
เครื่องรางญี่ปุ่นควรถือไว้ไม่เกิน 1 ปี ถ้าเกินแล้วจะโชคไม่ดี หลาย ๆ คนอาจจะเคยได้ยินคำกล่าวอะไรแบบนี้มาบ้าง แล้วอย่างนี้ควรทำอย่างไร หรือถือเกิน 1 ปีไม่ดีจริงหรือเปล่า? แล้วหากต้องการทิ้งเครื่องรางควรทำอย่างไร ไปดูวิธีการทิ้งเครื่องรางอย่างถูกวิธีกันค่ะ
ทำไมถึงเชื่อกันว่าไม่ควรถือนานเกินไป?
ว่ากันว่าในเครื่องรางมีเทพเจ้าสถิตอยู่ เทพเจ้าจะเป็นผู้รับสิ่งชั่วร้ายแทนเรา เมื่อถือไว้นาน ๆ พลังในการปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายจึงค่อย ๆ อ่อนแอลง และยังมีความเชื่อที่ว่าเครื่องรางรับสิ่งไม่ดีมาเรื่อยๆ จนสะสม ทำให้เทพเจ้าออกจากเครื่องราง และเรียกสิ่งไม่ดีเข้ามาแทน จึงมีความเชื่อกันว่าไม่ควรถือเครื่องรางไว้นานเกินไปค่ะ
แล้วถือเครื่องรางไว้นานเกิน 1 ปี ไม่ดีจริงหรือ?
คำตอบคือ ไม่จริง
ในความเป็นจริงแล้วเครื่องรางเป็นสิ่งนำโชคที่ไว้ขับไล่สิ่งชั่วร้าย คุ้มครองให้เราปลอดภัย และเรียกโชคลาภให้กับเรา เครื่องรางเต็มไปด้วยพลังจากเทพเจ้า เพราะฉะนั้นจึงไม่มีทางที่เทพเจ้าจะนำสิ่งไม่ดีมาให้กับเราค่ะ
โดยปกติแล้วเชื่อกันว่าเครื่องรางควรจะนำไปคืน และเปลี่ยนใหม่ทุก 1 ปีค่ะ เนื่องจากเครื่องรางจะช่วยขับไล่สิ่งชั่วร้าย คุ้มครอง และเรียกโชคลาภให้เราตลอดทั้งปี เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปีแล้วจึงควรเปลี่ยนเป็นอันใหม่ในปีถัดไป หรือมีความเชื่อว่าเครื่องรางจะมีผลเพียงแค่ 1 ปีเท่านั้น จึงควรเปลี่ยนใหม่ทุก ๆ 1 ปี
ทิ้งเครื่องรางทำอย่างไรได้บ้าง?
ถึงแม้ว่าการถือเครื่องรางไว้นานจะไม่ใช่สิ่งไม่ดีอะไร แต่หากอยากจะทิ้งล่ะ ควรทำอย่างไรดี ผู้เขียนขอแนะนำ 4 วิธีในการทิ้งค่ะ
1) นำไปคืนที่วัดหรือศาลเจ้า
วิธีแรกคือการนำไปคือวัดหรือศาลเจ้า โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นวัดหรือศาลเจ้าที่เราไปซื้อมา หากไม่สะดวกในการเดินทาง เราสามารถนำไปคืนที่วัดไหนก็ได้ค่ะ เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายปีไปจนถึงต้นปี ตามวัดหรือศาลเจ้าจะมีซุ้มสำหรับฝากเครื่องรางเก่าให้เราสามารถนำไปคืนได้ ตอนคืนก็อย่าลืมกล่าวขอบคุณ และนำไปคืนพร้อมกับเงินสำหรับฝากศาลเจ้าทิ้งด้วยนะคะ
