12 เมษายน นอกจากจะใกล้เข้าสู่ช่วงเทศกาลสงกรานต์บ้านเราแล้ว ยังถือเป็นวันขนมปังของประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย! เราไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจของวันขนมปังในญี่ปุ่นกันค่ะ
ประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจของ วันขนมปัง
ในศตวรรษที่ 16 เมื่อชาวโปรตุเกสมาถึงญี่ปุ่นและนำวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาสู่ญี่ปุ่น เหล่ามิชชันนารีก็ได้นำอาหารชนิดหนึ่งเข้ามาพร้อมกับขนมคาสเทลล่า อาหารชนิดนั้นเรียกว่า Pao ต่อมาชาวญี่ปุ่นก็รู้จักอาหารชนิดนี้โดยเรียกว่า Pan (ปัง) แต่ความจริงแล้ว หลังจากมิชชันนารีนำขนมปังเข้ามาในญี่ปุ่น ขนมปังก็ไม่ได้เป็นที่นิยมในหมู่ชาวญี่ปุ่นมากนัก ชาวญี่ปุ่นเริ่มรับประทานขนมปังกันอย่างจริงจังก็เข้าสมัยเมจิ เมื่ออาหารตะวันตกเริ่มได้รับความนิยม ขนมปังก็ถูกนำเข้ามากขึ้น จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอาหารของชาวญี่ปุ่นไป
การทำขนมปังในญี่ปุ่นเริ่มอย่างจริงจังในวันที่ 12 เมษายน 1842 ในเวลานั้น Egawa Tarozaemon เจ้าหน้าที่ที่อาศัยอยู่ในเมืองนิรายามะ จังหวัดชิสุโอกะ มองว่าขนมปังเหมาะสำหรับเหล่าทหารในช่วงสงคราม เนื่องจากมีน้ำหนักเบา พกพาสะดวก และไม่ต้องหุงก่อนทานเหมือนข้าว ในปี 1842 เขาจึงจัดหาสถานที่สำหรับทำขนมปังและได้เชิญเชฟจากนางาซากิให้มาสร้างเตาอบ เขาได้ทอดลองอบขนมปังในวันที่ 12 เมษายน เรียกได้ว่าเป็นขนมปังที่อบโดยคนญี่ปุ่นเพื่อคนญี่ปุ่นเอง
เพื่อเป็นการระลึกถึง Tarozaemon บิดาแห่งขนมปังและวันอันน่าจดจำนี้ ร้านเบเกอรี่ทั่วประเทศจึงจัดการเฉลิมฉลองให้วันที่ 12 เมษายนของทุกปีเป็น วันที่ระลึกถึงขนมปัง และให้วันที่ 12 ของทุกเดือนเป็น วันขนมปัง
หลังสงคราม ขนมปังได้แพร่หลายบนโต๊ะอาหารของครอบครัวชาวญี่ปุ่น จนปัจจุบันก็สามารถหาซื้อได้ง่ายตามซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อ นอกจากนี้ยังมีขนมปังที่เป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นอีกมากมาย เช่น เมล่อนปัง อันปัง ให้เราได้ทานกันในปัจจุบัน
คำว่าขนมปัง ในภาษาสเปนคือ Pan ในภาษาฝรั่งเศสคือ Pain ทั้งสองคำนี้มาจากคำว่า Panis ในภาษาละติน เดิมแปลว่า อาหาร แต่เมื่อเวลาผ่านไป คำนี้ก็ใช้หมายถึงอาหารทุกชนิดที่เป็นการนำแป้ง ยีสต์ เกลือ น้ำ มาผสมกัน หมักแล้วนำไปอบ ออกมาเป็นขนมปัง ในทางกลับกัน คำว่าขนมปังในภาษาอังกฤษคือ Bread ในภาษาดัตช์คือ Brood ในภาษาเยอรมันคือ Brot ทั้ง 3 คำมีต้นกำเนิดมาจากคำว่า Brauen ในภาษาเจอร์แมนิก แปลว่า การหมัก
สรุปเนื้อหาจาก mag.japaaan