“ความสุขจงเข้ามา! ยักษ์ร้ายจงออกไป!”
มีใครเคยเห็นภาพที่เหล่าเด็ก ๆ ญี่ปุ่นช่วยกันปาเมล็ดถั่วใส่ยักษ์กันไหมคะ สิ่งนี้ถือเป็นพิธีอย่างหนึ่งของวันเซ็ตสึบุน แล้ววันนี้เกี่ยวกับอะไร สำคัญยังไง มีที่มาจากไหน วันนี้เราจะมาเล่าให้ทุกคนได้อ่านกันค่ะ
1. เซ็ตสึบุน คืออะไร ?
เมื่อดูตามคันจิ Setsubun (節分) จะมีความหมายว่า Kisetsu wo Wakeru (季節を分ける) แปลว่า แบ่งฤดูกาล วันเซ็ตสึบุนจะหมายถึง วันก่อนวันเริ่มต้นของแต่ละฤดูกาล โดยวันเริ่มฤดูใบไม้ผลิจะเรียกว่า Risshun (立春), วันเริ่มฤดูร้อนเรียกว่า Rikka (立夏), วันเริ่มฤดูใบไม้ร่วงเรียกว่า Risshuu (立秋) และวันเริ่มฤดูหนาวเรียกว่า Rittou (立冬) วันเซ็ตสึบุนจึงหมายถึงวันก่อนวันเหล่านี้
ในสมัยก่อนผู้คนเชื่อว่าวิญญาณชั่วร้ายจะเข้ามาในช่วงเปลี่ยนฤดูกาล ดังนั้นจึงมีการจัดงานหรือพิธีกรรมต่าง ๆ เพื่อปัดเป่าวิญญาณชั่วร้าย ยิ่งในสมัยโบราณ คนญี่ปุ่นจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับฤดูใบไม้ผลิเพราะถือเป็นการเริ่มต้นปี ตั้งแต่สมัยเอโดะจนถึงปัจจุบัน วันเซ็ตสึบุนจึงใช้หมายถึงวันก่อนวัน Risshun (立春) โดยเฉพาะ
ตามปฏิทินจันทรคติจะถือว่าวัน Risshun (立春) คือวันขึ้นปีใหม่ เป็นวันแรกของปี และวันก่อนหน้าหรือวันเซ็ตสึบุนก็คือวันส่งท้ายปี ผู้คนจึงมาร่วมกันขับไล่วิญญาณชั่วร้ายหรือสิ่งอัปมงคลเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับปีใหม่ที่จะมาถึงนั่นเอง
2. เซ็ตสึบุน คือวันที่เท่าไร?
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาวัน Risshun (立春) มักจะตรงกับวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ดังนั้นคนส่วนใหญ่จึงมักเข้าใจว่าวันเซ็ตสึบุนตรงกับวันที่ 3 กุมภาพันธ์ แต่ก็ไม่ถูกต้องเสมอไป เนื่องจากเป็นการนับตามปฏิทินจันทรคติซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับดาราศาสตร์และรอบการโคจรของโลกที่คลาดเคลื่อน ทำให้วันเซ็ตสึบุนในแต่ละปีอาจมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยจากเดิม 1-2 วัน
3. ทำไมต้องปาถั่วในวันเซ็ตสึบุน ?
การปาถั่วมีมาตั้งแต่สมัยโบราณเพื่อปัดเป่าวิญญาณชั่วร้ายและภูติผีปีศาจ มีบันทึกการปาถั่วที่เก่าแก่ที่สุดที่ค้นพบได้คือในสมัยมุโรมาจิ คนสมัยก่อนเชื่อกันว่าเมล็ดถั่วมีพลังอำนาจและใช้คุ้มครองป้องกันภัยได้ และคำว่าถั่วหรือ Mame (豆) ยังพ้องเสียงกับคำว่า Mame (魔目) ที่แปลว่าตาของปีศาจ และ Mame (魔滅) ที่แปลว่าทำลายปีศาจ ผู้คนจึงจัดงานปาถั่วโดยจะปาถั่วไปที่ตาของยักษ์เพื่อขับไล่ยักษ์ให้ออกไปนั่นเอง
แต่ถั่วที่ใช้ในการปาจะไม่ใช้ถั่วดิบ แต่เป็นถั่วคั่ว ซึ่งคำว่าคั่วถั่วหรือ Mame wo Iru (豆を煎る) ยังออกเสียงคล้ายกับ Ma no Me wo Iru (魔の目を射る) แปลว่ายิงดวงตาของปีศาจอีกด้วย
4. ที่มาของวันเซ็ตสึบุนคืออะไร ?
