เมื่อพูดถึง ซูโม่ ทุกคนก็คงจะนึกถึงประเทศญี่ปุ่นเป็นแน่ ซูโม่นับว่าเป็นกีฬามวยปล้ำที่แฝงไปด้วยวัฒนธรรมอันมีเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นที่ไม่ได้ลอกเลียนแบบกันได้ง่าย ๆ และการเป็นนักกีฬาซูโม่ก็ใช่ว่าแค่ตัวใหญ่และน้ำหนักเยอะแล้วจะเป็นกันได้เลย แต่ยังต้องอาศัยการฝึกฝนทั้งกำลังของร่างกาย ต้องเรียนรู้เทคนิค และยังต้องฝึกระเบียบวินัยต่าง ๆ รวมถึงต้องเคร่งครัดเรื่องอาหารการกินอย่างมากอีกด้วย ยิ่งนักซูโม่คนไหนปั้นหุ่นได้ใหญ่ขึ้นมากเท่าใดค่าตัวก็มีโอกาสเพิ่มขึ้นด้วยเท่านั้น ส่วนค่าบัตรชมกีฬาซูโม่นั้นเริ่มต้นก็ราคาหมื่นเยนแล้วล่ะค่ะ จากความมีเอกลักษณ์เฉพาะและยังเป็นที่รู้จักแพร่หลายเพราะมีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมของญี่ปุ่นมาอย่างยาวนานนี้เองจึงถูกเรียกว่า “กีฬาประจำชาติของญี่ปุ่น”
คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่เองก็เชื่อว่ากีฬาซูโม่นั้นเป็นกีฬาประจำชาติ แต่ทราบหรือไม่ว่ายังมีอีกมุมมองหนึ่งที่แย้งขึ้นมาได้ว่า “ซูโม่ไม่ใช่กีฬาประจำชาติ” ด้วย ถ้าอย่างนั้นสรุปแล้วความจริงมันเป็นอย่างไรกันล่ะ? ด้วยความสงสัยใคร่รู้จึงขอตั้งหัวข้อนี้ขึ้นมาแชร์ประเด็นดังกล่าวเพื่อไขความกระจ่างให้กับผู้อ่านทุกคนค่ะ
กีฬาประจำชาติเลือกมาจากอะไร?
เดิมที “กีฬาประจำชาติ” หมายถึง กีฬาหรือศิลปะการต่อสู้ที่เป็นตัวแทนของประเทศนั้น ๆ เหมือนกับที่ประเทศบราซิลมีศิลปะป้องกันตัว “กาโปเอย์รา” ส่วนประเทศเกาหลีมี “เทควันโด” เป็นกีฬาประจำชาตินั่นล่ะค่ะ โดยกีฬาแต่ละประเภทที่ถูกเลือกขึ้นมาเป็นกีฬาประจำชาตินั้น ต้องมีความเกี่ยวข้องลึกซึ้งในเชิงวัฒนธรรมและเป็นที่ยอมรับหรือชื่นชอบของประชาชนของประเทศนั้นด้วย แต่หลาย ๆ ประเทศ เช่น อเมริกาที่นับกีฬาเบสบอลเป็นกีฬาประจำชาติ หรือประเทศแคนาดาที่มีกีฬาลาครอสเป็นกีฬาประจำชาตินั้นก็ไม่ได้ระบุที่มาที่ไปในเชิงวัฒนธรรมที่ชัดเจนขนาดนั้น ถึงแม้กีฬาซูโม่จะเป็นที่นิยมชมชอบจากคนญี่ปุ่นจนถูกยกให้เป็นกีฬาประจำชาติ (ตามที่เราเข้าใจ) แต่ก็ยังมีคนที่แย้งขึ้นมาว่าซูโม่ไม่ใช่กีฬาประจำชาติอยู่ดี
แล้วทำไมทุกคนจึงคิดว่าซูโม่เป็นกีฬาประจำชาติ?
การที่คนส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่าซูโม่เป็นกีฬาประจำชาตินั้น คงจะมีที่มาที่ไปอย่างแน่นอน แต่ความจริงแล้วในกรณีของประเทศญี่ปุ่นเองไม่เคยมีข้อกำหนดทางกฎหมายออกมาระบุชัดเจนเรื่องกีฬาประจำชาติเลย (?) ถ้าอย่างนั้นการที่บางคนจะคิดว่า “ยูโด” หรือ “เคนโด้” เป็นกีฬาประจำชาติด้วยก็ไม่ผิด เพราะเป็นศิลปะการต่อสู้ที่มีเทคนิคเฉพาะตัว แถมผู้ชนะการแข่งขันระดับประเทศก็จะได้รับถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระจักรพรรดิด้วย ถือว่ากีฬาทั้งสองนี้ก็มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะเป็นกีฬาประจำชาติได้เหมือนกันน่ะสิ?
