รู้กันหรือไม่ว่า ปลาดุก ในประเทศญี่ปุ่นเป็นสัญลักษณ์ของแผ่นดินไหวและเชื่อกันว่าปลาดุกนี่แหละทำให้เกิดแผ่นดินไหว บทความนี้เราจะมาสำรวจกันว่ามันมาเกี่ยวข้องกันได้อย่างไรและเกี่ยวกันตั้งแต่เมื่อไร
ความเชื่อเกี่ยวกับแผ่นดินไหวในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น
ความเชื่อเรื่องแผ่นดินไหวและเทพเจ้าในญี่ปุ่นโบราณ
ในสมัยนารา (ค.ศ. 710 – 794) มีการบันทึกเกี่ยวกับแผ่นดินไหวเป็นครั้งแรกในชุดพงศาวดารที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น นิฮงโชกิ (Nihonshoki, 日本書紀) โดยแผ่นดินไหวครั้งนั้นถูกเรียกว่า แผ่นดินไหวยามาโตะ เพราะเกิดในปี ค.ศ. 416 ที่แคว้นยามาโตะ (ปัจจุบันคือจังหวัดนารา) และคาดว่าในความเชื่อโบราณแผ่นดินไหวเกิดจากเทพเจ้า เพราะในบันทึกชุดเดียวกันมีการกล่าวถึงช่วงหลังเกิดแผ่นดินไหวปี ค.ศ. 599 ว่ามีการบวงสรวงเทพนาอิโนคามิ (Nainokami, なゐの神) หรือเทพเจ้าแห่งแผ่นดินไหวโดยจักรพรรดินีซุยโกะ (Suikotennou, 推古天皇) ดังนั้นความเชื่อเรื่องปลาดุกเป็นสาเหตุของแผ่นดินไหวนั้นไม่ใช่ความเชื่อที่มีมาแต่เดิมแต่อย่างใด
ความเชื่อเรื่องแผ่นดินไหวก่อนยุคเอโดะ
ต่อมาในช่วงยุคกลางของญี่ปุ่น (ประมาณช่วง ค.ศ 1001-1603) มีการประสานความเชื่อดั้งเดิมของญี่ปุ่นว่าด้วยเรื่องเทพเจ้าแห่งแผ่นดินไหวกับความเชื่อเรื่องวิถีองเมียว (Onmyoudou, 陰陽道) ซึ่งมีพื้นฐานความเชื่อมาจากลัทธิเต๋าของจีน จนเกิดเป็นมุมมองต่อแผ่นดินไหวที่ไม่เหมือนใครว่า “ใต้แผ่นดินหมู่เกาะญี่ปุ่นมีสัตว์ที่คล้ายกับมังกรหลับไหลอยู่ หากมันพิโรธขึ้นมาเมื่อไรจะเกิดแผ่นดินไหวขึ้น” ซึ่งก็คาดกันว่า สิ่งที่คล้ายกับมังกรก็ค่อยๆ เปลี่ยนกลายมาเป็นปลาดุกในช่วงนี้นั่นเอง เพราะในจดหมายที่ ฮิเดโยชิ โตโยโตมิ เขียนถึงผู้ปกครองจังหวัดเกียวโต (Kyoutoshoshidai, 京都所司代) เกี่ยวกับการก่อสร้างปราสาทฟูชิมิ ได้มีช่วงหนึ่งของจดหมายที่กล่าวไว้ว่า “การก่อสร้างต้องคำนึงถึงปลาดุก” ซึ่งปลาดุกในจดหมายนี้หมายถึงแผ่นดินไหว จึงเป็นไปได้ว่าความเชื่อที่ว่าแผ่นดินไหวเกิดจากปลาดุกนั้นเริ่มต้นในช่วงก่อนเข้าสมัยเอโดะ
แม่ทัพกับหมวกเกราะปลาดุก
ในช่วงยุคสงครามกลางเมือง (Sengokujidai, 戦国時代) เหล่าแม่ทัพมีการสวมหมวกเกราะรูปร่างแปลกตามากมาย เพื่อให้เด่นชัดบนสนามในสนามรบ และเป็นสัญลักษณ์ที่เป็นมงคล หรือเพื่อสื่อถึงความเชื่อของตน ซึ่งในช่วงนี้คนญี่ปุ่นก็เชื่อกันแล้วว่าปลาดุกทำให้เกิดแผ่นดินไหว หมวกเกราะที่มีต้นแบบจากปลาดุกจึงเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงว่าตนมีอิทธิฤทธิ์แก่กล้าเหมือนปลาดุกยักษ์ที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหว
“ภาพพิมพ์ปลาดุก” ศิลปะกับแผ่นดินไหว
