7 กรกฎาคม วนมาอีกครั้ง ก็ถึงเวลาของเทศกาลชื่อดังของญี่ปุ่นก็คือ “ทานาบาตะ” นั่นเอง เป็นวันสำคัญที่มาพร้อมกับตำนานความรักของเจ้าหญิงโอริฮิเมะกับฮิโกโบชิที่จะข้ามทางช้างเผือกมาพบกันเพียงปีละครั้ง แต่ทำไมเทศกาลที่โรแมนติกขนาดนี้ต้องมาตรงกับช่วงหน้าฝน แถมนอกจากวันที่ 7 กรกฎาคมแล้ว ยังมีวันที่เรียกว่า “ทานาบาตะแบบดั้งเดิม” อีกด้วย มันคืออะไร เราไปดูที่มาที่ไปกันค่ะ
เทศกาลทานาบาตะ
งานเทศกาลทานาบาตะ ในปัจจุบันมักจัดขึ้นวันที่ 7 กรกฎาคมทั่วประเทศญี่ปุ่น เป็นประเพณีที่ญี่ปุ่นรับเข้ามาในช่วงสมัยอาสุกะ โดยมีเค้าโครงเป็นเรื่องราวของเจ้าหญิงโอริฮิเมะและคนเลี้ยงวัวชื่อฮิโกโบชิที่ได้มาจากตำนานจีน มีธรรมเนียมในการเขียนคำอธิษฐานและแขวนบนต้นไผ่ เป็นที่รู้จักกันทั่วโลกว่าเป็นหนึ่งในประเพณีช่วงฤดูร้อนของญี่ปุ่น แต่นอกจากวันที่ 7 กรกฎาคมแล้ว ยังมีวันทานาบาตะที่เรียกว่า “ทานาบาตะแบบดั้งเดิม” อีกด้วย
วันทานาบาตะแบบดั้งเดิม
วันทานาบาตะแบบดั้งเดิม หมายถึง วันทานาบาตะที่อิงตามปฏิทินจันทรคติ ซึ่งปฏิทินที่เราใช้กันในยุคปัจจุบันคือปฏิทินสุริยคติแบบเกรกอเรียน แต่ย้อนกลับไปในอดีต ญี่ปุ่นเคยใช้ปฏิทินเท็มโปซึ่งเป็นปฏิทินจันทรคติ ดังนั้น วันทานาบาตะในวันที่ 7 กรกฎาคมนั้น จึงเป็น 7 กรกฎาคมตามปฏิทินจันทรคติ ไม่ใช่ตามปฏิทินสุริยคติที่ใช้ในปัจจุบัน
ตามปฏิทินจันทรคติ “ทานาบาตะ” ตรงกับวันที่เท่าไร?
ปฏิทินจันทรคติ มีความคลาดเคลื่อนต่างจากปฏิทินปัจจุบันประมาณ 1 เดือน – 1 เดือนครึ่ง ดังนั้นในปี 2024 นี้ วันทานาบาตะที่อิงตามปฏิทินจันทรคติจะตรงกับวันที่ 10 สิงหาคม โดยจะเรียกวันทานาบาตะที่อิงตามจันทรคตินี้ว่า วันทานาบาตะแบบดั้งเดิม
เราลองมาดูกันว่าตั้งแต่ปี 2023 – 2030 วันทานาบาตะแบบดั้งเดิมจะตรงกับวันไหนบ้างหากเทียบเป็นปฏิทินในยุคปัจจุบัน
- 2023 : 22 สิงหาคม
- 2024 : 10 สิงหาคม
- 2025 : 29 สิงหาคม
- 2026 : 19 สิงหาคม
- 2027 : 8 สิงหาคม
- 2028 : 26 สิงหาคม
- 2029 : 16 สิงหาคม
- 2030 : 5 สิงหาคม
ถึงแม้ว่าในปัจจุบันคนญี่ปุ่นจะนิยมจัดงานวันทานาบาตะในวันที่ 7 กรกฎาคมเป็นหลัก แต่ในบางภูมิภาคก็มีการจัดงานในเดือนสิงหาคมเช่นกัน อย่างในเซนได ก็มีงานเทศกาลเซ็นไดทานาบาตะในวันที่ 6-8 สิงหาคม เป็นเทศกาลที่ครึกครื้นมากจนนับได้ว่าเป็น 1 ใน 3 เทศกาลสำคัญในโทโฮคุ หรือในจังหวัดอื่น ๆ ทั้ง อิวาเตะ อากิตะ ยามากาตะ รวมไปถึง ย่านอาซากายะคิตะ ในโตเกียว ก็มีจัดงานเทศกาลทานาบาตะในเดือนสิงหาคมเช่นกัน!
วันทานาบาตะ ตามจันทรคติหรือทานาบาตะแบบดั้งเดิมมักจะตรงกับเดือนสิงหาคม ซึ่งก็มีข้อดีคือ เนื่องจากดวงจันทร์เป็นข้างขึ้นและจะลับขอบฟ้าเร็ว ช่วยให้มองเห็นทางช้างเผือกของเจ้าหญิงโอริฮิเมะกับฮิโกโบชิได้ง่าย แต่เมื่อยึดตามวันที่ 7 กรกฎาคมในปฏิทินปัจจุบัน ก็จะตรงกับช่วงหน้าฝน ทำให้วันทานาบาตะมีฝนตกอยู่บ่อย ๆ อย่างวันทานาบาตะในโตเกียวก็มีวันที่แดดจัดอากาศดีเพียงแค่ 1 ใน 4 เท่านั้น
ทานาบาตะทั่วโลก
この投稿をInstagramで見る
งานเทศกาลทานาบาตะ ไม่ได้จัดขึ้นเฉพาะในญี่ปุ่นเท่านั้น ดังที่กล่าวไปว่าเป็นประเพณีที่มีต้นกำเนิดในจีนโบราณ ปัจจุบันก็ยังคงสืบทอดกันอยู่ในประเทศจีนและประเทศใกล้เคียง รวมไปถึงสหรัฐอเมริกาและบราซิลในอเมริกาใต้ อย่างในประเทศจีน วันทานาบาตะก็มีแง่มุมของการเป็นวันสำหรับคู่รัก มีการมอบดอกไม้และของขวัญราคาแพงให้กันและกัน
ในบราซิลก็มีคนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยย้ายมาอยู่อาศัย จนมีเมืองญี่ปุ่นในเซาเปาโล ถือเป็นเมืองญี่ปุ่นที่ใหญ่ที่สุดในโลก และในปี 1979 ก็ได้เริ่มจัดงานเทศกาลทานาบาตะในเซาเปาโลเป็นครั้งแรกในชื่อ “São Paulo Sendai Tanabata Matsuri” แต่ในปัจจุบันได้ใช้ชื่อว่า “Tanabata Matsuri” หรือ “Festival das Estrelas” และเปลี่ยนคอนเซ็ปต์จากงานฤดูร้อนกลายเป็นงานฤดูหนาว เนื่องจากบราซิลอยู่ทางซีกโลกใต้ทำให้วันทานาบาตะตรงกับช่วงฤดูหนาวแทน
ในลองแองเจลิสเองก็มีเมืองญี่ปุ่นที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาคือ Little Tokyo มีการจัดงาน “Nisei Week Festival” ที่จะมี “Los Angeles Tanabata Festival” เป็นส่วนหนึ่งในงานนั้นด้วย
สรุปเนื้อหาจาก fundo