เพื่อน ๆ ที่ชอบเสพสื่อบันเทิงของญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็นมังงะ อนิเมะ หรือภาพยนตร์ ก็น่าจะเคยได้ยินหรือเคยเห็นคาแรกเตอร์ที่เป็น “โยไค” ผ่านหูผ่านตากันมาบ้างใช่ไหมคะ? โยไค หมายถึง ภูตผีปีศาจที่คนญี่ปุ่นในอดีตใช้เป็นตัวแทนสิ่งลี้ลับและปรากฏการณ์อันน่ากลัวต่าง ๆ ที่ไม่สามารถอธิบายได้ วันนี้เราจึงจะพาเพื่อน ๆ ไปดูนิทรรศการน่าสนใจเกี่ยวกับโยไค ที่จะบอกเล่าเรื่องราวของวัฒนธรรมโยไคที่มีผลต่อสังคมชาวญี่ปุ่นและมุมมองของผู้คนที่มีต่อโยไคตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบันใน นิทรรศการสัญจร “โยไคพาเหรด : ขบวนภูตพิศวงจากญี่ปุ่น”
“โยไค” เป็นมากกว่าภูตผี?
โยไค มีหลายประเภท แต่ที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันดี เช่น สาวคอยาว สาวปากฉีก ผีร่มตาเดียว ผีโคมไฟกระดาษ และอีกมากมาย ส่วนตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับโยไคที่โด่งดังก็ต้องเป็นเรื่อง ขบวนร้อยอสูรยามค่ำคืน ดังนั้น จะเห็นได้ว่า โยไค ไม่ใช่แค่คาแรกเตอร์ภูตผีธรรมดา แต่เป็นความเชื่อที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณและพัฒนาร่วมกับสังคมญี่ปุ่นมาจนถึงปัจจุบัน
นิทรรศการสัญจร “โยไคพาเหรด : ขบวนภูตพิศวงจากญี่ปุ่น”
นิทรรศการสัญจร “โยไคพาเหรด : ขบวนภูตพิศวงจากญี่ปุ่น” จัดขึ้นโดย Japan Foundation โดยความร่วมมือกับพิพิธภัณฑ์โยไคญี่ปุ่น เพื่อเป็นเกียรติแก่ ยุโมโตะ โคอิจิ (พิพิธภัณฑ์มิโยชิ โมโนโนเกะ)
นิทรรศการนี้ จะพาเราไปรู้จักกับวัฒนรรรมโยไคของประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผ่านภาพม้วนและภาพนิชิกิเอะ (ภาพพิมพ์สอดสี เป็นภาพพิมพ์สีชนิดหนึ่งของญี่ปุ่นที่ใช้แม่พิมพ์ไม้) รวมถึงสื่อในรูปแบบต่าง ๆ อย่างของเล่นและภาพยนตร์ โดยผลงานที่จัดแสดงในนิทรรศการนี้ส่วนมากเป็นผลงานจำลองคุณภาพสูง ที่จัดทำขึ้นเพื่อนิทรรศการสัญจรครั้งนี้ และผลงานบางส่วนจัดทำขึ้นโดยอิงจากผลงานจริงที่อยู่ในคอลเลกชันของพิพิธภัณฑ์โยไคญี่ปุ่น
โดยภายในนิทรรศการจะแบ่งเป็น 4 ส่วนคือ
- โลกอันตระการตาของภาพม้วนโยไค
- โลกที่เปี่ยมด้วยสีสันสดใสของเหล่าโยไค
- โยไคและเกม
- โยไคที่สืบทอดต่อมาจนปัจจุบัน
ซึ่งในแต่ละส่วน ก็จะเป็นการไล่เรียงวิวัฒนาการของวัฒนธรรมโยไคที่มีผลต่อสังคมชาวญี่ปุ่นและมุมมองของผู้คนที่มีต่อโยไคในแต่ละช่วงยุคสมัย รวมถึงการพัฒนาสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีโยไคเป็นส่วนประกอบสำคัญ จากสิ่งเร้นลับชวนขนหัวลุกที่สร้างความน่าสะพรึงกลัวให้แก่ผู้คน กลับกลายมาเป็นตัวละครคาแรกเตอร์น่ารักน่าชังที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายได้อย่างไร เราไปดูกันได้เลยค่ะ!
