เพื่อน ๆ คนไหนที่เคยเรียนภาษาญี่ปุ่น นอกจากเราจะต้องฝึกเขียนตัวฮิรางานะ คาตาคานะ คันจิแล้ว เรายังต้องจำคำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นอีกเป็นร้อยเป็นพันคำ แถมคำศัพท์บางคำยังมีความหมายที่ใกล้เคียงกัน พอแปลเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษใช้คำเดียวกัน แต่พอเป็นภาษาญี่ปุ่นดันใช้กันคนละบริบทเสียนี่ ไม่ใช่แค่คนไทยเรานะคะที่งงงวยกับคำศัพท์ภาษาญี่ปุ่น ชาวต่างชาติที่ใช้ภาษาอังกฤษก็เช่นเดียวกัน วันนี้เราได้รวบรวมคำศัพท์ญี่ปุ่น 7 คำ ที่ชาวต่างชาติบอกว่าแปลเป็นภาษาอังกฤษยากสุด ๆ มาแนะนำกันค่ะ
7 คำศัพท์ญี่ปุ่นที่คนต่างชาติบอกว่าแปลยากสุด ๆ
1. อิคิไก (生きがい)
คำว่า อิคิไก เราสามารถแยกออกมาได้ 2 ส่วน ได้แก่ ‘อิคิ’ และ ‘ไก’ ส่วนแรก อิคิ มาจากคำกริยา อิคิรุ (生きる) แปลว่า มีชีวิต และส่วนที่สอง ไก (がい) เป็นคำที่ใช้ต่อจากคำกริยา แปลว่า คุ้มค่าที่จะทำกริยานั้น ๆ
เพื่อน ๆ บางคนอาจจะเคยเห็นคำนี้มาแล้ว เพราะไม่นานมานี้หนังสือชื่อ “The Little Book of Ikigai : อิคิไก ความหมายของการมีชีวิตอยู่” แต่งโดย Ken Mogi แปลโดย วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ ได้กลายเป็นหนังสือโด่งดัง ยอดขายติดท็อปในประเทศไทย ถ้าจะให้แปลคำว่า อิคิไก ออกมาให้ดูดีและเป็นธรรมชาติมากที่สุด ก็คงจะแปลว่า ความหมายของการมีชีวิตอยู่ ตามชื่อหนังสือนั่นแหละค่ะ แต่ความจริงแล้ว คนญี่ปุ่นได้อธิบายไว้ว่า คำว่า อิคิไก มันไม่ได้มีความหมายหนักแน่นหรือยิ่งใหญ่เท่ากับคำว่า ความหมายของการมีชีวิตอยู่ แบบที่คนต่างชาติหรือคนไทยเรานึกถึงกัน แต่มันอาจเป็นสิ่งเล็ก ๆ ธรรมดา ๆ ที่ทำให้เราใช้ชีวิตประจำวันได้ต่อไปอย่างไม่ต้องมานั่งกุมขมับว่า ฉันทำอะไรอยู่ หรือ ฉันมีชีวิตต่อไปทำไม
2. คะโรชิ (過労死)
ถ้าดูคันจิ 3 ตัวของคำว่า คะโรชิ (過労死) ตัวแรก 過 มีความหมายว่า เกินไป ตัวที่สอง 労 มีความหมายว่า การใช้กำลังทุ่มเท ตัวสุดท้าย 死 มีความหมายว่า ตาย พอรวมกันแล้ว แปลได้ว่า การทำงานหนักมากเกินไปจนเสียชีวิต แต่ความจริงแล้ว คนญี่ปุ่นบอกว่า เราต้องดูไปถึงสาเหตุที่ทำงานหนักด้วย คำว่า คะโรชิ จะเป็นกรณีที่ต้องทำงานหนักเพราะถูกสั่งงานเยอะ เพราะถูกกดดัน เพราะมีความรับผิดชอบเยอะ จนกลายเป็นกดดันตัวเอง เสียสละเวลา ร่างกาย และจิตใจของตัวเองเพื่อมุ่งทำงานหนักจนร่างกายและจิตใจทนไม่ไหว ล้มป่วยหรือตัดสินใจปลิดชีวิตตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดจากปัญหาขององค์กรเสียมากกว่าเป็นปัญหาส่วนตัว
3. ชินริงโยะคุ (森林浴)
คำว่า ชินริง (森林) แปลว่า ป่า ส่วน โยะคุ (浴) แปลว่า อาบ รวมกันแล้วแปลได้ว่า การอาบป่า เพื่อน ๆ คงงงกันว่าแล้วจะอาบยังไง ต้องหอบอ่างอาบน้ำเข้าไปกลางป่าหรือไม่ ความจริงแล้วการอาบป่านี้ ก็คือการที่เราเข้าไปเดินป่าหรือปีนเขา เพื่อซึบซับบรรยากาศและพลังจากป่าไม้ธรรมชาติ ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย สงบจิตสงบใจ สดชื่นขึ้นมาใหม่นั่นเอง ANNGLE เคยมีบทความแนะนำเรื่องชินริงโยะคุมาแล้ว
