อุชิโนะโคคุไมริ

หากเรามองประเทศญี่ปุ่นดูให้ลึกซึ้ง จะพบว่าผู้คนต่างก็มีความผูกพันกับความเชื่อและสิ่งลี้ลับไม่แพ้ประเทศไทย อย่างที่เราได้เคยแนะนำการละเล่นทางไสยศาสตร์ที่คล้ายกับผีถ้วยแก้วไทยชื่อว่า คกคุริซัง ไป วันนี้เราก็จะกลับมาพาทุกคนไปรู้จักกับอีกหนึ่งไสยศาสตร์ ชื่อว่า อุชิโนะโคคุไมริ (หรืออุชิโนะโทคิไมริ) ซึ่งนิยามง่าย ๆ ว่าคือ พิธีสาปแช่งด้วยการตอกตะปูที่ตุ๊กตาฟาง

ตี 1-3 ช่วงเวลาแห่ง “อุชิโนะโคคุไมริ”

อุชิโนะโคคุไมริ

อุชิโนะโคคุไมริ (丑の刻参り) เป็นอีกหนึ่งในเรื่องเล่าวงสยองขวัญที่เป็นที่นิยม โดยเป็นพิธีกรรมที่เชื่อว่าเป็นการยืมพลังจากภูตผีปีศาจเพื่อนำมาใช้ในการสาปแช่งคน ๆ หนึ่งให้ถึงแก่ความตาย โดยหากยึดเวลาในปัจจุบัน พิธีกรรมนี้มักจะเกิดในยามช่วงวิกาล หรือก็คือประมาณ ตี 1-3

ที่เป็นเวลานี้ก็เพราะเล่ากันว่าช่วงเวลาดังกล่าวในอดีต ทุกอย่างรอบตัวจะมืดสนิท ไม่มีแม้แต่แสงไฟสักดวงเดียว ทั้งมนุษย์ สัตว์ แม้แต่พวกบรรดาต้นไม้ใบหญ้ายังหลับไหล นั่นจึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะที่สุดให้พวกภูติผีปรากฏกาย แต่หากมองในบรรยากาศปัจจุบันที่เต็มไปด้วยแสงไฟจากร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร เครื่องขายของอัตโนมัติ หรือพวกบรรดาป้ายไฟต่าง ๆ จึงไม่แปลกใจหากมีหลายคนจินตนาการบรรยากาศในช่วงเวลาดังกล่าวไม่ออก

อย่าให้ใครเห็นหรือได้ยิน ขั้นตอนพิธีกรรมสาปแช่ง

อุชิโนะโคคุไมริ เป็นเรื่องเล่าที่นิยมในหมู่สตรีชั้นสูงในสมัยเอโดะ โดยเล่ากันว่าในช่วงเวลายามวิกาล ให้นำตุ๊กตาฟางของคนที่เราต้องการสาปแช่งไปที่ ต้นไม้ชินโบคุ (ต้นไม้ศักสิทธิ์ที่มักปลูกอยู่ใกล้ศาลเจ้าชินโต) จากนั้นนำตะปูยาวตอกลงไปที่ตุ๊กตาฟางตัวนั้น แล้วคน ๆ นั้นจะโดนคำสาปแช่งจนถึงแก่ความตายได้

เพื่อให้การสาปแช่งสัมฤทธิ์ผลให้แต่งกายโดยการสวมชุดคลุมสีขาว พร้อมกับคาดเทียนสามเล่มเอาไว้บนหัว ส่วนตัวตุ๊กตาฟางให้ใส่เส้นผมของคนที่เราต้องการสาปแช่งลงไป พิธีกรรมนี้จะต้องทำต่อเนื่อง 7 วัน โดยที่ห้ามให้ใครเห็นหรือได้ยิน

อุชิโนะโคคุไมริ มีที่มาจากเรื่องเล่า “ฮาชิฮิเมะ”

