เมื่อพูดถึงความเป็นญี่ปุ่นแล้วก็อาจนึกถึงเอกลักษณ์เฉพาะของคนญี่ปุ่นออกมาได้หลายอย่าง ซึ่งเราว่าเอกลักษณ์ของคนญี่ปุ่นอย่างหนึ่งที่น่ายกย่องมากๆ ก็คือเรื่องของมารยาทค่ะ และพอดีบังเอิญไปเห็นบทความหนึ่งที่เขียนเกี่ยวกับ “มารยาทในการใช้ห้องแบบญี่ปุ่น” มาด้วยจึงถือโอกาสหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาแชร์ให้ผู้อ่านทุกคนได้ทราบกันด้วยค่ะ
คิดว่าบางคนคงจะเคยเห็นหรือรู้จักห้องแบบญี่ปุ่นที่ปูพื้นด้วยเสื่อทาทามิ (畳) กันมาบ้างใช่ไหมคะ โดยห้องสไตล์ญี่ปุ่นแบบนี้ เรียกกันว่า 和室 (washitsu) หรือ 日本間 (nihonma) ห้องแบบญี่ปุ่นนี้จะมีประตูหรือหน้าต่างไม้บานเลื่อนที่เรียกว่า 障子 (shoji) ซึ่งจะมีการใช้ประดาษโปร่งแสง 障子の紙 (shoji no kami) แปะติดเอาไว้ด้วย บางสถานการณ์ห้องนี้จะถูกใช้ในกรณีที่เป็นทางการ การจัดพิธี หรือรับแขก จึงจำเป็นต้องรู้มารยาทขั้นพื้นฐานด้วยเช่นกัน ดังนั้นเราจะมาอธิบายมารยาทที่ถูกต้องเผื่อใครบังเอิญต้องเข้าห้องแบบญี่ปุ่นจะได้ปฏิบัติตัวกันได้ถูกต้องค่ะ
การเดินเท้าเปล่าเข้าห้องเสื่อทาทามิไม่ใช่มารยาทที่ถูกต้อง
สมัยก่อนห้องเสื่อทาทามินั้นเป็นห้องเอาไว้นั่งสำหรับขุนนางเท่านั้น จึงมีความรู้สึกว่าการเดินเท้าเปล่าบนเสื่อทาทามิอาจดูเสียมารยาท แต่สำหรับปัจจุบันที่ห้ามเท้าเปล่าก็เพราะเท้าของเราอาจมีเหงื่อทำให้ฝุ่นจากข้างนอกติดเท้าเราเข้าไปทำให้เสื่อสกปรกได้ และเนื่องจากเสื่อทาทามิเป็นวัสดุธรรมชาติจึงไม่สามารถทำความสะอาดโดยการล้างด้วยน้ำยาต่าง ๆ ได้ เหตุผลอีกหนึ่งข้อก็คือเรื่องกลิ่นอันไม่พึงประสงค์นั่นเอง
ยิ่งไปกว่านั้นห้องเสื่อทาทามิยังเป็นทั้งพื้นที่นั่งและไว้สำหรับปูฟูกนอน หรือวางถ้วยชาบนเสื่อโดยตรง จึงจำเป็นต้องรักษาความสะอาดของเสื่อทาทามิเอาไว้ให้ดี ดังนั้นการเดินด้วยเท้าเปล่าที่สกปรกบนเสื่อจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรอย่างยิ่ง แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีข้อยกเว้น เช่น ในโรงแรมแบบเรียวกัง กรณีที่เราอาบน้ำล้างตัวและเท้าสะอาดแล้วกลับเข้าห้องพักของตัวเองก็สามารถทำตัวตามสบายและเดินเท้าเปล่าได้
7 มารยาทที่ถูกต้องเมื่อต้องเข้าห้องเสื่อทาทามิ
1. กรณีจัดพิธีต่างๆ (เช่น พิธีดื่มชา)
ควรใส่ถุงเท้าสีขาวที่ใส่กับชุดกิโมโนหรือยูกะตะ ที่เรียกว่า 白足袋 (shirotabi)
2. มารยาทโดยทั่วไปเมื่อไปยังร้านอาหารแบบญี่ปุ่น หรือไปเยี่ยมที่บ้านของผู้อื่น
ควรใส่ถุงเท้าทาบิสำหรับที่ใส่กับเกี๊ยะญี่ปุ่น, ถุงเท้าธรรมดาหรือใส่ถุงน่องก็ได้ (แม้แต่ในหน้าร้อนที่ปกติมักจะไม่ใส่ถุงเท้ากัน แต่ถ้าต้องไปเยี่ยมบ้านผู้อื่นก็ต้องพกถุงเท้าติดตัวไปด้วยค่ะ)
3. กรณีอยู่ที่ๆ ผ่อนคลายได้
สามารถเดินเท้าเปล่าได้แต่ต้องล้างเท้าให้สะอาดเสียก่อน
4. ห้ามเหยียบขอบประตูและขอบเสื่อทาทามิ
เชื่อกันว่าขอบธรณีประตูนั้นมีส่วนที่เชื่อมกับโครงเสาของตัวบ้าน ซึ่งหากเราเหยียบไปอาจทำให้เกิดความเสียหายได้ หรืออีกเหตุผลก็คือในตระกูลใหญ่ๆ อาจมีตราประจำตระกูลอยู่จึงไม่ควรเหยียบค่ะ
5. ห้ามยืนข้างหลังเบาะนั่งสำหรับผู้ทรงเกียรติ
สำหรับตำแหน่งที่นั่งในห้องเสื่อทาทามินั้นจะมีที่นั่งสำหรับผู้ทรงเกียรติหรือแขกคนสำคัญ เรียกว่า 上座(kamiza) ซึ่งเป็นจุดที่มีเกียรติโดยเราห้ามไปยืนด้านหลังเด็ดขาด ตำแหน่งดังกล่าวจะเป็นตำแหน่งที่อยู่ฝั่งตรงข้ามประตูและอยู่ไกลจากทางเข้ามากที่สุดค่ะ คำตรงข้ามของ kamiza คือ 下座 (shimoza)
6. เดินอย่างระมัดระวัง
การเดินอย่างมีมารยาทคือ เดินเบาๆ ไม่ให้เกิดเสียง จึงควรเดินอย่างสำรวมโดยไม่ลงส้นเท้า และไม่ควรให้เกิดลมระหว่างที่เราเดินด้วย
7. การนั่งบนเบาะ 座布団 (zabuton)
เพราะเบาะนั่งนี้มีความสำคัญเทียบเท่ากับขอบประตูหรือขอบเสื่อทาทามิ จึงไม่ควรใช้เท้าเหยียบบนเบาะ กรณีที่จะนั่งให้คุกเข่าลงบนเบาะก่อนแล้วค่อย ๆ ขยับท่านั่งให้เหมาะสม
นอกจากมารยาทที่ถูกต้องที่ได้แนะนำไปในข้างต้นนี้ ส่วนที่สำคัญที่สุดอีกหนึ่งจุดคือ ท่าทางที่สำรวมและสง่างามค่ะ ไม่ว่าจะเดินหรือนั่งก็อย่าลืมยืดหลังให้ตรงอยู่เสมอทุกท่วงท่าด้วยนะคะ เท่านี้เราก็สามารถปฏิบัติตัวได้ถูกต้องตามมารยาทแบบญี่ปุ่นกันแล้วล่ะค่ะ
สรุปเนื้อหาจาก manners.upper, kateigaho, hitosara