อนิเมะ หรือการ์ตูนแอนิเมชันญี่ปุ่น ถือเป็น Pop Culture ที่เผยแพร่และเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก อนิเมะหนึ่งตอนจะมีความยาวราว ๆ 20-30 นาที บางเรื่องก็แยกย่อยออกเป็นหลายซีซั่นให้เราได้ติดตามชมกันอย่างเพลิดเพลิน แต่เพื่อน ๆ เคยสงสัยกันไหมคะ? ว่ากว่าจะมาเป็นอนิเมะให้เราได้ดูหนึ่งตอน ต้องผ่านกระบวนการผลิตอะไรบ้าง?
วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับอาชีพอนิเมเตอร์ของญี่ปุ่น เจาะลึกถึงลักษณะการทำงาน ตำแหน่ง ขั้นตอนการผลิต ไปจนถึงคุณสมบัติอนิเมเตอร์มืออาชีพที่ดี จะมีอะไรบ้าง เราไปชมกันเลยค่ะ!
ลักษณะการทำงานของอนิเมเตอร์มืออาชีพ
อนิเมเตอร์ จะแบ่งหน้าที่ออกเป็น 2 หน้าที่ใหญ่ ๆ ได้แก่
1. โดงะ แมน
この投稿をInstagramで見る
โดงะ แมน (動画マン) หมายถึง อนิเมเตอร์ผู้วาดภาพเคลื่อนไหว งานของพวกเขาคือ การวาดภาพที่อยู่ระหว่างภาพต้นฉบับ A กับภาพต้นฉบับ B เพื่อให้ทั้งสองฉากนั้นเชื่อมต่อกันเป็นภาพเคลื่อนไหว แม้ส่วนใหญ่จะมีการมอบหมายงานนี้ให้กับนักวาดหน้าใหม่หรือคนที่มีประสบการณ์น้อยก็ตาม แต่ก็ถือเป็นงานที่ต้องการความละเอียดอ่อน ความช่างสังเกตและความแม่นยำอยู่พอสมควร เพื่อให้ภาพเคลื่อนไหวไม่ขาดช่วงและดูสมจริงมากที่สุด เรียกว่าเป็นงานของผู้ปิดทองหลังพระเลยก็ว่าได้
2. เก็นงะ แมน
เก็นงะ แมน (原画マン) หมายถึง อนิเมเตอร์ผู้วาดภาพต้นฉบับ ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีประสบการณ์การทำงานสายนี้มามากพอสมควร เพราะต้องมีความเข้าใจด้านโครงสร้างมนุษย์ วัตถุหรือสิ่งของต่าง ๆ เป็นอย่างดี มีความคิดสร้างสรรค์ และต้องมีความรับผิดชอบสูงอีกด้วย โดยพวกเขามีหน้าที่วาดภาพกำหนดสีหน้า ท่าทาง เสื้อผ้าของตัวละคร ไปจนถึงฉากและมุมกล้องที่ต้องการนำเสนอ
โดย ‘เก็นงะ แมน’ จะต้องรับบรีฟจากผู้อำนวยการสร้างหรือนักเขียนบท ก่อนนำข้อมูลที่ได้มาวาดเป็นภาพต้นฉบับ ซึ่งเก็นงะ แมนจะต้องใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบสีหน้า ท่าทางของตัวละคร รวมถึงฉาก ให้ตรงตามสตอรี่บอร์ดที่กำหนดมาให้
จากนั้นจะส่งภาพต้นฉบับให้ ‘โดงะ แมน’ ซึ่งพวกเขาจะต้องวาดภาพที่อยู่ระหว่างภาพต้นฉบับ A กับภาพต้นฉบับ B ให้เกิดการเคลื่อนไหว มีดูสมจริง ดูเป็นธรรมชาติ ตามจำนวนเฟรมที่ถูกกำหนดเอาไว้ด้วยเช่นกัน
คุณสมบัติการเป็นอนิเมเตอร์มืออาชีพ
1. ทักษะการวาด
เพราะอนิเมเตอร์ ต้องวาดทั้งคนและสิ่งของให้เป็นภาพเคลื่อนไหวเพื่อสื่อสารกับผู้ชม จึงจำเป็นต้องมีความสามารถในการวาดภาพที่แม่นยำ และมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัตถุต่าง ๆ เป็นอย่างดีว่า หากวัตถุนี้เกิดการเคลื่อนไหวจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในเฟรมต่อไป เป็นต้น
2. ความเร็วในการวาด
แม้แอนิเมชันจะมีการกำหนดจำนวนเฟรมที่ใช้เอาไว้แล้วก็ตาม ทว่า แต่ละผลงานก็จะใช้จำนวนเฟรมมาก-น้อยไม่เหมือนกัน ความเร็วในการวาดจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น การฝึกวาดอย่างสม่ำเสมอและหัดสังเกตสิ่งรอบข้างในชีวิตประจำวัน อาจช่วยให้คุณประสบความสำเร็จในงานสายนี้ได้
ระดับตำแหน่งงานของอนิเมเตอร์มืออาชีพ
อนิเมเตอร์มืออาชีพหน้าใหม่ จะเริ่มต้นด้วยตำแหน่ง ‘โดงะ แมน’ เป็นส่วนใหญ่ เพื่อสั่งสมประสบการณ์การวาดภาพ เรียนรู้ลักษณะการทำงาน และก้าวสู่การเป็น ‘เก็นงะ แมน’ ตำแหน่งที่ต้องมีความรับผิดชอบสูงขึ้นอีกหนึ่งสเตป และเลื่อนขั้นสู่การเป็นผู้กำกับแอนิเมชันต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในวงการอนิเมเตอร์มืออาชีพของญี่ปุ่น ยังมีเนื้อหางานแยกย่อยอีกมากมาย เช่น การเขียนสตอรี่บอร์ด, ผู้อำนวยการสร้าง ฯลฯ ซึ่งสามารถเปลี่ยนสายงานได้ขึ้นอยู่กับความต้องการและความสามารถของแต่ละบุคคล และนอกจากการทำงานเป็นพนักงานบริษัทแล้ว อนิเมเตอร์สายฟรีแลนซ์ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่เราสามารถเลือกรับงานได้ตามความถนัดและมีอิสระเพิ่มขึ้น
สุดท้ายนี้ ไม่จะเป็นอนิเมเตอร์ที่เป็นพนักงานประจำหรือฟรีแลนซ์ก็ตาม สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยในการเป็นอนิเมเตอร์ที่ดีก็คือ ความสามารถในการทำงานร่วมกัน เพื่อบรรลุสู่เป้าหมาย และสร้างผลงานที่มีคุณภาพสู่สายตาผู้ชม และหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับเพื่อน ๆ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับอาชีพอนิเมเตอร์ของญี่ปุ่นได้บ้างไม่มากก็น้อยนะคะ!
สรุปเนื้อหาจาก : amgakuin.co.jp