เมื่อเร็ว ๆ นี้มีข่าวใหญ่มากในวงวิชาการญี่ปุ่น คือ Tokyo Institute of Technology (東京工業大学) และ Tokyo Medical and Dental University (東京医科歯科大学) ทั้ง 2 มหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งประเทศญี่ปุ่น จะควบรวมกันเป็นมหาวิทยาลัยแห่งใหม่แห่งเดียวที่ชื่อว่า Institute of Science Tokyo (東京科学大学) ซึ่งมีกำหนดจะควบรวมสำเร็จและกลายเป็นมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ภายในสิ้นปีงบประมาณ 2024 นี้ เป็นที่ฮือฮากันมาก และผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายยืนยันว่าต่อไปนี้ญี่ปุ่นมีแนวโน้มจะมีการควบรวมมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่งด้วยกัน
สาเหตุแห่งการควบรวม
ญี่ปุ่นกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างรุนแรง มีผู้สูงอายุเกิน 65 ปีมากถึง 29% ของประชากรทั้งประเทศ (สถิติปี 2023) เรียกว่าคนญี่ปุ่นทุก ๆ 4 คนจะเป็นผู้สูงอายุไปแล้ว 1 คนแน่นอน ทั้งในตลาดงานก็ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน อย่างที่เคยกล่าวถึงไปแล้วใน “ชวนดูซีรีส์ “Kamen Rider Zero-One”” ส่วนภาคการศึกษาโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยก็ประสบปัญหา “เทอิน-วะเระ” ที่เคยกล่าวถึงไปแล้วใน “ปรากฏการณ์ “เทอิน-วะเระ (定員割れ)” ของระบบการศึกษาญี่ปุ่น” คือการที่จำนวนผู้สมัครเข้าเรียนมีน้อยกว่าจำนวนที่มหาวิทยาลัยตั้งเป้ารับเอาไว้ ทำให้มหาวิทยาลัยขาดทุนย่อยยับ และคุณภาพนักศึกษาที่เรียนจบก็แย่ลงไปเรื่อย ๆ เนื่องจากไม่สามารถคัดคุณภาพนักศึกษาได้เลยเพราะต้องรับเข้ามาหมดเพื่อให้ขาดทุนน้อยที่สุด จึงมีความจำเป็นต้องควบรวมกันระหว่าง 2 หรือมากกว่า 2 มหาวิทยาลัยขึ้นไป เพื่อแบ่งปันทรัพยากรด้านต่าง ๆ และเพื่อให้การบริหารจัดการผลกำไรขาดทุนมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การควบรวมมหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นที่ผ่านมา
ที่จริงแล้วการควบรวมมหาวิทยาลัยที่ญี่ปุ่นไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ มีหลายมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นที่เกิดจากการควบรวมมหาวิทยาลัยอื่นหรือควบรวมสถาบันการศึกษาอื่น ๆ เช่น Osaka University ควบรวมกับ Osaka University of Foreign Studies เมื่อปี 2007 เพียงแต่กรณีนี้ไม่ได้เกิดเป็นมหาวิทยาลัยใหม่เพราะ Osaka University of Foreign Studies แปลงสภาพเป็นวิทยาเขตหนึ่งของ Osaka University ไปเลย หรือกรณีของ Sophia University ที่ผนวกเอา Seibo College เข้าเป็นส่วนหนึ่งของ Sophia University ไปเลยในปี 2011 เป็นต้น
โดยเฉพาะหลังปี 2019 ที่ญี่ปุ่นมีการปรับแก้กฎหมาย National University Corporation Act ทำให้นิติบุคคลประเภทมหาวิทยาลัยรัฐเพียง 1 นิติบุคคลสามารถถือครองมหาวิทยาลัยได้มากกว่า 1 แห่ง ซึ่งทำให้การควบรวมเพื่อแบ่งปันทรัพยากรด้านต่าง ๆ และบริหารจัดการผลกำไรขาดทุนให้มีประสิทธิภาพระหว่างมหาวิทยาลัยภายใต้ Umbrella เดียวกันสามารถทำได้คล่องตัวมากขึ้น
แนวโน้มในอนาคต
ปัญหาการกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุและประชากรเกิดน้อย ยังคงดำเนินต่อไปอย่างรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ในญี่ปุ่น ทำให้มหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชน รวมทั้งสถาบันการศึกษาระดับอื่น ต้องตื่นตัวมากขึ้น ต้องกลายเป็น Umbrella Model ที่ใช้นิติบุคคลประเภทมหาวิทยาลัยเพียงแห่งเดียวแต่ดูแลบริหารจัดการทรัพยากรและบริหารผลกำไรขาดทุนของหลาย ๆ มหาวิทยาลัยใน Umbrella เดียวกัน