ส่วนที่ 1 : โลกอันตระการตาของภาพม้วนโยไค
ตั้งแต่สมัยโบราณ ผู้คนมีความหวาดกลัวต่อความมืดมิดและปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ไม่สามารถอธิบายได้ ทำให้เกิดการจินตนาการถึงสิ่งลี้ลับและภูตผีปีศาจต่าง ๆ ขึ้นมากมาย เหล่าโยไคเองก็เช่นกัน รูปร่างหน้าตาที่น่าสยดสยอง ชวนขนลุกของพวกมัน กลายเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนหวาดกลัว
ต่อมา เมื่อเกิดการถ่ายทอดต่อกันมาเป็นวงกว้าง ภาพลักษณ์ของโยไคก็การเปลี่ยนแปลงไปสู่ขั้นถัดไปคือ การวาดเพื่อถ่ายทอดลักษณะเหล่านั้นออกมาเป็นภาพที่ชัดเจน เพื่อให้จดจำเข้าไปอยู่ในจิตใจ และแพร่ขยายได้อย่างรวดเร็ว
ซึ่งนิทรรศการในส่วนนี้ ก็จะจัดแสดงบรรดา ภาพม้วนโยไคในสมัยเอโดะ ให้เราได้ชมนั่นเองค่ะ ชิ้นงานที่โดดเด่นและเป็นที่รู้จักอย่างมากก็คือ ภาพม้วนขบวนราตรีร้อยอสูร ซึ่งเป็นภาพของเหล่าโยไคจำนวนมากมาย ที่ออกมาเดินขบวนกันในยามค่ำคืน นอกจากนี้ยังมี ภาพวาดโยไคที่แสดงท่าทางเหมือนมนุษย์ หรือภาพวาดที่สื่อถึงวีรกรรมการกำจัดโยไค
ส่วนที่ 2 : โลกที่เปี่ยมด้วยสีสันสดใสของเหล่าโยไค
เมื่อวัฒนรรรมการพิมพ์เริ่มแพร่หลาย ภาพพิมพ์แกะไม้ ก็ส่งอิทธิพลอย่างมากต่อวัฒนรรรมโยไค เนื่องจากสามารถผลิตชิ้นงานซ้ำได้เป็นจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว ต่างจากการใช้พู่กันวาดบนกระดาษม้วน ทำให้ไม่ว่าใครก็สามารถหาซื้อได้ง่ายในราคาถูก โยไคจึงสามารถเข้าถึงและใกล้ชิดผู้คนได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพนิชิกิเอะ หรือ ภาพสอดสี ที่มีสีสันสดใสนั้นเป็นที่นิยมมาก จนเริ่มมีการผลิตงานโยไคที่มีเนื้อหาหลากหลาย ทั้งในเชิงการละเล่นหรือเสียดสีสังคม นั่นจึงยิ่งทำให้เหล่าโยไคเป็นที่คุ้นเคยกับผู้คนมากขึ้นไปอีก
นิทรรศการในส่วนนี้ ก็จะจัดแสดงบรรดาภาพนิชิกิเอะสีสันสดใสมากมายหลายชิ้น รวมถึงหนังสือนิทานและหนังสือรวมภาพโยไคหลากหลายแบบ
ส่วนที่ 3 : โยไคและเกม
เมื่อช่องว่างระหว่างโยไคและผู้คนแคบลงจากการพัฒนาการพิมพ์ ทั้งนิยายเชิงแฟนตาซีและหนังสือนิทานพร้อมภาพประกอบ ก็ได้รับความนิยมขึ้นอย่างล้นหลาม จากความเกรงกลัวที่เคยมี ก็พัฒนาเป็นความใกล้ชิด ความผูกพัน หรือแม้กระทั่งความรักความเอ็นดูต่อโยไค ถึงขนาดมีภาพโยไคที่ดูน่ารักเป็นมิตร ปรากฏอยู่ในเกมการละเล่นของเด็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็น สุโกโรคุ (บอร์ดเกมคล้ายบันไดงู), ไพ่คารุตะ และ โอโมจะเอะ (ภาพพิมพ์อุคิโยะเอะสำหรับเด็ก) สิ่งเหล่านี้ทำให้โยไคยิ่งหยั่งรากลึกลงไปในวิถีชิวิตของคนญี่ปุ่น จนโยไคไม่ใช่สิ่งที่น่าเกรงกลัวอีกต่อไป
นิทรรศการในส่วนที่ 3 จึงเป็นการจัดแสดงเกมการละเล่นต่าง ๆ ที่มีรูปภาพโยไคมากมาย ทั้งเกม สุโกโรคุ เมนโกะโยไค ภาพรวมสารพัดภูตที่จะแนะนำโยไคแต่ละตัว รวมถึงตำนานร้อยเรื่องเล่าสยองหรือวัฒนธรรมการเล่าเรื่องผี 100 เรื่องที่ปัจจุบันก็ยังเป็นที่นิยมเล่นกันในช่วงฤดูร้อน!