4. ชิกาตะ กะ ไน (仕方がない)
ชิกาตะ กะ ไน หรือพูดอีกอย่างหนึ่งได้ว่า โช กะ ไน (しょうがない) อาจจะแปลเป็นภาษาอังกฤษยากหน่อย แต่สำหรับภาษาไทยแปลได้ว่า ช่วยไม่ได้ มักจะใช้กับเรื่องเล็กน้อย เช่น ลืมเอาร่มมา จะนัดเพื่อนแต่เพื่อนไม่ว่าง ไม่ได้ใช้กับเรื่องใหญ่ คอขาดบาดตายอะไรค่ะ
5. สึนโดคุ (積読)
คำว่า สึนโดคุ นี้ คันจิตัวแรก 積 มีความหมายว่า สะสม ทับถม ส่วนตัวที่สอง 読 มีความหมายว่า อ่าน (หนังสือ) พอรวมกันแล้วจะแปลได้ว่า การมีหนังสือที่อยากอ่านแต่ยังไม่ได้อ่านกองอยู่เป็นภูเขา ซึ่งเล่มที่อ่านอยู่ในปัจจุบันก็ยังไม่จบสักที ลองนึกภาพง่าย ๆ เวลาเรากลับมาจากงานหนังสือพร้อมกับหนังสือใหม่เป็นตั้งที่เราซื้อมา แต่พอผ่านไป 3 เดือน หนังสือพวกนั้นก็ยังคงตั้งอยู่มุมห้องของเราเหมือนเดิม (ใครเป็นแบบนี้บ้าง ยกมือขึ้นค่ะ)
6. อิรุซึ (居留守)
คำว่า อิรุซึ เป็นคำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นที่ผู้เขียนคิดว่าน่าสนใจมาก ๆ เลย เพราะ อิ (居) แปลว่า อยู่ อาศัย ส่วน รุซึ (留守) แปลว่า ไม่อยู่ พอเอามารวมกัน จะมีความหมายว่า การอยู่บ้านแต่ทำเหมือนไม่อยู่ ยกตัวอย่างเช่น วันที่เราอยากเก็บตัว ไม่อยากเจอใคร ก็เลยปิดประตูหน้าต่างไว้สนิท ใครมากดกริ่งก็ไม่ตอบรับ ทำให้ผู้มาเยี่ยมเยือนเข้าใจว่าเราไม่อยู่บ้านนั่นเอง
7. อะเกะโอะโทะริ (上げ劣り)
แม้แต่คนญี่ปุ่นปัจจุบันยังแทบจะไม่รู้ความหมายของคำว่า อะเกะโอะโทะริ เลยนะคะ การจะเข้าใจคำนี้เราต้องย้อนกลับไปราว 1200 ปี ไปถึงสมัยนาราเลยค่ะ ในสมัยนั้นมีธรรมเนียมให้เด็กผู้ชายรวบผมขึ้นมัดตึงเพื่อแสดงถึงการบรรลุนิติภาวะ แต่ก็ใช่ว่าเด็กผู้ชายทุกคนจะเข้ากับทรงรวมมัดตึงนี้นะคะ คนที่ทำทรงนี้แล้วหน้าดูแย่ลง เขาเรียกว่า อะเกะโอะโทะริ ซึ่ง อะเกะ มาจากคำกริยา อะเกะรุ (上げる) แปลว่า ดึงขึ้น ยกขึ้น ในที่นี้หมายถึงการรวมผมขึ้นไป ส่วน โอะโทะริ มาจากคำกริยาเช่นกัน โอะโทะรุ (劣る) แปลว่า ด้อยกว่า อ่อนแอกว่า กลับมาที่สมัยปัจจุบันที่ไม่มีธรรมเนียมการรวมผมตึงแล้ว คำว่า อะเกะโอะโทะริ จึงกลายเป็นคำที่ใช้เรียก คนที่ไปตัดผมมาแต่ดันไม่เข้ากับหน้า ทำให้หน้าตาดูแย่ลง จินตนาการง่าย ๆ เหมือนเราเข้าร้านทำผม ตัดผมทรงใหม่เสร็จ เหลือบมองตัวเองในกระจกตกใจ ไม่กล้าออกจากร้านนั่นเองค่ะ
7 คำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นที่ชาวต่างชาติว่ากันว่าแปลยากเนี่ย เพื่อน ๆ อ่านดูแล้วแปลได้หรือเปล่าคะ บางทีเราเข้าใจความหมายของคำ แต่ไม่รู้จะพูดเป็นภาษาไทยอย่างไรดี ก็คงเหมือนวัฒนธรรมหรือแนวคิดบางอย่างที่มีลักษณะเฉพาะของประเทศ ยากที่คนที่ไม่ได้เกิดหรือเติบโตในประเทศนั้นจะเข้าใจได้ค่ะ
ผู้เขียน: MONAKA
สรุปเนื้อหาจาก: excite.co.jp