ใครที่เป็นคออนิเมะ เราจะสังเกตได้ว่าในเรื่องมักมีตัวเอกที่เป็นนักเรียนวัยมัธยมปลายอยู่เยอะพอสมควร เหตุผลเบื้องลึกเบื้องหลังคืออะไร ? หรือการตั้งเซตติ้งในเรื่องให้เป็นโรงเรียนมัธยมปลายอาจเป็นการตลาดที่น่าจะประสบความสำเร็จในเชิงธุรกิจมากกว่าหรือเปล่า ? ลองไปดูการวิเคราะห์ที่น่าสนใจกันค่ะ
แม้ว่าในปัจจุบันแนวทางของอนิเมะจะเปลี่ยนไปเป็นแนวแฟนตาซีมากขึ้น แต่ชุดเครื่องแบบของตัวละครบางส่วนก็ยังออกแนวนักเรียนมัธยมปลาย หรือไม่ก็เป็นตัวละครวัยรุ่นชายหญิง ถ้าหากในเรื่องเซ็ตติ้งเป็นโลกจริง สถานที่ก็มักจะเป็นโรงเรียนมัธยมปลาย จึงอาจกล่าวได้ว่าตัวเอกส่วนใหญ่มักจะอยู่ในช่วงวัยรุ่น
สถิติการสำรวจกลุ่มเป้าหมายคนดูอนิเมะ
หากดูจากสถิติการสำรวจตัวเอกในอนิเมะ โดยมีกลุ่มตัวอย่างคืออนิเมะจำนวน 356 เรื่องที่สุ่มมาจากจำนวน 3,738 เรื่องที่ออกอากาศในเดือนมกราคม 1970 จนถึงเมษายน 2017 จะพบว่าในอนิเมะจำนวน 159 เรื่อง (44.7%) เป็นเรื่องเกี่ยวกับนักเรียน จึงอาจบ่งบอกได้ว่าทำไมตัวเอกในอนิเมะส่วนใหญ่ต้องเป็นวัยนักเรียน
ในจำนวนนักเรียนด้วยกันนั้นเป็นนักเรียนมัธยมปลายถึง 80 เรื่อง ซึ่งคิดเป็น 50% รองลงมาคือนักเรียนประถม 20% นักเรียนแต่ไม่ทราบชั้นปี 15% และนักเรียนมัธยมต้น 12% ส่วนนักศึกษามหาวิทยาลัยมีเพียงแค่ 3% เรียกว่าแทบจะไม่ถูกใช้เป็นตัวเอกในอนิเมะเลย (สถิตินี้มาจากอนิเมะในช่วงปี 1970-2017 ซึ่งในปัจจุบันแนวโน้มอาจมีการเปลี่ยนแปลง)
ในส่วนของเรื่องที่ตัวเอกเป็นผู้ใหญ่วัยทำงาน มีจำนวนทั้งหมด 100 เรื่อง (28.1%) ซึ่งน่าสนใจว่าไม่ได้มีเพียงพนักงานซาลารี่แมนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอาชีพอื่น ๆ ด้วยเช่น ทหาร บอดี้การ์ด ผู้อำนวยการ ประธาน CEO และอีกมากมาย
เหตุผลและข้อดีของการเป็นเด็กมัธยมปลาย
อย่างที่กล่าวไปเรื่องของกลุ่มผู้ชมอนิเมะ การที่ให้ตัวเอกเป็นเด็กวัยรุ่นนั้น เพราะต้องคำนึงถึง ผู้ชมอนิเมะตอนดึก กล่าวคือ โดยส่วนใหญ่อนิเมะสำหรับเด็กที่มีผู้ชมที่เป็นเด็กเล็กก็มักจะให้ตัวเอกเป็นนักเรียนประถม อนิเมะช่วงดึกที่มีผู้ชมเป็นวัย 10-20 ปี จึงมักให้ตัวเอกเป็นนักเรียนมัธยมปลายเช่นกัน เพราะการให้ตัวละครมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับผู้ชมช่วยกระตุ้นความสนใจและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ส่วนตัวเอกในวัยนักเรียนมัธยมต้นและนักศึกษามหาวิทยาลัยนั้นมีจำนวนน้อยกว่าเพราะคนกลุ่มนี้ไม่ค่อยดูอนิเมะสักเท่าไร
นอกจากปัจจัยเกี่ยวกับผู้ชมแล้ว การที่ตัวเอกเป็นนักเรียนมัธยมปลายก็มีข้อดีอยู่หลายข้อ เช่น
- เป็นวัยที่ยังไม่ใช่ผู้ใหญ่เต็มตัว ทำให้ตัวละครมีเส้นแบ่งระหว่างความเป็นเด็กและความเป็นผู้ใหญ่อยู่ ผู้ชมสามารถเห็นการเติบโต ติดตาม และเอาใจช่วยตัวละครได้
- เป็นวัยที่มีความเฟรชชี่ สดใส มีความรู้สึกตื่นเต้น กระตือรือร้นที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมของผู้ใหญ่ให้เป็นไปในแบบที่ตัวเองต้องการ
- เป็นวัยที่ยังมีจิตใจบริสุทธิ์ แถมยังเป็นวัยที่เริ่มจะมีประสบการณ์ความรักเป็นครั้งแรกซึ่งเป็นเรื่องแปลกใหม่ในชีวิต
- เป็นวัยที่มีความอ่อนไหวง่ายกับเรื่องต่าง ๆ ที่พบเจอ ไม่ว่าจะเรื่องความรัก เรื่องเพื่อน เรื่องศัตรู หรือปัญหาว้าวุ่นในจิตใจ ซึ่งการที่ตัวเอกมีลักษณะแบบนี้จะทำให้เขียนเนื้อเรื่องต่อได้ง่ายกว่า
- เป็นวัยที่มีอิสระที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ได้ง่ายกว่า ไม่เด็กเกินไปและไม่โตเกินไป หากเป็นชั้นประถม มัธยมต้น หรือวัยทำงานก็จะมีข้อจำกัดหลายด้านในชีวิตหากคิดตามความเป็นจริง
วัยรุ่นเป็นวัยที่เต็มไปด้วยเอเนอร์จี้ มีความใฝ่ฝัน มีพลังที่พร้อมจะออกไปท่องโลก จึงไม่น่าแปลกใจที่นักเขียนจะนิยมตั้งให้ตัวเอกเป็นเด็กวัยรุ่น ซึ่งไม่เพียงแต่ครองใจผู้ชมวัยรุ่นเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงผู้ชมวัยผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ที่บางครั้งก็ได้แง่คิดดี ๆ มาเติมเต็มพลังใจจากตัวละครวัยทีนเหล่านี้เช่นกัน
สรุปเนื้อหาจาก orangeitems prehyou2015.hatenablog