ขนมโมนากะ (最中) คือวากาชิประเภทหนึ่งที่นำแป้งโมจิไปอบในแม่พิมพ์จนเป็นแผ่นบางกรอบ แล้วนำ 2 แผ่นมาประกบกัน นิยมสอดไส้ถั่วแดง เป็นขนมญี่ปุ่นผู้คนนิยมทานกันมานานร่วมถึงนักท่องเที่ยวก็นิยมซื้อกลับไปเป็นของฝาก แต่รู้ไหมคะว่าโมนากะมีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจมาก ทั้งที่มาของชื่อและตัวขนมเองที่แตกต่างจากปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง! ครั้งนี้เราจะมาเล่าถึงต้นกำเนิดของโมนากะแสนอร่อยกันให้เพื่อน ๆ ได้อ่านกันค่ะ
ชื่อโมนากะมาจากความงดงามของดวงจันทร์
ที่มาโมนากะเราจะแบ่งเป็น 2 ส่วนเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นคือที่มาของ ชื่อ กับ ตัวขนม เรามาเริ่มในส่วนของชื่อกันก่อนนะคะ ที่มาของชื่อขนมชนิดนี้ว่ากันว่าย้อนกลับไปในช่วงงานชมจันทร์ ณ ราชสำนักแห่งหนึ่งในสมัยเฮอัน มีนักกวีนามว่า มินาโมโตะ โนะ ชิตะโก (源順) ได้ประพันธ์บทกวีไว้ว่า
「水の面に 照る月なみを 数ふれば 今宵ぞ秋の 最中なりける」
"พระจันทร์ที่สะท้อนบนผิวน้ำนั้นสวยงามเพราะเป็นพระจันทร์กลางฤดูใบไม้ร่วง"
ต้องอธิบายเสริมเล็กน้อยก่อนว่าพระจันทร์กลางฤดูใบไม้ร่วงในภาษาญี่ปุ่นมีคำเรียกว่า จูชู โนะ เมเก็ทสึ (中秋の名月) แปลว่า Harvest Moon หมายถึงพระจันทร์ที่ขึ้นในคืนวันที่ 15 สิงหาคม ซึ่งตรงกับกลางฤดูใบไม้ร่วงตามปฏิทินจันทรคติ เรียกได้อีกชื่อว่า โมนากะ โนะ ทสึกิ (最中の月) แปลตรงตัวว่าพระจันทร์ที่อยู่กึ่งกลาง ซึ่งก็หมายถึงพระจันทร์กลางฤดูใบไม้ร่วงนั่นเอง และได้ชื่อว่าเป็นพระจันทร์ที่สวยที่สุดในญี่ปุ่น
ในงานเลี้ยงชมจันทร์จะมีการเสิร์ฟโมจิทรงกลมที่ดูสวยงามดั่งพระจันทร์นี้ เหล่าขุนนางจึงตั้งชื่อขนมโมจิที่เสิร์ฟในงานเลี้ยงว่า โมนากะ โนะ ทสึกิ (最中の月) อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ชื่อขนมโมนากะ โนะ ทสึกิจะเกิดขึ้นมาแล้วแต่ก็ยังไม่ได้แพร่กระจายไปยังคนทั่วไปนัก กว่าจะเป็นที่รู้จักก็เข้าสู่สมัยสมัยเอโดะ ตอนนี้เราได้รู้มาของชื่อกันแล้ว ต่อไปเราจะไปดูที่มาของตัวขนมชนิดนี้จากในสมัยเอโดะกันค่ะ
โมนากะในสมัยเอโดะถือกำเนิดใกล้ย่านโคมแดง
ในช่วงกลางสมัยเอโดะที่ตระกูลโทคุกาวะปกครองประเทศ มีร้านเซ็มเบ้ตั้งอยู่ใกล้กับโยชิวาระที่เป็นย่านโคมแดงชื่อว่า ทาเคมุระ อิเสะ (竹村伊勢) ร้านนี้ได้เริ่มคิดค้นและวางจำหน่ายขนมโมนากะ โนะ ทสึกิขึ้นมาจริง ๆ แต่ในตอนนั้นขนมโมนากะ โนะ ทสึกิไม่ได้มีหน้าตาเหมือนในปัจจุบัน เพราะทำโดยการผสมแป้งโมจิกับน้ำ นวดและนำไปอบ จากนั้นนำมารีดเป็นแผ่นแล้วตัดเป็นทรงกลม ค่อยนำไปย่างแล้วโรยน้ำตาล สุดท้ายแล้วก็จะได้หน้าตาออกมาคล้ายเซมเบ้นั่นเองค่ะ
หากเป็นในสมัยปัจจุบันขนมที่โรยแค่น้ำตาลอย่างเดียวแบบนี้อาจดูไม่มีอะไรมาก แต่ลองจินตนาการถึงสมัยนั้นที่น้ำตาลถือเป็นของหรูหรามีค่าดูสิคะ! โดยน้ำตาล 1 กิโลกรัมมีราคาสูงกว่าราคาปัจจุบันถึง 25 เท่า ขนมชนิดนี้จึงอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นนขนมที่แพงอาเรื่องเลยทีเดียว ทั้งนี้ด้วยราคาของน้ำตาลบวกกับตัวร้านที่เปิดใกล้ย่านโคมแดง จึงอาจจะเป็นการออกสินค้าใหม่เพื่อให้เหล่าชายหนุ่มมาซื้อโมนากะเพื่อนำไปมอบเป็นของที่ระลึกให้กับเหล่าหญิงสาวที่ตนพึงใจก็เป็นไปได้เช่นกัน