เมื่อลองศึกษารายละเอียดแล้วพบว่ากีฬาซูโม่นั้นได้รับการยอมรับว่าเป็นกีฬาแห่งชาติโดยมีระบุอยู่ในเอกสารอย่างเป็นทางการอยู่ด้วยเหมือนกัน เช่น ตอนที่มูลนิธิสมาคมซูโม่ญี่ปุ่น (Japan Sumo Association) ทำการเปลี่ยนชื่อสมาคมนั้น ระบุเนื้อหาในเอกสารที่ยื่นต่อหน่วยงานในกระทรวงว่า “เราได้ทำการวิจัยซูโม่ซึ่งเป็นกีฬาประจำชาติอันมีเอกลักษณ์ของประเทศเรา” เอาไว้อย่างชัดเจน ซึ่งก็ได้รับการอนุมัติจากกระทรวงตั้งแต่สมัยโชวะที่ 41 (ค.ศ. 1966) แล้วด้วย
หรือในปีเฮเซที่ 22 (ค.ศ.2010) วันที่ 19 เมษายน ศาลได้ทำการยกฟ้องกรณีที่สองนักซูโม่ชื่อ Rouho และ Hakurou กรณีเลิกจ้างข้อหาสูบกัญชาให้กลายเป็นโมฆะโดยกล่าวว่า “ถือเป็นโทษที่หนักเกินไปสำหรับกีฬาระดับชาติเมื่อเทียบกับกีฬาอื่น”
ถึงกระนั้นก็ไม่มีหลักฐานทางกฎหมายใดที่ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า “ซูโม่เป็นกีฬาประจำชาติ” แต่อย่างใด
ที่เรียกซูโม่เป็นกีฬาประจำชาติมีต้นกำเนิดมาจากไหน?
จากที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่ากีฬาที่ได้รับเลือกให้เป็นกีฬาประจำชาตินั้นมักจะเป็นกีฬาที่ได้รับการยอมรับจากคนส่วนใหญ่ของประเทศนั้น ๆ และเป็นกีฬาที่มีความสำคัญทางด้านวัฒนธรรมของประเทศนั้นอีกด้วย หากกล่าวเช่นนี้แล้วก็ถือว่ากีฬาซูโม่ที่มีเอกลักษณ์และมีประวัติอยู่คู่ญี่ปุ่นมายาวนานนั้นมีคุณสมบัติที่เหมาะสมอย่างไม่ต้องสงสัย
ส่วนอีกหนึ่งที่มาที่น่าเชื่อถือมากที่สุดคือ ในสมัยเมจิที่ 42 (ค.ศ. 1909) ตอนที่สร้างห้องโถงสำหรับกีฬาซูโม่ที่สนามกีฬาแห่งชาติเรียวโงคุที่กรุงโตเกียวเสร็จนั้น ได้ตั้งชื่อเอาไว้ที่ตัวอาคารว่า “อาคารกีฬาประจำชาติ” ด้วย ซึ่งกล่าวกันว่าในพิธีเปิดอาคาร นักเขียนชื่อดังท่านหนึ่งชื่อ เอมิ ซุยอินได้เขียนจดหมายเสนอขึ้นอย่างเป็นทางการโดยมีเนื้อหาที่ระบุว่า “ซูโม่เป็นกีฬาประจำชาติ”
แม้หลักฐานที่มีอาจไม่สามารถชี้ชัดได้ว่ากีฬาซูโม่เป็นกีฬาประจำชาติจริงอย่างที่เราเข้าใจกันหรือไม่ก็ตาม แต่ถ้ามองประวัติความเป็นมาที่มีคุณค่าเชิงวัฒนธรรมที่คนญี่ปุ่นให้ความความสำคัญมาเป็นเวลาหลายยุคสมัยเช่นนี้แล้ว ก็ไม่อาจโต้แย้งใด ๆ ได้เลย
สรุปเนื้อหาจาก nihonbunkamura01.com, raidenkurumi.jp