ข้อควรระวังก็คือหากซื้อมาจากศาลเจ้าให้นำไปคืนที่ศาลเจ้า หากซื้อมาจากวัดให้นำไปคืนที่วัด เนื่องจากวัดและศาลเจ้าถือเป็นคนละศาสนากัน เพราะฉะนั้นเพื่อไม่ให้เป็นการเสียมารยาทต่อเทพเจ้า ควรคืนให้ถูกที่ค่ะ
2) ส่งไปรษณีย์ไปคืนวัดหรือศาลเจ้า
หากไม่สามารถนำไปคืนที่วัดหรือศาลเจ้าจริงๆ ก็สามารถส่งไปรษณีย์ไปคืนได้ค่ะ
ในกรณีที่จะคืนด้วยการส่งไปรษณีย์ ควรจะตรวจสอบก่อนว่าวัดหรือศาลเจ้าที่เราซื้อมานั้นรับการคืนแบบส่งไปรษณีย์หรือไม่ หากที่วัดหรือศาลเจ้ารับคืนแบบส่งไปรษณีย์ก็ใส่ซองส่งไปพร้อมกับเงิน และจดหมายขอบคุณได้
สำหรับเครื่องรางที่เรานำไปคืนหรือส่งไปคืน ทางวัดหรือศาลเจ้าจะนำไปทำพิธีเผาต่อไปค่ะ ช่วงเวลาทำพิธีเผาก็จะแล้วแต่วัด แต่ส่วนใหญ่จะจัดช่วงปลายปีหรือต้นปี
3) นำไปเผาพร้อมพิธี dondoyaki
พิธี dondoyaki (どんど焼き) เป็นพิธีเผาเชือกชิเมนาวะ (เชือกหนา ๆ ที่พันไว้หน้าไว้ศาลเจ้า) หรือของตกแต่งในเทศกาลปีใหม่ เพื่อส่งเทพเจ้าแห่งปีใหม่ขึ้นสู่ท้องฟ้า ส่วนใหญ่จะจัดขึ้นช่วงวันที่ 8-15 ของเดือนมกราคม บางทีวัดหรือศาลเจ้าจะรับเผาเครื่องรางไปพร้อมกับของที่จะเผาด้วย จึงสามารถนำไปฝากเผาพร้อมกันได้ ทั้งนี้ต้องตรวจสอบอีกทีว่าวัดหรือศาลเจ้ารับเผาให้ด้วยหรือไม่ แต่ก่อนจะนำไปฝากศาลเจ้าเผา เราจะต้องชำระล้างเครื่องรางก่อนเล็กน้อย
วิธีชำระล้างเครื่องราง
- นำกระดาษขาวปู จากนั้นวางเครื่องรางด้านบน
- หยิบเกลือกำมือหนึ่ง จากนั้นโรยโดยหมุนไปรอบเครื่องรางทางซ้าย 1 ครั้ง ทางขวา 1 ครั้ง และกลับมาทางซ้ายอีก 1 ครั้ง
- นำกระดาษขาวที่ปูไว้ห่อเครื่องราง
4) เผาเองที่บ้าน
วิธีสุดท้ายก็คือ การเผาเองที่บ้าน
ก่อนเผาจะต้องทำการชำระล้างเครื่องรางก่อน ซึ่งวิธีชำระล้างก็เหมือนกับวิธีชำระล้างก่อนนำไปเผาพร้อมพิธี dondoyaki ข้างต้น เมื่อทำการชำระล้างเสร็จแล้ว จึงจุดไฟ ใส่เกลือลงไปหยิบมือหนึ่งแล้วเผา
หรืออีกวิธีที่ง่ายที่สุดสำหรับคนญี่ปุ่นก็คือการนำไปเผาพร้อมขยะเผาได้ แต่บ้างก็คิดว่าการนำไปเผาพร้อมขยะเผาได้จะโชคร้าย หลายคนจึงแนะนำว่านำไปคืนศาลเจ้าหรือวัดดีกว่าค่ะ
เชื่อว่าผู้ชื่นชอบการท่องเที่ยวญี่ปุ่นจะต้องเคยซื้อเครื่องรางจากศาลเจ้าหรือวัดญี่ปุ่นกันแน่นอน หากกลับไทยมาแล้ว ไม่มีโอกาสได้ทิ้งก็ไม่ต้องกังวลไป หรือหากมีโอกาสกลับไปเที่ยวญี่ปุ่นก็เลือกวิธีทิ้งตามสะดวกกันได้เลยค่ะ