ทุกวันนี้ “นม” ถือเป็นเครื่องดื่มที่หาซื้อดื่มได้ง่าย ไม่ว่าจะเดินเข้าไปในร้านสะดวกซื้อหรือซูเปอร์มาร์เก็ตก็จะเจอนมถูกวางจำหน่ายขายอย่างมากมายหลากหลายยี่ห้อ นอกจากนมแบบธรรมดาทั่วไปแล้ว นมพร่องมันเนย (Low Fat Milk) นมขาดมันเนย (Non Fat Milk) ก็สามารถหาซื้อบริโภคดื่มกันได้ง่ายอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นนมยังมีสารอาหารต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอีกมากมาย
ว่าแต่แล้วคนญี่ปุ่นนั้นได้เริ่มบริโภคดื่มนมมากันตั้งแต่เมื่อไรนะ? เมื่อย้อนกลับไปดูทางด้านประวัติศาสตร์จะพบได้ว่า คนญี่ปุ่นเริ่มบริโภคดื่มนมมากันตั้งแต่สมัยยุคอาสึกะ (Asuka Era ค.ศ 592 – ค.ศ. 710) หรือราว 1,400 ปีก่อนหน้าที่ผ่านมา แต่นมได้ถูกนิยมบริโภคดื่มกันอย่างแพร่หลายในกลุ่มคนธรรมดาทั่วไปก็คือในสมัยเมจิ (Meiji Era ค.ศ. 1868 – ค.ศ. 1912) ก่อนอื่นเราจะมาดูกันว่าตั้งแต่สมัยอาสึกะมาจนถึงสมัยเฮฮัน (Heian Era ค.ศ. 794 – ค.ศ. 1185) ประวัติของนมเป็นอย่างไรกันบ้าง มาย้อนรอยตามไปดูกันค่ะ
สมัยโบราณกับการบริโภคดื่มนม
ในช่วงปีค.ศ. 645 ผู้คนจากอาณาจักรคูดาระ (Kudara = 百済) หรือบริเวณคาบสมุทรเกาหลีในปัจจุบัน ได้เดินทางเข้าในญี่ปุ่น และมีการถวายนมให้แก่พระจักรพรรดิ หลังจากนั้นญี่ปุ่นจึงได้เริ่มการสร้างฟาร์มโคนมขึ้น โดยในยุคสมัยโบราณนั้น นมถูกผลิตขึ้นให้สำหรับเชื้อพระวงศ์ดื่มเท่านั้น ในปีค.ศ. 701 ถึงกับมีการออกกฎหมายไทโฮ (Taiho Code = 大宝律令) ซึ่งกำหนดให้สร้างโรงรีดนมขึ้นใกล้เมืองหลวง อันเนื่องมาจากที่เหล่าเชื้อพระวงศ์ต่างนิยมชื่นชอบบริโภคนมกันมาก โดยกล่าวกันว่ามีการบริโภคนมกันถึง 1-2 ลิตรต่อวัน!