มีการกล่าวกันว่าจุดเริ่มต้นของอุชิโนะโคคุไมริ น่าจะมาจากนิทานเรื่องเล่า ชื่อเรื่องว่า ฮาชิฮิเมะ (橋姫伝説) โดยเป็นเรื่องของลูกสาวขุนนางชั้นสูงที่ได้เกิดริษยาหึงหวงหญิงสาวนางหนึ่งจนอยากฆ่าให้ตาย จึงไปอ้อนวอนขอกับเทพเจ้าให้เปลี่ยนนางให้กลายเป็นปีศาจไปแก้แค้น เทพเจ้าจึงได้ให้นางไปแช่อยู่ในแม่น้ำอุจิเป็นเวลา 21 วัน แล้วคำขอจะเป็นจริง ฮาชิฮิเมะก็ปฏิบัติตามคำแนะนำนั้นและเมื่อครบกำหนดวันนางก็ได้กลายร่างเป็นปีศาจตามคำขอในที่สุด

อย่างไรก็ตามในตำนานของฮาชิฮิเมะปรากฏสิ่งที่เกี่ยวข้องกับอุชิโนะโคคุไมริแค่ในด้านของการแต่งกาย โดยเล่าว่าชุดที่นางใส่ไปอยู่ในแม่น้ำอุจิ 21 วันนั้นเป็นชุดขาว พร้อมเทียนบนหัวสามเล่ม ส่วนความเชื่อของ ตะปูและตุ๊กตาฟาง คาดว่าเริ่มมาบทละครโนในสมัยมุโรมาจิ ว่าด้วยเรื่องของภรรยาเก่าที่ต้องการแก้แค้นสามีที่มีภรรยาใหม่ จึงแปลงกายเป็นปีศาจที่ถือตะปูจุดไฟ

ร่องรอยของพิธีสาปแช่งที่ยังหลงเหลือในปัจจุบัน

ที่ศาลเจ้าจิชุจินจะ  (地主神社) ซึ่งตั้งติดกับวัดน้ำใส คิโยมิซุ ในเกียวโต จะมีศาลเจ้าเล็ก ๆ ที่เรียกว่า โอคาเงะเมียวจิน (おかげ明神) ซึ่งด้านหลังของศาลเจ้านั้นก็จะมี ต้นไม้ศักศิทธิ์ขนาดใหญ่  ที่ได้ชื่อว่าเป็น ต้นไม้ขอพรแต่ก็เป็นต้นไม้สาปแช่ง ได้อีกด้วย เพราะหากสังเกตดูที่บริเวณลำต้น จะเห็นรอยตะปูขนาด 5 นิ้ว จำนวนนับไม่ถ้วน จึงเป็นที่มาของเรื่องเล่ากว่านี่คือต้นไม้จริงที่ถูกนำมาใช้ทำพิธีอุชิโนะโคคุไมริ!

โดยสรุปแล้วเราจะเห็นได้ว่าพิธีสาปแช่งอุชิโนะโคคุไมริ นั้นมีรากความเป็นมาตั้งแต่สมัยโบราณมาแล้ว แม้ในปัจจุบันสิ่งนี้อาจจะกลายเป็นแค่เรื่องเล่าในวงสยองขวัญ แต่ใครจะรู้ล่ะคะว่าหากเราลองไปศาลเจ้าในช่วงเวลาวิกาลที่เงียบสงบ อาจจะยังเจอเสียงตอกตะปูปริศนาก็ได้นะ

อ้างอิงข้อมูลจาก mag.japaaan.com kyotoside.jp jishujinja.or.jp

Mayuko

โตมากับอนิเมะและเพลงญี่ปุ่น ชอบงานแปล งานเขียน พร้อมหาเรื่องราวน่าสนใจเกี่ยวกับญี่ปุ่นใหม่ๆ มาเล่าสู่กันฟังค่ะ

ไอคอน PDPA

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า