ในญี่ปุ่นนั้นมีเกมกระดานที่นิยมเล่นกันเป็นวงกว้างอยู่ 2 ประเภทในญี่ปุ่นคือ หมากรุก หรือ โชงิ (将棋) และ หมากล้อม หรือ โกะ (碁) แต่ว่าเกมกระดานทั้ง 2 ประเภทนั้นไม่ได้เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่น แต่เกิดจากอารยธรรมที่เก่าแก่กว่านั้นอีก คือ อินเดีย และ จีน ที่วิวัฒนาการมาจนกลายเป็นหมากรุก และ หมากล้อม อย่างในปัจจุบัน
หมากรุก (将棋, โชงิ)
แต่เดิมนั้น เกมกระดานชนิดนี้เกิดขึ้นในอินเดีย มีชื่อเรียกว่า “จตุรงค์” (Chaturaṅga) ที่แปลว่าสี่ ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันว่าเกิดขึ้นเมื่อไรกันแน่ บางทฤษฎีกล่าวว่าค้นพบว่ามีการเล่นตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 แต่บางทฤษฎีก็ว่าหลักฐานเก่าสุดที่พบคือศตวรรษที่ 11 สรุปว่า ยังไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าเกิดเมื่อไหร่ แต่เอาเป็นว่าเก่าแก่มาก ๆ ก็แล้วกัน
ที่เรียกว่าจตุรงค์ที่แปลว่าสี่ เพราะแต่เดิมต้องใช้ผู้เล่น 4 คน แต่เล่นเป็น 2 ทีม ทีมละ 2 คน ที่มาของคำว่าสี่คือมาจาก 4 เหล่าทัพคือ ทัพช้าง ทัพม้า ทัพรถ และทัพของพลเดินเท้า ต่อมาวิวัฒนาการเหลือแค่ 2 ฝ่ายเท่านั้น เกมจตุรงค์นี้เผยแพร่ไปยังโลกตะวันตกและวิวัฒนาการเป็น Chess ส่วนที่เผยแพร่มาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็กลายเป็นหมากรุกที่นิยมเล่นกันในไทยและประเทศเพื่อนบ้านของไทย และเผยแพร่ไปที่เอเชียตะวันออกคือเข้าไปที่จีน เกาหลี และถ่ายทอดไปญี่ปุ่นในที่สุด โดยภาษาจีนกลางปัจจุบันเรียกสิ่งนี้ว่า เซี่ยงฉี (象棋) ส่วนเกาหลีเรียก ชังกี (장기) ส่วนญี่ปุ่นเรียกว่าโชงิ (将棋)
เซี่ยงฉีของจีนและชังกีของเกาหลีนั้นมีความคล้ายกันมาก มีการแบ่งสีของทั้ง 2 ฝ่ายเพื่อให้เข้าใจง่าย การเรียกตัวหมากก็คล้ายกันแทบจะใช้อักษรตัวเดียวกันหมด และการวางหมากก็จะวางบนจุดตัดของเส้นเหมือนกัน
แต่โชงิของญี่ปุ่นจะวางหมากในช่องว่างแทนที่จะวางบนจุดตัดเหมือนเซี่ยงฉีของจีนและชังกีของเกาหลี และวิธีเรียกตัวหมากก็ต่างจากของจีนและเกาหลีอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีวิวัฒนาการไปกว่านั้นอีก คือ
1) ตัวหมากไม่มีการแบ่งสีเหมือนหมากรุกตระกูลอื่น ๆ ทั่วโลกที่นิยมแบ่งด้วยสีกันหมดทั้ง Chess ตะวันตกหรือหมากรุกไทย รวมทั้งเซี่ยงฉีของจีนและชังกีของเกาหลี แต่โชงิญี่ปุ่นจะแบ่งด้วยทิศแทน คือตัวหมากของโชงิญี่ปุ่นจะมีลักษณะเป็นรูปห้าเหลี่ยมแบนราบ และเหลี่ยมที่ห้าจะมีลักษณะเหมือนลูกศรชี้ไปฝั่งตรงข้าม หมากของศัตรูก็จะชี้มาฝั่งเรา จึงแบ่ง 2 ฝ่ายด้วยทิศลูกศรของตัวหมาก จัดเป็นจุดเด่นมากของโชงิญี่ปุ่น
2) หมากรุกตระกูลอื่น จะมีเพียงหมากบางตัวที่เลื่อนยศเพื่อเพิ่มความสามารถของตัวหมากได้ แต่โชงิญี่ปุ่นนั้นตัวหมากเกือบทุกตัวในกระดานมีความสามารถเลื่อนยศได้ เวลาเลื่อนยศจะมีการพลิกหมากให้ด้านล่างหงายขึ้น และด้านล่างของหมากที่พลิกขึ้นมาจะมีอักษรตัวใหม่ที่เป็นชื่อใหม่ของหมากตัวนั้นเพื่อแสดงให้เห็นว่าอัพเกรดความสามารถแล้ว