นอกจากนี้เรื่องเงินแล้ว ยังมีเรื่องของการเน้นการพัฒนาความรู้ในเชิงสหวิทยาการ (Interdisciplinary) มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้มหาวิทยาลัยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับนานาชาติได้มากขึ้นด้วย เช่น กรณีของ Tokyo Institute of Technology ที่มีจุดแข็งคือวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ในขณะที่ Tokyo Medical and Dental University ก็มีจุดแข็งคือด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ เมื่อควบรวมกันเป็น Institute of Science Tokyo แล้วก็จะกลายร่างเป็นสุดยอดมหาวิทยาลัยแห่งสายวิทยาศาสตร์ทุกแขนงไปได้ เป็นต้น
สำหรับเมืองไทยเองก็น่าจะต้องลองสำรวจ ๆ วิธีคล้ายกันแต่เนิ่น ๆ ได้แล้ว เพราะทางเราเองก็สภาพสังคมผู้สูงอายุกำลังตามญี่ปุ่นไปติด ๆ โดยในปี 2022 ไทยเราเองก็มีผู้สูงอายุเกิน 65 ปีมากถึง 14% ของประชากรทั้งประเทศแล้ว ควรต้องเริ่มมองการควบรวมของบางมหาวิทยาลัย การปรับแก้กฎหมายเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยเช่นพวก พรบ. ต่าง ๆ หรือการขายมหาวิทยาลัยให้ผู้ถือหุ้นชาติอื่นบ้าง (เช่น บางมหาวิทยาลัยขายให้กลุ่มทุนจีน เป็นต้น)
เกี่ยวกับผู้เขียน
วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล เป็นคนไทยเพียงไม่กี่คนที่เคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นมาแล้วถึง 4 แห่ง โดยเคยได้รับทุนแลกเปลี่ยนระหว่างที่ว่าการจังหวัด Okinawa และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปศึกษาที่ The University of the Ryukyus รวมทั้งเคยได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่นแบบสอบผ่านสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ไปศึกษาที่ 1) Tokyo University of Foreign Studies / 2) International Christian University / และ 3) Keio University มีประสบการณ์ทำงานที่หลากหลาย เคยเป็นผู้สื่อข่าวและผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ให้บริษัท Nippon Production Service (บริษัทในเครือสถานีโทรทัศน์ NHK) / เป็นผู้สอนภาษาไทยที่สถาบันภาษาไทยหลายแห่งในโตเกียว / เป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติที่สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจและการตลาดให้บริษัท Corporate Directions Inc. ของประเทศญี่ปุ่น / เป็นผู้ก่อตั้งสาขาภาษาญี่ปุ่นธุรกิจของคณะศิลปศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ / เป็นผู้อำนวยการบริษัท AIRA Capital และเป็นทีมงานก่อตั้งบริษัท AIRA and AIFUL รวมทั้งบัตรกดเงินสด A-Money / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท TOYO Business Service / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท JECC ประเทศญี่ปุ่น / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจของบริษัท Business Consultants South East Asia / มีประสบการณ์สอนในมหาวิทยาลัยมากกว่า 10 แห่งในประเทศไทย / เป็นที่ปรึกษาและจัดฝึกอบรมให้องค์กรหลายแห่ง
ปัจจุบันมีธุรกิจเล็ก ๆ ของตัวเองคือ บริษัท Consulting Agency for Talent จำกัด ทำธุรกิจให้คำปรึกษาด้านพัฒนาองค์กรและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HROD และ HRD) / เป็นนักวิชาการอิสระ / วิทยากรอิสระ / นอกจากเขียนคอลัมน์ที่ Conomi แห่งนี้แล้ว ก็เขียนคอลัมน์ให้ธนาคารไทยพาณิชย์ / เขียนคอลัมน์ให้ The PEOPLE Online Magazine / เขียนคอลัมน์ให้ Marumura และยังคงใฝ่เรียนรู้สิ่งใหม่ต่าง ๆ อยู่เสมอแม้ว่าจะมีปริญญา 7 ใบแล้วก็ตาม
ติดตามผลงานเขียนทั้งหมดของวีรยุทธได้ที่
Facebook : รวมผลงานของวีรยุทธ – Weerayuth’s Ideas