เต่า, นกกระเรียน

ความเชื่อเรื่องโชคลาภหรือความเป็นสิริมงคลสำหรับคนญี่ปุ่นนั้นไม่แพ้ชาติไหน ๆ สำหรับสัตว์มงคลนั้น คนญี่ปุ่นเชื่อกันว่า เต่า และ นกกระเรียน เป็นสัญลักษณ์ของสิริมงคลและการมีอายุยืนยาว จะเห็นได้ในงานมงคลหรืองานรื่นเริง เช่น งานแต่งงานหรืองานฉลองอายุยืนของญี่ปุ่น เราจะเห็นสัญลักษณ์ของเต่าและนกกระเรียนประดับอยู่ในงานเสมอ อีกทั้งภาษาญี่ปุ่นยังมีคำกล่าวว่า “เต่าหมื่นปี นกกระเรียนพันปี” บางคนอาจจะเกิดความสงสัยว่าความเป็นมงคลเกี่ยวข้องกับเต่าและนกกระเรียนได้อย่างไร และเจ้าสัตว์ทั้งสองมีอายุขัยจริงเท่าไรกันแน่?

เมื่อย้อนไปในอดีต เดิมทีประเทศจีนสมัยโบราณ ทั้งเต่าและนกกระเรียนถือเป็นสิ่งมงคลและเป็นสัญลักษณ์ของการมีอายุยืนยาว ต่อมาแนวคิดนี้ได้เข้ามาแพร่หลายในญี่ปุ่นด้วย ซึ่งเราจะมาดูเพิ่มเติมกัน

ทำไมนกกระเรียนถึงเป็นสัตว์นำโชค?

กระเรียน

นกกระเรียน เมื่อมีคู่ มันจะรักคู่ของมันมากและอยู่ด้วยกันไปตลอดชีวิต นกกระเรียนจึงเป็นตัวแทนของความรักนิรันดร์ และยังเป็นสัญลักษณ์ของการครองคู่กันในชีวิตสมรส เปรียบเหมือนสำนวนถือ “ไม้เท้ายอดทอง กระบองยอดเพชร” ของคนไทยเรา นอกจากนี้ นกกระเรียนยังมีเสียงร้องที่ดังไกลและก้องกังวาน จึงเกิดความเชื่อว่าเสียงร้องของมันดังไกลไปถึงสรวงสวรรค์และเป็นนกที่พาไปสู่เทวโลก

นกกระเรียนยังได้รับการกล่าวขานว่าเป็นสัญลักษณ์ของการมีอายุยืนยาวเพราะอายุที่ยืนนานกว่านกชนิดอื่น ๆ ผู้คนจึงถือว่านกกระเรียนเป็น “นกมงคล”

ความที่มันอายุยืนนั่นเองทำให้เกิดประเพณีการพับนกกระเรียน 1,000 ตัวจากกระดาษโอริกามิเพื่อขอพรให้มีชีวิตยืนยาวขึ้นในสมัยมุโรมาจิ และหลังจากนั้นก็เปลี่ยนมาเป็นการขอพรในเรื่องต่าง ๆ เช่น อธิษฐานเพื่อขอชัยชนะ หรือขอให้หายจากอาการป่วยในสมัยเอโดะเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

แล้วการเป็นสัตว์มงคลของเต่ามีที่มาอย่างไร?

เต่า

สมัยจีนโบราณ เต่าเป็นข้ารับใช้ของเหล่าเซียนที่ภูเขาเผิงไหล ถือกันว่ามันเป็นตัวแทนของสติปัญญาและอายุที่ยืนยาว กล่าวกันว่าความเชื่อนี้ได้แพร่หลายไปยังประเทศญี่ปุ่น และเต่ากลายเป็นสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ของการมีอายุยืนยาวเช่นเดียวกับนกกระเรียน และยังเชื่อกันว่ากระดองรูปทรงหกเหลี่ยมของเต่าเป็นเครื่องรางที่บ่งบอกถึงสิ่งดี ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้

ส่วนในวัฒนธรรมอินเดียและกรีก เชื่อกันว่ากระดองที่แข็งแรงของเต่าเป็น “สิ่งค้ำจุนโลก” และเป็นสัญลักษณ์ของความมั่นคงไม่ไหวติง นอกจากนี้ กระดองเต่ามีลักษณะกลมคล้ายกับเหรียญในสมัยเอโดะ บางครั้งจึงถือเป็นเครื่องรางที่นำโชคเรื่องการเงินมาให้ด้วย

อายุขัยที่แท้จริงจากคำกล่าวที่ว่า “เต่าหมื่นปี นกกระเรียนพันปี” คือเท่าไรกันแน่?