ส่วนที่ 4 : โยไคที่สืบทอดต่อมาในยุคปัจจุบัน
ในสมัยเมจิ ที่ญี่ปุ่นเริ่มรับวัฒนรรรมตะวันตกเข้ามา ได้เกิด “โยไคศึกษา” ที่เป็นศาสตร์ในการศึกษาเรื่องโยไค ในฐานะองค์ความรู้ทางวิชาการอย่างเป็นระบบมากขึ้นและหักล้างความเชื่องมงายออกไป แม้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองวัฒนรรรมโยไคจะห่างหายไปชั่วคราว แต่เมื่อทุกอย่างสงบลงโยไคก็ได้กลับมาปรากฏตัวในสื่อต่าง ๆ ทั้งหนังสือการ์ตูน แอนิเมชัน หรือเกม จนเกิดเป็นพื้นที่ของตัวเองและหยั่งรากลึกในสังคมปัจจุบันอย่างมั่นคง ซึ่งก็ไม่ได้จำกัดแค่สื่อของเด็กเท่านั้นด้วย แต่ยังแพร่กระจายออกไปจนถึงต่างประเทศ
นิทรรศการในส่วนนี้ จะจัดแสดงทั้งภาพโปสเตอร์ภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับโยไค ผลงานสุดสร้างสรรค์ที่นำเอาตัวละครอสูรน้อยคิทาโร่ไปใส่ไว้ในภาพวาดโยไคที่เคยมีในประวัติศาสตร์ รวมถึงเรื่องราวของภูตพยากรณ์ที่คนญี่ปุ่นนำไปเชื่อมโยงกับโรคระบาด COVID-19
ความประทับใจต่อนิทรรศการ
นับเป็นงานนิทรรศการอีกงานที่น่าสนใจมากเลยค่ะ เหมาะกับผู้ที่มีความสนใจหรือชื่นชอบใน วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น จากในอดีตที่โยไคเป็นเพียงแค่ภูตผีปีศาจที่สร้างความน่าสะพรึงกลัว และเป็นตัวแทนของพลังเหนือธรรมชาติ แต่เมื่อการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนำพามาสู่ยุคสมัยใหม่ มุมมองความคิดของผู้คนก็เริ่มเปลี่ยนไป
เหล่าโยไคถูกลดความน่ากลัวลงจนกลายมาเป็นเหมือนเพื่อนขี้เล่นแสนซนที่คุ้นเคยผ่านกาลเวลาอันยาวนาน แทรกซึมอยู่ในสื่อบันเทิงต่าง ๆ มากมายทั้งมังงะ อนิเมะ ภาพยนตร์ จนเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งป๊อปคัลเจอร์ที่มีเสน่ห์ น่าหลงใหล เป็นที่นิยมทั้งในประเทศญี่ปุ่นและต่างประเทศ
นอกจากเราจะได้เรียนรู้เรื่องราวของโยไคในสังคมญี่ปุ่นแล้ว เรายังได้เห็นผลงานอันทรงคุณค่าหลายชิ้นที่หาชมได้ยาก ถึงแม้จะเป็นผลงานจำลองแต่ก็สัมผัสได้ถึงพลังและความขลังจนเรารู้สึกอินไปกับภาพวาดโยไคมากมายด้วยลายเส้นและสีสันในอดีต ยิ่งตอกย้ำว่าโยไคมีความเชื่อมโยงแน่นแฟ้นและส่งอิทธิพลต่อศิลปวัฒนธรรมและสังคมญี่ปุ่นที่ข้ามผ่านกาลเวลามาจนถึงปัจจุบัน
ผลงานที่นำเสนอในบทความนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จัดแสดงภายในนิทรรศการ และยังมีผลงานบางชิ้นที่ไม่สามารถถ่ายภาพได้เนื่องด้วยลิขสิทธิ์ เพื่อน ๆ สามารถไปชมผลงานต่าง ๆ ด้วยตาตัวเองได้ที่ นิทรรศการสัญจร “โยไคพาเหรด : ขบวนภูตพิศวงจากญี่ปุ่น” TCDC ห้องแกลอรี่ชั้น 1 ทั้งกรุงเทพมหานครและจังหวัดขอนแก่น เข้าชมฟรี! ไม่เสียค่าใช้จ่าย สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Japan Foundation
นิทรรศการสัญจร “โยไคพาเหรด : ขบวนภูตพิศวงจากญี่ปุ่น” กรุงเทพมหานคร
สถานที่จัดงาน | TCDC ห้องแกลอรี่ชั้น 1 |
วัน-เวลาจัดงาน | 15 มิถุนายน – 28 กรกฎาคม 2567 10.30 น. – 19.00 น. (หยุดวันจันทร์) |
ค่าเข้าชม | เข้าชมฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย |
นิทรรศการสัญจร “โยไคพาเหรด : ขบวนภูตพิศวงจากญี่ปุ่น” จังหวัดขอนแก่น
สถานที่จัดงาน | TCDC ห้องแกลอรี่ชั้น 1 |
วัน-เวลาจัดงาน | 7 สิงหาคม – 8 กันยายน 2567 10.30 – 19.00 น. (หยุดวันจันทร์) |
ค่าเข้าชม | เข้าชมฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย |