งในเนื้อเรื่องก็จะเห็นว่าต้องเป็นชาว Naturals ที่เคยรู้จักหรือใช้วันเวลาร่วมกับชาว Coordinators หรือ ต้องเป็นชาว Coordinators ที่เคยรู้จักหรือมีมิตรภาพอันดีกับชาว Naturals ที่จะเป็นฝ่ายสร้างความเข้าอกเข้าใจระหว่างกันและกันให้มาก

เพราะในเรื่องจะทำให้เห็นว่าทั้งฝ่าย Naturals และ Coordinators ต่างก็รับรู้ว่าอีกฝ่ายเป็น “ปีศาจร้ายกระหายเลือด” ที่ฆ่าคนของเผ่าพันธุ์ตัวเองไปอย่างมาก เพราะสงครามดำเนินมาเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว ทั้ง 2 ฝ่ายล้วนพุ่งเข้าสมรภูมิเพื่อฆ่าคนที่ตัวเองไม่รู้จัก ด้วยสาเหตุที่ทุกคนก็ลืมไปหมดแล้ว รู้ตัวอีกทีก็รู้แต่ว่าต้องฆ่า ๆ ๆ พวกมันเท่านั้น

ผู้ที่จะหยุดสงครามนี้ได้ จึงต้องเป็น Kira Yamato ผู้ซึ่งมีมิตรสหายอยู่ทั้งในกลุ่ม Naturals และในกลุ่ม Coordinators รวมทั้งตัวละครหลักอื่น ๆ อีกมากมายที่ต้องมาร่วมชะตากรรมกับ Kira ในการหยุดสงครามนองเลือดไม่รู้จักจบสิ้นนี้ และก้าวข้ามแนวคิด “Either…or (ไม่ใช่พวกเรา ก็ต้องเป็นพวกมัน)” ไปสู่แนวคิดที่สร้างทางเลือกที่ 3, 4, 5 ได้ ไม่จำเป็นต้องแบ่งทุกอย่างให้เหลือแค่ 2 ฝ่าย แต่สามารถสร้างความเข้าอกเข้าใจระหว่างกันและกัน และอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้กว่าที่เคยเป็นมา

กล่าวโดยสรุป

Gundam SEED เป็นอนิเมะน้ำดีที่มีครบรสชาติ ภาพสวย บทดี ดราม่าจัดเต็ม หุ่นยนต์เท่ ฉากเท่ ๆ มากมาย เพลงเพราะมาก มีตัวละครมากมายให้เอาใจช่วย (แม้ว่าบางครั้งตัวละครที่เราเอาใจช่วยจะโดนผู้ผลิตฆ่าทิ้งอย่างเลือดเย็นก็ตาม) เรียกว่าได้เสพทั้งความประเทืองปัญญาและประเทืองอารมณ์ ไปพร้อม ๆ กัน แม้ว่าใครจะเคยดูแล้ว พอเวลาผ่านไป 20 ปีก็แนะนำให้ลองหามาดูกันอีกครั้ง ส่วนใหญ่ไม่เคยดูก็แนะนำอย่างมากให้ลองหามาชมกัน โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่โลกทั้งโลกเชื่อมต่อกันหมดแล้วแบบนี้ การมานั่งแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แล้วตามจงเกลียดจงชัง หรือไล่ฆ่ากันแบบไม่ใช้เหตุและผล มันน่าจะเป็นแนวคิดที่ล้าหลังไปมากแล้ว แม้ว่าเรื่องนี้จะเก่า 20 ปีแต่พล็อตของเรื่องจึงไม่เคยเก่าเลย

เกี่ยวกับผู้เขียน

วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล เป็นคนไทยเพียงไม่กี่คนที่เคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นมาแล้วถึง 4 แห่ง โดยเคยได้รับทุนแลกเปลี่ยนระหว่างที่ว่าการจังหวัด Okinawa และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปศึกษาที่ The University of the Ryukyus รวมทั้งเคยได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่นแบบสอบผ่านสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ไปศึกษาที่ 1) Tokyo University of Foreign Studies / 2) International Christian University / และ 3) Keio University มีประสบการณ์ทำงานที่หลากหลาย เคยเป็นผู้สื่อข่าวและผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ให้บริษัท Nippon Production Service (บริษัทในเครือสถานีโทรทัศน์ NHK) / เป็นผู้สอนภาษาไทยที่สถาบันภาษาไทยหลายแห่งในโตเกียว / เป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติที่สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจและการตลาดให้บริษัท Corporate Directions Inc. ของประเทศญี่ปุ่น / เป็นผู้ก่อตั้งสาขาภาษาญี่ปุ่นธุรกิจของคณะศิลปศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ / เป็นผู้อำนวยการบริษัท AIRA Capital และเป็นทีมงานก่อตั้งบริษัท AIRA and AIFUL รวมทั้งบัตรกดเงินสด A-Money / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท TOYO Business Service / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท JECC ประเทศญี่ปุ่น / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจของบริษัท Business Consultants South East Asia / มีประสบการณ์สอนในมหาวิทยาลัยมากกว่า 10 แห่งในประเทศไทย / เป็นที่ปรึกษาและจัดฝึกอบรมให้องค์กรหลายแห่ง

ปัจจุบันมีธุรกิจเล็ก ๆ ของตัวเองคือ บริษัท Consulting Agency for Talent จำกัด ทำธุรกิจให้คำปรึกษาด้านพัฒนาองค์กรและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HROD และ HRD) / เป็นนักวิชาการอิสระ / วิทยากรอิสระ / นอกจากเขียนคอลัมน์ที่ Conomi แห่งนี้แล้ว ก็เขียนคอลัมน์ให้ธนาคารไทยพาณิชย์ / เขียนคอลัมน์ให้ The PEOPLE Online Magazine / เขียนคอลัมน์ให้ Marumura และยังคงใฝ่เรียนรู้สิ่งใหม่ต่าง ๆ อยู่เสมอแม้ว่าจะมีปริญญา 7 ใบแล้วก็ตาม

ติดตามผลงานเขียนทั้งหมดของวีรยุทธได้ที่

Facebook : รวมผลงานของวีรยุทธ – Weerayuth’s Ideas 

Weerayuth Podsatiangool

ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมองค์กรญี่ปุ่นและวัฒนธรรมมวลชน

ไอคอน PDPA

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า