นานมาแล้วในประเทศจีน จะมีพิธีกรรมที่เรียกว่า Tsuina (追儺) ในวันส่งท้ายปีเก่า เป็นพิธีขับไล่ปีศาจด้วยธนูที่ทำจากต้นของลูกท้อ ประเพณีนี้ได้ถ่ายทอดมาสู่ญี่ปุ่นในสมัยนาราและรวมอยู่ในงานพิธีการของราชสำนักในสมัยเฮอัน ว่ากันว่ามันค่อย ๆ แพร่กระจายในหมู่คนทั่วไปตั้งแต่สมัยมุโรมาจิถึงสมัยเอโดะ เรียกกันว่า Mame Uchi (豆打) โดยจะจัดขึ้นที่ศาลเจ้าและวัดต่าง ๆ และต่อมาคนทั่วไปก็คุ้นเคยกับการเรียกว่า Mame Maki (豆まき)
ปัจจุบันที่วัดโคฟุคุจิในจังหวัดนารายังคงมีการจัดงาน Tsuinae (追儺会) หรือพิธีไล่ยักษ์ทุกวันที่ 3 กุมภาพันธ์เป็นประจำทุกปีซึ่งก็มีผู้คนเข้าร่วมชมอย่างเนืองแน่นตามคลิปด้านบน
5. ยักษ์ในวันเซ็ตสึบุนหมายถึงอะไร ?
ดังที่กล่าวไปว่าในอดีตผู้คนเชื่อว่าวิญญาณชั่วร้ายจะย่างกรายเข้ามาเมื่อถึงช่วงเปลี่ยนฤดูกาล กล่าวอีกนัยหนึ่ง ยักษ์ยังหมายถึงเหตุการณ์อันน่าสะพรึงกลัวต่าง ๆ เหนือจินตนาการของมนุษย์ เช่น อันตรายหรือภัยพิบัติที่มองไม่เห็น ความเจ็บไข้ได้ป่วย ความอดอยาก ผู้คนมองว่าสิ่งไม่ดีเหล่านี้เป็นฝีมือของปีศาจ ดังนั้นจึงต้องทำพิธีไล่ยักษ์ไล่ปีศาจเพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกไป ให้มีแต่ความเป็นสิริมงคลและใช้ชีวิตได้อย่างสงบสุข
และดูเหมือนคำว่า Oni (鬼) ที่แปลว่ายักษ์ จะมาจากคำว่า Onu (隠) ซึ่งแปลว่า สิ่งที่มองไม่เห็น, สิ่งที่ไม่ใช่ของโลกนี้ อีกด้วย เพราะสำหรับคนในสมัยก่อน สิ่งที่มองไม่เห็นหรือควบคุมไม่ได้นั้นถือเป็นสิ่งที่น่ากลัวอย่างแท้จริง
6. โชคลาภจงเข้ามา! ยักษ์ร้ายจงออกไป!
เมื่อพูดถึงการปาถั่วในวันเซ็ตสึบุนคนญี่ปุ่นจะนิยมพูดกันว่า “Fuku wa Uchi! Oni wa Soto! (福は内! 鬼は外!)” แปลว่า “ความสุขจงเข้ามา! ยักษ์ร้ายจงออกไป!” แต่ก็มีรูปแบบที่แตกต่างกันตามท้องถิ่น อย่างเช่น ที่วัดชินเก็นจิซึ่งประดิษฐานเทพยักษ์ Kishimojin (鬼子母神) หรือเทพหารีตี จะพูดว่า
“Fuku wa Uchi! Oni wa Soto! (福は内! 鬼は外!)”
แปลว่า “ความสุขจงเข้ามา! ความชั่วร้ายจงออกไป!”
หรือที่วัดคิมปุเซ็นจิที่จังหวัดนารา จะพูดว่า
“Fuku wa Uchi! Oni mo Uchi! (福は内! 鬼も内!)”
แปลว่า “ความสุขจงเข้ามา! ยักษ์ร้ายจงเข้ามา!”
เพื่อเป็นการเปลี่ยนให้ปีศาจกลับตัวกลับใจนั่นเอง
เป็นยังไงกันบ้างคะ ทีนี้ก็รู้กันแล้วเนอะว่าไอ้เทศกาลปาถั่วใส่ยักษ์คืออะไร นอกจากข้อมูลในบทความข้างต้นที่เรานำมาฝากแล้วในเทศกาลนี้ก็ยังมี อาหาร ที่มักจะรับประทานกันตามธรรมเนียมด้วยนะคะ ใครสนใจอ่านต่อคลิกอ่านได้ที่บทความ เอโฮมากิ ได้เลย!
สรุปเนื้อหาจาก jp.pokke