3) หมากรุกตระกูลอื่น เวลากินแล้วคือกินเลย ไม่สามารถนำกลับมาใช้อีก แต่โชงิญี่ปุ่นนั้นเมื่อเรากินหมากของฝ่ายตรงข้ามแล้ว เรายังสามารถนำหมากของฝ่ายตรงข้ามกลับมาใช้เป็นหมากของฝ่ายเราเพื่อเพิ่มกำลังพลได้ การเติมหมากนี้มีรายละเอียดเป็นกฎเกณฑ์การเล่นที่ละเอียดซึ่งขอไม่กล่าวในที่นี้ การที่ไม่แบ่งสีหมากจึงสะดวกต่อการนำหมากของฝ่ายตรงข้ามที่กินแล้วนำกลับมาใช้อีกได้สะดวกนั่นเอง
ถ้าลองพิจารณาแล้วจะพบว่า ทั้ง Chess หมากรุกไทย เซี่ยงฉีของจีน และชังกีของเกาหลี ยังมีความคล้ายคลึงกับเกมจตุรงค์ดั้งเดิมของอินเดียอยู่บ้าง ในขณะที่โชงิของญี่ปุ่นนั้นก้าวไปไกลกว่าต้นฉบับจนกลายเป็นอะไรที่ต่างจากหมากรุกอื่น ๆ ของทั่วโลกไปเลย กลายเป็นเกมกระดานที่มีลักษณะเฉพาะตัวมาก
หมากล้อม (碁, โกะ)
หมากล้อมมีความเก่าแก่มากยิ่งกว่าจตุรงค์เสียอีก กล่าวกันว่าเก่าแก่ประมาณ 2,000 กว่าปีที่แล้ว และพัฒนาขึ้นในจีนโบราณก่อนยุคราชวงศ์ฮั่น (前漢時代) โดยแต่เดิมคาดคะเนว่าน่าจะเป็นศาสตร์แห่งการทำนายทายทักโชคชะตาของบ้านเมือง แล้วจึงวิวัฒนาการเป็นการละเล่นแบบในปัจจุบัน หมากล้อมจัดเป็นภูมิปัญญาจีนโดยแท้จริงที่พัฒนาขึ้นโดยจีน ไม่ได้รับมาจากอารยธรรมชาติอื่นเหมือนหมากรุก ว่ากันว่าหมากล้อมนั้นถ่ายทอดมาสู่ญี่ปุ่นเมื่อประมาณศตวรรษที่ 7 พร้อม ๆ กับการรับอารยธรรมจีนเข้ามาในญี่ปุ่นนั่นเอง โดยภาษาจีนกลางปัจจุบันเรียกสิ่งนี้ว่า เหวยฉี (围棋) ในขณะที่ภาษาญี่ปุ่นเรียก อิโกะ (囲碁) หรือเรียกสั้น ๆ ว่าโกะ (碁)
หมากล้อมจะต่างจากหมากรุกอย่างมาก เพราะหมากรุกของแต่ละชาติจะมีกติกาการเดินหมากที่ตายตัว หมากแต่ละตัวจะมีความสามารถเฉพาะกำกับไว้อยู่แล้ว และจุดมุ่งหมายคือเพื่อกินหมาก และมุ่งกินตัวขุนของฝ่ายตรงข้ามเป็นหลัก ในขณะที่หมากล้อมนั้น หมากทุกตัวเหมือนกันหมด คือไม่มีความสามารถเฉพาะตัวกำกับไว้ ไม่มีกฎการเดินหมาก เพราะไม่มีการเดินหมากเกิดขึ้นแต่อย่างใด เป็นการหยิบวางลงไป แล้วขยับหมากไม่ได้อีกเลย อีกทั้งจุดมุ่งหมายไม่ได้เน้นกินหมากหรือกินขุนของฝ่ายตรงข้าม แต่เน้นไปที่การชิงพื้นที่ให้ได้มากที่สุดแทน
ที่น่าสังเกตคือ หมากล้อมนั้นกลับไม่มีการวิวัฒนาการไปที่ตะวันตกแต่อย่างใด รวมทั้งไม่ได้เผยแพร่เข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในสมัยโบราณอีกด้วย หมากล้อมที่เผยแพร่ไปตะวันตกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นเพิ่งยุคใหม่เร็ว ๆ นี้หลังจากการเผยแพร่หมากล้อมด้วยชื่อแบบญี่ปุ่นคือ “โกะ” ก็แค่ไม่กี่ทศวรรษมานี้เอง ไม่ได้เป็นระดับศตวรรษเหมือนอย่างจตุรงค์แต่อย่างใด เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าจตุรงค์นั้นแพร่ไปทั่วโลกจริง ๆ ในขณะที่หมากล้อมนั้นหยุดอยู่แค่อารยธรรมเอเชียตะวันออกคือจีน ญี่ปุ่น เกาหลี เท่านั้นเอง
อย่างไรก็ตาม ตามที่เคยเขียนถึงไปแล้วในบทความ “ทำไมคนญี่ปุ่นถึงชื่นชอบการจัดอันดับและสอบวัดระดับ” จึงทำให้รู้ว่า หลายสิ่งที่มาจากจีน และในจีนไม่ได้มีการวางมาตรฐานหรือจัดอันดับไว้ แต่ญี่ปุ่นกลับมาเป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดระดับหรือสอบวัดระดับสิ่งเหล่านี้แทน และหมากล้อมก็เป็น 1 ในสิ่งเหล่านั้นที่ชาวญี่ปุ่นนำมาวางมาตรฐานใหม่ สร้างระบบนักเล่นหมากล้อมมืออาชีพ และมีการสอบระดับแบ่งเป็นคิวและดั้ง (段級位制) นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังกลายเป็นตัวตั้งตัวตีสำคัญในการเผยแพร่หมากล้อมนี้ไปทั่วโลกด้วยชื่อแบบญี่ปุ่นคือ “โกะ” แทนจีนไปเสียได้ สังเกตง่าย ๆ เวลาพูดถึงหมากล้อม เราจะได้ยินคำว่า โกะ มากกว่าคำว่า เหวยฉี อย่างแน่นอน ทั้งในไทยและในต่างประเทศ