โมนากะสมัยใหม่และเซ็ปปุกุโมนากะที่ป๊อปปูล่าในหมู่ Business Man
ในสมัยเอโดะ จากโมนากะ โนะ ทสึกิที่โรยด้วยน้ำตาลก็เริ่มีการนำมาประกบกับถั่วแดง ทำให้ค่อย ๆ ได้รับความนิยมในชื่อ โมนากะมันจู และวางจำหน่ายตามร้านขนมญี่ปุ่นมากมาย ต่อมาด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการทำแม่พิมพ์ โมนากะจึงถูกทำเป็นรูปทรงต่าง ๆ หลายแบบทั้งทรงกลม สี่เหลี่ยม หรือรูปหัวใจ และถูกเรียกแบบย่อ ๆ ว่า โมนากะ (最中)
ปัจจุบันขนมชนิดนี้ก็ได้กลายเป็นหนึ่งในขนมญี่ปุ่นที่วางจำหน่ายในหลากหลายรูปแบบมากกว่าเดิม เช่น ไอซ์โมนากะที่มีไส้เป็นไอศกรีม โอซุยโมโนะโมนากะที่เพียงเทน้ำร้อนก็ทานเป็นซุปใสแสนอร่อยได้ เป็นต้น
โมนากะอีกชนิดที่มีที่มาน่าสนใจและไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ เซ็ปปุกุโมนากะ หรือ โมนากะคว้านท้อง ซึ่งเป็นสินค้ายอดนิยมของร้าน Shinshodoh โมนากะชนิดนี้เริ่มจากการที่เจ้าของร้านต้องการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้เป็นสินค้าพิเศษของร้าน เนื่องด้วยตัวร้านค้าตั้งอยู่ในบริเวณที่เคยเป็นคฤหาสน์ทามุระที่ซึ่ง อาซาโนะทาคุมิ โนะ คามิ (浅野内匠頭) ไดเมียวในสมัยเอโดะเคยทำพิธีเซ็ปปุกุ เจ้าของร้านจึงออกสินค้าเป็นเซ็ปปุกุโมนากะ โมนากะที่มีกิมมิกดูเหมือนถูกคว้านท้องจนเห็นไส้ถั่วแดงแบบเน้น ๆ
ดูโพสต์นี้บน Instagram
ในตอนแรกมีการทำแบบสอบถามเกี่ยวกับสินค้าใหม่นี้จากทั้งหมด 119 คน ปรากฎว่ามีคนไม่เห็นด้วยถึง 118 คน! แต่เจ้าของร้านก็ยังคงมีความหวังแม้จะมีคนเห็นด้วยเพียง 1 คนก็ตาม หลังจากวางจำหน่ายเซ็ปปุกุโมนากะไปก็ขายแทบไม่ได้เลย มีเพียงลูกค้าที่มาตามรอยประวัติศาสตร์และซื้อไปเป็นของฝากบ้าง ต่อมาวันหนึ่ง ลูกค้าประจำซึ่งเป็นผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์ทำงานผิดพลาดอย่างมากจึงมาที่ร้านเพื่อหาซื้อของฝากกลับไปขอโทษ เจ้าของร้านจึงเสนอเซ็ปปุกุโมนากะให้ สัปดาห์ต่อมา ลูกค้าคนนั้นก็กลับมาแล้วบอกว่า “ขอบคุณมากสำหรับเซ็ปปุกุโมนากะ ทางฝ่ายนั้นเขายกโทษให้แล้ว” เรื่องราวนี้ถูกเล่าขานต่อกันไปเรื่อย ๆ จนออกเป็นข่าว เซ็ปปุกุโมนากะจึงโด่งดังไปทั่วประเทศและกลายเป็นสินค้ายอดฮิตที่ขายได้ 2,000-3,000 ชิ้นต่อวัน จัดเป็นสินค้าที่เป็นที่นิยมในหมู่ Business Man สื่อถึงการขอโทษหรือต้องการเปิดอกเปิดใจกับลูกน้อง จากตอนแรกที่ตั้งใจให้เป็นขนมที่ช่วยนำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์กลับกลายเป็นขนมที่นิยมใช้สำหรับขอโทษแทน ซึ่งก็เป็นเรื่องราวที่น่ารักเหมือนกัน
โมนากะเป็นขนมญี่ปุ่นที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตามกาลเวลาและความนิยม ทั้งรูปร่างหน้าตาที่แปลกใหม่ ทั้งไส้หลากหลายรสชาติที่มีการปรับเปลี่ยนผสมผสานไปมากกว่าแค่ถั่วแดงแบบในอดีต บางจังหวัดก็มีกิมมิกประจำท้องถิ่นเพิ่มเข้ามาเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง และถือเป็นของฝากยอดนิยมของนักท่องเที่ยวอีกด้วย ไม่แน่ว่าในอนาคตโมนากะอาจมีการพัฒนาไปในรูปแบบใหม่ ๆ กว่านี้อีกก็เป็นได้นะคะ
สรุปเนื้อหาจาก shachimonaka