เต่า

อ่านมาถึงตรงนี้เราได้รู้แล้วว่าความเป็นมาของสัตว์มงคลมีที่มาอย่างไร ส่วนอายุขัยที่แท้จริงของนกกระเรียนนั้น ที่ญี่ปุ่นจะมีนกกระเรียนมงกุฎแดงซึ่งเป็นสัตว์อนุสรณ์ทางธรรมชาติ (天然記念物, Natural Monument) แห่งชาติ ในความเป็นจริงพวกมันมีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 20-30 ปี ส่วนนกชนิดอื่น ๆ มีอายุประมาณ 3-10 ปี เมื่อเทียบกันแล้วนกกระเรียนจึงมีอายุนานกว่านกชนิดอื่น ๆ มาก
ส่วนอายุขัยของเต่าจะแตกต่างไปตามสายพันธุ์ มีบางชนิดที่อายุกว่า 100 ปี และมีการคาดเดาว่าเต่าที่หมู่เกาะกาลาปาโกสบางตัวมีอายุกว่า 200 ปีเลยทีเดียว

สรุปแล้วนกกระเรียนไม่ได้อยู่ถึง 1,000 ปี เต่าเองก็ไม่ได้มีชีวิตนานถึง 10,000 ปี เพียงแต่พวกมันมีอายุยืนยาวกว่าสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ จึงเป็นที่มาของความเชื่อว่าเต่าและนกกระเรียนเป็นสัญลักษณ์ของการมีชีวิตยืนยาว

“อุราชิมะทาโร่” อีกเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อเรื่องเต่าและนกกระเรียน!

อุราชิมะทาโร่

ในบรรดาเทพนิยายที่ชาวญี่ปุ่นคุ้นเคย หนึ่งในนั้นคือเรื่อง “อุราชิมะทาโร่” ชายผู้ช่วยชีวิตเต่าบนชายหาดและพากลับไปที่ปราสาทมังกรใต้ทะเล ที่นั่นเขาได้พบกับเจ้าหญิงโอโตะฮิเมะ ทั้งสองได้ใช้เวลาอย่างมีความสุขร่วมกันเป็นอย่างมาก แต่เมื่อเขากลับมาที่เดิมกลับพบว่าเวลาบนโลกแห่งความเป็นจริงได้ผ่านไปเนิ่นนานมากแล้ว เมื่อเขาเปิดกล่องเครื่องประดับต้องห้ามที่เจ้าหญิงมอบให้ตอนที่จากกัน ตอนนั้นเองร่างกายเขากลับกลายเป็นชายชรา ทว่า เรื่องราวดูจะไม่จบแค่นี้และมีตอนต่อไป…

เรื่องราวที่ว่าคือหลังจากอุราชิมะทาโร่กลายเป็นคนแก่แล้ว เขากลายร่างเป็นนกกระเรียนและบินไปหาเจ้าหญิง

แท้จริงแล้วกล่องเครื่องประดับต้องห้ามที่เจ้าหญิงมอบให้ ข้างในมีจิตวิญญาณของอุราชิมะทาโร่เก็บไว้เพื่อไม่ให้ร่างกายของเขากลับกลายเป็นคนแก่ นั่นเป็นเพราะว่าเจ้าหญิงปรารถนาจะพบอุราชิมะทาโร่อีกสักครั้ง แต่อุราชิมะทาโร่ไม่ล่วงรู้เรื่องนั้นจนเปิดกล่องต้องห้ามเข้าและต้องกลายเป็นชายชรา หลังจากนั้นอุราชิมะทาโร่กลายเป็นนกกระเรียนโบยบินไปหาเจ้าหญิง ส่วนเจ้าหญิงโอโตะฮิเมะกลายร่างเป็นเต่าและทั้งสองได้ครองรักกันยาวนานจนอาจกล่าวได้ว่าตราบนิจนิรันดร์

สัตว์มงคล

จะเห็นได้ว่าในเรื่องนี้ใช้เต่าและนกกระเรียนเป็นสัญลักษณ์ของการมีอายุยืน แม้อายุขัยที่แท้จริงของมันจะไม่ใช่ 1,000 ปีหรือ 10,000 ปี แต่พวกมันมีอายุยืนยาวมากเมื่อเทียบกับสัตว์อื่นๆ

ปัจจุบันอายุขัยเฉลี่ยของชาวญี่ปุ่นสูงกว่า 80 ปี แต่ในสมัยมุโรมาจิที่เป็นช่วงที่นกกระเรียนกระดาษ 1,000 ตัวถือกำเนิดขึ้น อายุขัยเฉลี่ยของคนญี่ปุ่นสมัยนั้นอยู่ที่ราว 33 ปีเท่านั้น ถ้ามองในมุมนี้คงไม่น่าแปลกใจเท่าไร เพราะหากเราเป็นคนที่เกิดในยุคที่ค่าเฉลี่ยของอายุคนอยู่ที่ 33 ปี ส่วนนกกระเรียนมีอายุ 30 ปีหรือเต่ามีอายุยืนถึง 100 ปี เราก็จะเข้าใจได้ว่าทำไมคนสมัยโบราณจึงให้ความสำคัญกับสัตว์ทั้งสองในฐานะสัญลักษณ์ของอายุที่ยืนยาว

สรุปเนื้อหาจาก jpnculture
เรียบเรียงโดย Puk

conomin

conomin คือกลุ่มนักเขียนใหม่ของ conomi ที่คอยนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับญี่ปุ่น เพื่อคนรักญี่ปุ่น จากปลายปากกาคนรักญี่ปุ่นด้วยกัน

ไอคอน PDPA

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า