ทั้งหมากรุก และ หมากล้อม ต่างก็เป็นอีกหลักฐานหนึ่งว่า ชาวญี่ปุ่นมีลักษณะนิสัยชอบนำสิ่งดี ๆ ของชาติอื่นมาปรับให้เข้ากับตัวเอง แล้วพัฒนาต่อจนกลายเป็น “ของญี่ปุ่น” แล้วส่งออกไปสู่ชาวโลกอีกที อันเป็นลักษณะเฉพาะของชาวญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้
เกี่ยวกับผู้เขียน
วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล เป็นคนไทยเพียงไม่กี่คนที่เคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นมาแล้วถึง 4 แห่ง โดยเคยได้รับทุนแลกเปลี่ยนระหว่างที่ว่าการจังหวัด Okinawa และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปศึกษาที่ The University of the Ryukyus รวมทั้งเคยได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่นแบบสอบผ่านสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ไปศึกษาที่ 1) Tokyo University of Foreign Studies / 2) International Christian University / และ 3) Keio University มีประสบการณ์ทำงานที่หลากหลาย เคยเป็นผู้สื่อข่าวและผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ให้บริษัท Nippon Production Service (บริษัทในเครือสถานีโทรทัศน์ NHK) / เป็นผู้สอนภาษาไทยที่สถาบันภาษาไทยหลายแห่งในโตเกียว / เป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติที่สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจและการตลาดให้บริษัท Corporate Directions Inc. ของประเทศญี่ปุ่น / เป็นผู้ก่อตั้งสาขาภาษาญี่ปุ่นธุรกิจของคณะศิลปศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ / เป็นผู้อำนวยการบริษัท AIRA Capital และเป็นทีมงานก่อตั้งบริษัท AIRA and AIFUL รวมทั้งบัตรกดเงินสด A-Money / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท TOYO Business Service / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท JECC ประเทศญี่ปุ่น / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจของบริษัท Business Consultants South East Asia / มีประสบการณ์สอนในมหาวิทยาลัยมากกว่า 10 แห่งในประเทศไทย / เป็นที่ปรึกษาและจัดฝึกอบรมให้องค์กรหลายแห่ง
ปัจจุบันมีธุรกิจเล็ก ๆ ของตัวเองคือ บริษัท Consulting Agency for Talent จำกัด ทำธุรกิจให้คำปรึกษาด้านพัฒนาองค์กรและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HROD และ HRD) / เป็นนักวิชาการอิสระ / วิทยากรอิสระ / นอกจากเขียนคอลัมน์ที่ Conomi แห่งนี้แล้ว ก็เขียนคอลัมน์ให้ธนาคารไทยพาณิชย์ / เขียนคอลัมน์ให้ The PEOPLE Online Magazine / เขียนคอลัมน์ให้ Marumura และยังคงใฝ่เรียนรู้สิ่งใหม่ต่าง ๆ อยู่เสมอแม้ว่าจะมีปริญญา 7 ใบแล้วก็ตาม
ติดตามผลงานเขียนทั้งหมดของวีรยุทธได้ที่
Facebook : รวมผลงานของวีรยุทธ – Weerayuth’s Ideas