ในปี ค.ศ. 1855 ยุคเอโดะ เกิดแผ่นดินไหวอันเซย์ (Anseijishin, 安政地震) แผ่นดินไหวระดับ 7 แมกนิจูด ศูนย์กลางอยู่ตอนเหนือของท่าเรือโตเกียว ภายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวมีภาพพิมพ์ปลาดุก (Namazue, 鯰絵) ผลิตออกมาในตลาดเป็นจำนวนมาก โดยทั่วไปองค์ประกอบภาพของภาพพิมพ์ปลาดุกคือ ปลาดุก หรือปลาดุกยักษ์ หินปิดผนึก (Kanameishi. 要石) เทพทาเคมิตาซึจิ (Takemitaduchi, タケミタヅチ) อนึ่งหินปิดผนึก คือหินที่จะอยู่ตามศาลเจ้าและเชื่อว่าเอาไว้สะกดแผ่นหรือไหวและภัยพิบัติหรือสิ่งที่ก่อให้เกิดภัยพิบัติ เช่น หินปิดผนึกในศาลเจ้าคาชิมะ (Kashimajinja, 加島神社) ที่เอาไว้สะกดปลาดุกยักษ์ที่อยู่ใต้ดิน ส่วนเทพทาเคมิตาซึจิ เป็นเทพผู้พิทักษ์คาชิมะ และเป็นผู้สะกดปลาดุกยักษ์เอาไว้
อย่างไรก็ตามภาพพิมพ์และสิ่งพิมพ์ในช่วงยุคเอโดะจะได้รับการตรวจทานและเซนเซอร์จากรัฐบาลอย่างหนักและภาพพิมพ์ปลาดุกมักไม่ผ่านจากเซนเซอร์เสียเท่าไหร่ กระนั้นภาพพิมพ์ปลาดุกก็เป็นที่ต้องการเพราะถือเป็นเครื่องรางกันภัยจากแผ่นดินไหวและเท่าที่สามารถตรวจสอบได้ปัจจุบันหลงเหลือถึง 250 ภาพ
ข้อสันนิษฐานทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวปลาดุกและแผ่นดินไหว
แน่นอนว่าปลาดุกไม่ได้ก่อให้เกิดแผ่นดินไหวแต่อย่างใด เป็นเพียงความเชื่อของชาวญี่ปุ่นในสมัยก่อน แต่ว่ากันว่าปลาดุกอาจจะเป็นตัวบอกเหตุและทำนายแผ่นดินไหวให้กับเราได้ ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 มีการทดลองนำปลาดุกสายพันธุ์ยุโรปมาศึกษาความอ่อนไหวต่อกระแสไฟฟ้าและค้นพบว่าปลาดุกมีผิวหนังที่รับกระแสไฟฟ้าได้ดี จึงเป็นเหตุให้ในช่วงก่อนเกิดแผ่นดินไหวที่สนามแม่เหล็กไฟฟ้ารอบ ๆ เกิดการแปรปรวน ปลาดุกมีพฤติกรรมที่ผิดปกติไปด้วยนั่นเอง ซึ่งทฤษฎีดังกล่าวก็สอดคล้องกับเอกสารที่บันทึกว่าก่อนเกิดแผ่นดินไหวอันเซย์ พบเห็นปลาดุกมีพฤติกรรมดูบ้าคลั่ง
อนึ่งส่วนสัมผัสรับกระแสไฟฟ้าของปลาดุกนั้นก็สันนิษฐานกันว่ามีไว้ใช้ในการรับรู้การเคลื่อนไหวของสิ่งมีชีวิตเพื่อล่าเหยื่อและหลบหนีจากผู้ล่า เพราะเซลล์บางชนิดในสิ่งมีชีวิตนั้นจะมีการส่งกระแสไฟฟ้าอ่อน ๆ ระหว่างการส่งสัญญาณเซลล์ (Cell signaling) ดังนั้นจึงสันนิษฐานกันว่าปลาดุกอาจรับรู้ความผิดปกติของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าได้นั่นเอง
ทว่าแม้ทางทฤษฎีจะเป็นเช่นนั้นแต่ปัจจุบันก็ยังขาดการทดลองเพื่อยืนยันว่าปลาดุกรับรู้และตอบสนองต่อแผ่นดินไหวได้จริงอยู่ดี ดังนั้นในอนาคตความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์อาจทำให้เราได้เห็นคำอธิบายที่เป็นรูปธรรมมากกว่านี้ก็เป็นได้
เรียบเรียงโดย หนัดโต นัตโตะ
ที่มา pengin-omusubi mto.ne.jp ncbi.nlm.nih.gov