“โอบ้ง” โดยทั่วไปหมายถึง ช่วงเวลาของการต้อนรับวิญญาณบรรพบุรุษและเป็นเทศกาลที่เราแสดงความกตัญญู หรือจัดงานรำลึกเพื่อส่งพวกเขาไปยังสวรรค์อีกครั้ง คงคล้าย ๆ กับ เทศกาลสารทจีนหรือวันไหว้บรรพบุรุษที่คนไทยรู้จักกันดี
ทำไมถึงมีทั้ง “โอบ้งเดือนกรกฎาคม” และ “โอบ้งเดือนสิงหาคม”
เทศกาลโอบ้งที่ญี่ปุ่นจะจัดขึ้น 2 ช่วงเวลา ได้แก่ เดือน กรกฎาคม และ สิงหาคม ตามลำดับ แต่เทศกาลโอบ้งที่จัดในเดือนสิงหาคมจะถูกเรียกอีกชื่อว่า คิวบ้ง ซึ่งมีความหมายว่า เทศกาลโอบ้งตอนปลาย
แล้วทำไมถึงมี 2 ช่วงเวลาล่ะ? หากเราย้อนดูตามปฏิทินโบราณ จะเห็นว่า ช่วงเวลาโอบ้งเดิม คือวันที่ 13 กรกฎาคม (ช่วงต้น) ถึง 16 กรกฎาคม (ช่วงปลาย) แม้ว่าทุกวันนี้ จะมีการเปลี่ยนแปลงเวลาตามระบบปฏิทินปัจจุบันแล้ว แต่ช่วงเวลานี้ก็ยังถือว่าเป็นโอบ้งในบางพื้นที่อยู่ค่ะ คล้าย ๆ กับกรณีของ วันทานาบาตะ ที่บางพื้นที่ก็ยึดวันตามปฏิทินเดิม (เดือนสิงหาคม) แต่บางพื้นที่ก็ยึดตามปฎิทินใหม่ (วันที่ 7 กรกฏาคม)
โอบ้งเองก็เช่นกัน แม้สำหรับพื้นที่ใจกลางกรุงโตเกียวจะคือช่วงกรกฎาคม แต่ในหลายภูมิภาคอื่นของประเทศญี่ปุ่น ก็จะจัดในช่วง ตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม (ช่วงต้น) ถึง 16 สิงหาคม (สิ้นสุดโอบ้ง) อย่างที่เราคุ้นเคยกันดีค่ะ
ความแตกต่างของโอบ้งทั้งสองเดือน
มีหลายทฤษฎีให้คำอธิบายเหตุผลสนับสนุนของการจัดโอบ้งช่วงเดือนกรกฎาคมว่า เทศกาลโอบ้งในช่วงเดือนกรกฎาคม จะถูกจัดขึ้นในฤดูกาลที่คึกคักที่สุด เพราะเป็นช่วงที่มีกิจกรรมและเทศกาลทางการเกษตรมากที่สุด
ส่วนเทศกาลโอบ้งในเดือนสิงหาคมมักเรียกว่า “วันหยุดโอบ้ง” แต่กระนั้นเทศกาลโอบ้งเองไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยบริษัทหลายแห่งจะปิดให้บริการในช่วงโอบ้งตามนโยบายของแต่ละบริษัทเอง
โดยสรุปแล้ว ถ้าจะให้เข้าใจง่าย ๆ เป็นภาษาไทย เทศกาลโอบ้ง ก็น่าจะหมายถึง เทศกาลไหว้บรรพบุรุษค่ะ เป็นช่วงที่หลายคนกลับภูมิลำเนาเพื่อไปรวมตัวกัน รำลึงถึงปู่ย่าตายาย หรือคนในครอบครัวที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นอีกเทศกาลที่ทำให้คนญี่ปุ่นหลายคนที่อาจจะต้องเข้ามาทำงานไกลบ้าน ได้กลับไปใช้เวลากับครอบครัว จัดขึ้นกลางปีก็เหมือนได้พักเบรคกลับไปชาร์ตพลังที่บ้านก่อนกลับมาทำงานไกลบ้านอีกครั้งค่ะ
สรุปเนื้อหาจาก: news.1242.com
เขียนโดย: にゃんまる