ยุคสมัยเฮอัน “ยุคทองแห่งนม”
ในสมัยเฮอันซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “ยุคทองของนม” เลยก็ว่าได้ เพราะเกิด “โซ” (So = 蘇) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากแปรรูปของนมวัวขึ้นมา โดยโซนั้นเกิดจากการนำเอานมวัวไปต้มจนเปื่อย มีลักษณะรสชาติคล้ายชีส ซึ่งถือว่าเป็นต้นแบบของเนยหรือชีสในปัจจุบันขึ้น จากบันทึก “หัวใจแห่งแพทย์ศาสตร์” (医心方) ซึ่งเป็นบันทึกที่เปรียบเสมือนตำราทางการแพทย์ที่เก่าที่สุดของญี่ปุ่น ได้มีการระบุกล่าวถึงนมไว้อีกด้วยว่า “นมช่วยเรื่องผิวพรรณ ทำให้ขับถ่ายคล่อง และยังมีผลช่วยบำรุงร่างกายให้แข็งแรง” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในสมัยนั้นนมถูกจัดให้ถือว่ามีคุณสมบัติเทียบเท่ากับ “ยา”
การหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ของนม
วิถีการบริโภคนมนั้นยาวนานมาตั้งแต่สมัยอาสึกะจนถึงสมัยเฮอัน โดยอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่านมถือเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมในหมู่ราชวงศ์เป็นอย่างมาก จนไม่น่าเชื่อว่าหลังจากนั้น 600 ปี บันทึกที่เกี่ยวกับนมกลับเลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ทั้งหมด! ซึ่งก็คาดกันว่าน่าจะเป็นผลมาจากความเชื่อที่เข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นของศาสนาพุทธในญี่ปุ่นกับคำสอนทางพระพุทธศาสนาที่ว่า “ห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิต” รวมถึงการอ่อนกำลังลงของราชสำนัก จึงทำให้การบริโภคนมวัวได้จางหายไปจากประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น
การกลับมาอีกครั้งของ “นม”
นมได้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง ก็คือในสมัยยุคเอโดะ (Edo Era = ค.ศ.1603 – ค.ศ. 1868) อันเนื่องมาจากการที่ชาวต่างชาติเริ่มเดินทางเข้ามาอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นผลจากการที่โชกุนโทกูงาวะ โยชิมูเนะ (โชกุนลำดับที่ 8 จากตระกูลโทกูงาวะ) ได้รับการแนะนำจากแพทย์ชาวฮอลันดาว่า “การที่จะรักษาม้าจำเป็นที่จะต้องให้ม้าดื่มนม” จึงได้เกิดการริเริ่มทำการเลี้ยงวัวขึ้น โดยใช้พื้นที่บริเวณจังหวัดชิบะในปัจจุบันเป็นฟาร์มเพาะเลี้ยงวัว ซึ่งนั่นก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของรูปแบบฟาร์มโคนมในปัจจุบัน
ต่อมาในยุคหลังจากที่ญี่ปุ่นกลับมาเปิดประเทศ ความนิยมในการบริโภคนมก็กลับมาอีกครั้งจากอิทธิพลการบริโภคตามชาติตะวันตก แต่การที่นมวัวถูกบริโภคอย่างแพร่หลายไม่เฉพาะคนชนชั้นสูงแต่ยังรวมไปถึงกลุ่มคนธรรมดาทั่วไปนั้น เริ่มขึ้นในสมัยยุคเมจิ ช่วงปี ค.ศ. 1871 จากการที่พระจักรพรรดิเมจิได้หันมาบริโภคดื่มนมทุกวัน คนธรรมดาชาวบ้านทั่วไปก็หันมานิยมดื่มนมตามบ้าง ซึ่งการที่การนมนั้นไม่ได้ถูกจำกัดว่าต้องเป็นคนชนชั้นสูงหรือมีอายุตามที่กำหนดเหมือนในสมัยยุคโบราณ จึงถือเป็นการกระตุ้นให้การบริโภคนมนั้นได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในทุกชนชั้นเหมือนในปัจจุบันนั่นเอง
เมื่อเรามองย้อนกลับไปดูในประวัติศาสตร์ ก็ทำให้เราเรียนรู้ได้ว่านมที่ในปัจจุบันเป็นสิ่งของที่สามารถหาบริโภคดื่มกันได้อย่างสะดวกสบายง่ายดายนั้น ในอดีตถือว่าเป็นของหายากและมีค่ามาก ไม่ใช่ว่าใครก็จะสามารถที่จะหามาบริโภคดื่มกันได้ คนสมัยก่อนถ้าได้มาเกิดและเห็นว่านมในปัจจุบันถูกจัดให้เป็นของที่หาบริโภคดื่มได้ง่าย และยังมีรสชาติและรูปแบบต่าง ๆ มากมาย คงต่างพากันอิจฉาคนในยุคปัจจุบันเป็นแน่แท้ค่ะ
สรุปเนื้อหาจาก: mag.japaaan.com
เรียบเรียงโดย: XROSSX