เราได้รู้จัก Studio Ghibli ในฐานะบริษัทผลิตภาพยนตร์อนิเมชั่นคุณภาพสูงและทรงคุณค่าจากบทความ ตอนจุดกำเนิดของ Studio Ghibli และได้เห็นความสำเร็จในการสร้างสถิติมากมายภายทั้งภายในและนอกประเทศในบทความ ตอนยุคทองของ Studio Ghibli ทว่าทุกสิ่งมีขึ้นก็ต้องมีลง ในบทความตอนนี้เราจะมาเล่าถึงว่าหลังจากประสบความสำเร็จมาได้อีกขั้นหนึ่งแล้ว Studio Ghibli เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรในการดำเนินกิจการบ้าง มาติดตามต่อกันเลยค่ะ
“ปราสาทเวทมนตร์ของฮาวล์” กับการทดลองทำสิ่งใหม่
ภาพจากผลงานเรื่อง ปราสาทเวทมนตร์ของฮาวล์ (Howl’s Moving Castle)
อนิเมชั่นสุดฮิตขวัญใจแฟน ๆ ที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้กับเรื่อง “ปราสาทเวทมนตร์ของฮาวล์ (Howl’s Moving Castle)” ที่เปิดตัวในปี ค.ศ.2004 และสร้างประวัติศาสตร์จำนวนรอบฉายสูงที่สุดของภาพยนตร์ญี่ปุ่น หลังจากออกฉายได้เพียง 6 เดือนก็แซงหน้าผลงานก่อนหน้าเรื่อง เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพร (Princess Mononoke) ได้สำเร็จทั้งในเรื่องของรายได้และ Box Office จนกลายเป็นภาพยนตร์ยอดนิยมที่ขึ้นเป็นอันดับ 2 รองจากเรื่อง มิติวิญญาณมหัศจรรย์ (Spirited Away) ทำให้ภาพยนตร์ 3 อันดับแรกแห่งประวัติศาสตร์ Box Office ของญี่ปุ่นล้วนเป็นภาพยนตร์จาก Studio Ghibli ที่กำกับโดยคุณมิยาซากิทั้งหมด ด้วยสถิตินี้บอกเลยว่า Ghibli เองรู้สึกลังเลมากกว่ายินดีเสียด้วยซ้ำไป
อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ Ghibli เลือกใช้ในการโปรโมท ปราสาทเวทมนตร์ของฮาวล์ นั้นมีความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากเล็งเห็นว่าการประโคมโฆษณาในสื่อโทรทัศน์หรืออื่น ๆ มากเกินไป ซึ่งนั่นอาจทำให้ผู้ชมรู้สึกว่าได้เคยเห็นมาหมดแล้ว ก็จะไม่รู้สึกตื่นเต้นและเลือกที่จะไม่เข้าไปดูหนังเรื่องนั้นในโรงภาพยนตร์ ดังนั้น Ghibli จึงหยุดแคมเปญทุกอย่าง ไม่ออกตัวอย่างลงจอโทรทัศน์และไม่แม้แต่จะเปิดเผยข้อมูลใด ๆ ถึงภาพยนตร์เรื่องล่าสุดที่จะอออกฉาย จากนั้นจะเน้นการโฆษณาเฉพาะ 1 เดือนก่อนออกฉายเท่านั้น ซึ่งหากดูจากผลลัพธ์แล้วเรียกได้ว่านโยบายนี้ประสบความสำเร็จแบบสุด ๆ
ภาพจากผลงานเรื่อง ปราสาทเวทมนตร์ของฮาวล์ (Howl’s Moving Castle)
ยิ่งไปกว่านั้นปราสาทเวทมนตร์ของฮาวล์ยังถูกส่งชื่อเข้าชิงในงาน เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส (Venice International Film Festival) ครั้งที่ 61 และสามารถคว้ารางวัล “Osella Awards” มาได้ก่อนที่ตัวภาพยนตร์จะเข้าฉายที่ญี่ปุ่นด้วยซ้ำ ซึ่งรางวัลนี้เป็นรางวัลที่ที่มอบให้กับภาพยนตร์ที่มีความยอดเยี่ยมในหลาย ๆ ด้านทั้งการกำกับ, การเขียนบทและเทคนิคต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งการคว้ารางวัลนี้มาได้นั้นเป็นการช่วยโปรโมทภาพยนตร์ล่วงหน้าได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้คุณมิยาซากิยังได้รับราลวัล “Golden Lion for Lifetime Achievement” จากการสร้างผลงานคุณภาพมาอย่างยาวนานอีกด้วย
การเดบิวต์ของผู้กำกับ “มิยาซากิ โกโระ”
ภาพจากผลงานเรื่อง ศึกเทพมังกรพิภพสมุทร (Tales from Earthsea)
Ghibli ได้เริ่มเปิดโอกาสให้ผู้กำกับหน้าใหม่คนอื่นที่เคยมีส่วนร่วมในการสร้างภาพยนตร์ด้วยกันให้ขึ้นมามีบทบาทมากขึ้น ส่วนคุณมิยาซากิและคุณทาคาฮาตะทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้างแทน และหนึ่งในกลุ่มผู้กำกับหน้าใหม่ที่ถูกเลือกให้เข้ามามีบทบาทในช่วงนั้นคือ “มิยาซากิ โกโระ” ซึ่งเป็นลูกชายคนโตของคุณมิยาซากิ ฮายาโอะนั่นเอง ในตอนนั้น Studio Ghibli ได้แยกตัวออกจาก Tokuma Shoten และโปรดิวเซอร์ซูซูกิที่เคยเป็นกรรมการผู้จัดการของ Tokuma Shoten ได้ขึ้นดำรงตำแหน่ง President & Representative Director ของ Studio Ghibli ซึ่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใหม่ครั้งนี้ทำให้แฟน ๆ ต่างตั้งตารอผลงานจาก Ghibli อย่างใจจดใจจ่อ และแล้ว Ghibli ก็ได้เลือกสร้าง ”Gedo Senki” หรือ “ศึกเทพมังกรพิภพสมุทร (Tales from Earthsea)” ที่กำกับโดยคุณมิยาซากิ โกโระ
การสร้างผลงานดังกล่าวนั้นกลายเป็นอีกหนึ่งความท้าทายครั้งยิ่งใหญ่สำหรับ Ghibli เลยทีเดียว เพราะเป็นครั้งแรกที่มีการคัดเลือกผลงานที่ไม่ใช่ Original work ของคุณมิยาซากิหรือคุณทาคาฮาตะ และการมอบหมายหน้าที่ผู้กำกับให้กับคุณมิยาซากิ โกโระ ลูกชายของคุณมิยาซากิ ฮายาโอะที่ไม่เคยทำงานเกี่ยวข้องกับทาง Ghibli มาก่อนเลยนั้น สร้างความประหลาดใจได้มากเลยทีเดียว แม้จะมีข้อกังขาอยู่บ้างแต่คุณมิยาซากิ โกโระก็แสดงศักยภาพที่ซ่อนเร้นอยู่ออกมาได้อย่างดี ทั้งความสามารถด้านการเป็นผู้นำของโปรเจค, การทำสตอรี่บอร์ด, การวาง Layout ต่าง ๆ ทำให้การทำงานนั้นเป็นไปได้อย่างราบรื่นและเสร็จสมบูรณ์ได้ภายในระยะเวลาเพียง 10 เดือนเท่านั้น หลังจากนั้น Gedo Senki ก็ออกฉายในปีค.ศ. 2006 พร้อมทั้งยังขึ้นอันดับ 1 Box Office ของปีนั้น และสร้างสถิติใหม่ของ Box Office ในฐานะผู้กำกับหน้าใหม่ได้อีกด้วย
ภาพจากผลงานเรื่อง อาริเอตี้ มหัศจรรย์ความลับคนตัวจิ๋ว (The Borrower Arrietty)
หลังจากนั้น Ghibli ก็ให้ผู้กำกับรุ่นเยาว์ที่ยังไม่ค่อยมีประสบการณ์ได้เข้ามามีบทบาทในฐานะผู้กำกับมากขึ้น อาทิเช่น “อาริเอตี้ มหัศจรรย์ความลับคนตัวจิ๋ว (The Borrower Arrietty)” หรือ “ป๊อปปี้ ฮิลล์ ร่ำร้องขอปาฏิหาริย์ (From Up on Poppy Hill)” ซึ่งล้วนได้รับผลตอบรับดีและสามารถขึ้นเป็นอันดับ 1 Box Office ในปีที่ออกฉายด้วย
อุปสรรคครั้งยิ่งใหญ่ที่ Ghibli ต้องเผชิญ
ภาพจากผลงานเรื่อง ป๊อปปี้ ฮิลล์ ร่ำร้องขอปาฏิหาริย์ (From Up on Poppy Hill)
เมื่อญี่ปุ่นเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นทั้งแผ่นดินไหวครั้งใหญ่และสึนามิเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 2012 ส่งผลให้ญี่ปุ่นตกอยู่ในความโกลาหล สถานที่ผลิตภาพยนตร์ถูกระงับเป็นการชั่วคราว แม้จะอยู่ท่ามกลางวิกฤติแต่ Studio Ghibli ยังคงเลือกที่จะดำเนินการสร้าง ป๊อปปี้ ฮิลล์ ร่ำร้องขอปาฏิหาริย์ ต่ออย่างกล้าหาญ โดยยึดมั่นในคติที่ว่า “สิ่งที่ต้องทำคือการผลิตภาพยนตร์ และเราต้องไม่ทิ้งสตูดิโอ” และด้วยแรงสนับสนุนของทีมสร้างทุกคนที่สู้กันเต็มที่ ทำให้สามารถสร้างอีกหนึ่งภาพยนตร์แอนิเมชั่นคุณภาพเยี่ยมขึ้นมาสำเร็จได้ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่สู้ดีในขณะนั้น และขึ้นเป็นอันดับ 1 ใน Box Office ของปีนั้นด้วย
การปล่อยผลงานของสองผู้กำกับพร้อมกันอีกครั้ง
ภาพจากผลงานเรื่อง ปีกแห่งฝัน วันแห่งรัก (The Wind Rises)
และแล้วในปี ค.ศ.2013 สองผู้กำกับก็ได้ทำการสร้างภาพยนตร์อนิเมชั่น 2 เรื่องในช่วงเวลาเดียวกันอีกครั้ง โดยครั้งนี้ตั้งใจให้ออกฉายพร้อมกันเลยด้วย ซึ่งได้แก่ “ปีกแห่งฝัน วันแห่งรัก (The Wind Rises)” กำกับโดยคุณมิยาซากิ และ “เจ้าหญิงกระบอกไม้ไผ่ (The Tale of the Princess Kaguya)” ที่เป็นผลงานกำกับในรอบ 14 ปีของคุณทาคาฮาตะ แต่เนื่องจากความล่าช้าในกระบวนการสร้างทำให้ “เจ้าหญิงกระบอกไม้ไผ่” ถูกเลื่อนกำหนดฉายออกไป 4 เดือน
”ปีกแห่งฝัน วันแห่งรัก’‘ เป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดในปีนั้น และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งที่ 86 โดยมีคู่แข่งอย่าง “Frozen” ที่ได้รับความนิยมเป็นพลุแตก
ภาพจากผลงานเรื่อง เจ้าหญิงกระบอกไม้ไผ่ (The Tale of the Princess Kaguya)
และเมื่อ “เจ้าหญิงกระบอกไม้ไผ่” ออกฉายก็ยังสามารถทำรายได้ Box Office ในประเทศไปได้มากถึง 2.5 พันล้านเยน นอกจากนี้การนำเสนอและศิลปะของภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้รับความชื่นชมอย่างสูง และยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งที่ 87 อีกด้วย
การประกาศวางมือของมิยาซากิ ฮายาโอะ
ก่อนที่ภาพยนตร์ ปีกแห่งฝัน วันแห่งรัก จะออกฉายคุณมิยาซากิได้จัดงานแถลงข่าวเพื่อประกาศการเกษียณอายุตนเองและลาออกจากวงการผลิตภาพยนตร์ ทั้งนักข่าวและแฟน ๆ ต่างพากันช็อคกับการประกาศวางมือในครั้งนี้เป็นอย่างมาก
ปี ค.ศ 2014 เขาได้เข้าไปมีบทบาทในการสร้างและวาดภาพในงานนิทรรศการพิเศษที่ Ghibli Museum ในชื่องานว่า “Ghibli Museum Original Walnut Wari Doll And Mouse King Exhibition” และปลายปีนั้นก็ได้เดินทางไปอเมริกาเพื่อรับรางวัล “Academy Honorary Award” ซึ่งเป็นสาขารางวัลแห่งเกียรติยศ ซึ่งเป็นรางวัลออสการ์ที่มอบให้กับผู้ที่สร้างผลงานในวงการภาพยนตร์เป็นระยะเวลานานตลอดชีวิตของบุคคลนั้นค่ะ ซึ่งนับว่าเป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่และน่าภาคภูมิเป็นอย่างมาก ซึ่งหลังจากนั้นคุณมิยาซากิก็ได้ค่อย ๆ กลับเข้ามามีบทบาทใน Ghibli อีกเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
คุณมิยาซากิ ฮายาโอะกล่าวขอบคุณหลังรับรางวัล Academy Honorary Award 2014
Ghibli ในยุคสมัยใหม่และการประกาศหยุดกิจการ
ภาพจากผลงานเรื่อง ฝันของฉันต้องมีเธอ (When Marnie Was There)
อีกหนึ่งผลงานที่โด่งดังเรื่องถัดมาของ Studio Ghibli คือ “ฝันของฉันต้องมีเธอ When Marnie Was There” ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ไม่มีชื่อของคุณมิยาซากิในเครดิตภาพยนตร์ และยังได้ผู้กำกับหน้าใหม่ที่เคยฝากผลงานกำกับเอาไว้ในเรื่อง อาริเอตี้ มหัศจรรย์ความลับคนตัวจิ๋ว มากำกับให้ และยังเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งที่ 88 ทำให้ Studio Ghibli มีผลงานที่ถูกเข้าชิงต่อเนื่อง 3 ปีซ้อน ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งประวัติศาสตร์ความสำเร็จของ Studio Ghibli เลยทีเดียว
สิงหาคมปีค.ศ 2014 ก็เกิดข่าวที่แฟน ๆ ต้องช็อคอีกครั้ง เมื่อโปรดิวเซอร์ซูซูกิประกาศเรื่องการ “ระงับการผลิตภาพยนตร์ของ Ghibli” ทำให้ตอนนั้น Studio Ghibli ต้องยุบฝ่ายผลิต พนักงานต่างแยกตัวกันไป การบริหารจัดการของ Ghibli ในตอนนั้นจึงกลายเป็นการบริหารพิพิธภัณฑ์และกลุ่มสินค้าลิขสิทธิ์ต่าง ๆ เป็นหลักแทน ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงที่เกิดคำถามมากมายถึงอนาคตของ Studio Ghibli ที่อาจมาถึงทางตัน ทั้งเรื่องของการบริหารจัดการต่าง ๆ รวมถึงเรื่องผู้สืบทอด ทำให้เกิดการตัดสินใจระงับกิจกรรมของ Studio Ghibli เป็นการชั่วคราวอาจเป็นทางออกสำหรับคำถามเหล่านั้นก็เป็นได้
หลังจากที่ Ghibli ตัดสินใจหวนคืนวงการ เดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 2017 โปรดิวเซอร์ซูซูกิจึงประกาศว่า “Studio Ghibli จะทำการการคัดเลือกพนักงานใหม่สำหรับการสร้างภาพยนตร์เรื่องยาว” ซึ่งขณะนั้นก็เป็นที่จับตามองว่าคุณมิยาซากิ ฮายาโอะอาจวางแผนที่จะประกาศวางมือจาก Studio Ghibli อีกก็ได้
พฤษภาคม ปีค.ศ. 2017 Studio Ghibli เปิดรับสมัครพนักงานใหม่จากทั่วโลกลง Official Website อย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งการตัดสินใจถอนตัวออกจากการเกษียณอายุของคุณมิยาซากิ ซึ่งเขาให้เหตุผลว่า “ผมได้ค้นพบผลงานที่ควรค่าต่อการสร้างภาพยนตร์แล้ว”
แม้ปัจจุบันคุณมิยาซากิ โกโระจะปฏิเสธการรับช่วงกิจการต่อจากพ่อของเขา ทำให้ Studio Ghibli ต้องประกาศขายหุ้นกว่าครึ่งให้กับ Nippon TV ไป และทำให้ไร้ผู้สืบทอดก็ตาม แต่ทาง Nippon TV เองก็ให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนกิจการของ Ghibli โดยมอบอิสระในการทำงานกับอย่างเต็มที่เพื่อให้คงความเป็นเอกลักษณ์ของ Studio Ghibli เอาไว้ต่อไป
ภาพจากผลงานเรื่องโปเนียว ธิดาสมุทรผจญภัย (ponyo on the cliff by the sea)
ตลอดระยะเวลาเกือบ 40 ปีที่ผ่านมาทำให้เข้าใจดีเลยว่า Studio Ghibli นั้นมีอิทธิพลที่ช่วยขับเคลื่อนวงการภาพยนตร์อนิเมชั่นของญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก แม้จะมีชื่อเสียงและถูกยกย่องในระดับสูงของวงการ แต่ Studio Ghibli ก็ยังคงถือคติเดิมว่า “เรามีความมุ่งมั่นที่จะสร้างภาพยนต์อนิเมชั่นคุณภาพเยี่ยมให้แก่เหล่าเด็ก ๆ ต่อไป” จึงไม่แปลกใจเลยที่ Studio Ghibli จะถูกมองว่าเป็น Role Model ของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จทั้งในด้านการวางกลยุทธ์การบริหารงานและความสามารถในการผลิตภาพนตร์จนกลายเป็นที่ยอมรับจากผู้คนทั่วโลก แม้จะพบกับคลื่นอุปสรรคมาแล้วมากมายแต่ Studio Ghibli ที่ก้าวสู่ยุคใหม่ตอนนี้ก็พร้อมที่จะเผชิญความท้าทายใหม่อีกครั้ง และจะยังคงยึดมั่นในคติที่มุ่งเน้นการสร้างภาพยนตร์อนิเมชั่นคุณภาพเยี่ยมให้เข้าถึงผู้ชมทุกช่วงวัยเพื่อ “พัดพาโลกอนิเมชั่นของญี่ปุ่นออกไปโลดแล่นและเป็นที่รู้จักในระดับโลก” เฉกเช่นลมร้อนที่พัดผ่านทะเลทรายซาฮาราที่สมกับชื่อ “Ghibli” ต่อไปอีกนานแสนนานแน่นอน
สรุปเนื้อหาจาก : ghibli.jp , gigazine.net