หากพูดถึง “ปีใหม่” ในประเทศญี่ปุ่นแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ “โมจิ” คนญี่ปุ่นจึงนิยมตำโมจิช่วงเทศกาลปีใหม่ ก่อนจะนำไปประดับบ้านหรือนำมารับประทานกันในครอบครัวเพื่อความเป็นสิริมงคล แต่เคยสงสัยไหมคะว่าทำไมคนญี่ปุ่นต้องตำโมจิกันในช่วงปีใหม่ เขาทำไปเพื่ออะไร เป็นขนมอื่นไม่ได้เหรอ แล้วกิจกรรมนี้มีความสำคัญและความเป็นมายังไงบ้าง หาคำตอบได้ในบทความนี้เลยค่ะ
“โมจิ” อาหารมงคลในวันปีใหม่
ก่อนจะไปพูดถึงการตำโมจิ ขอเท้าความก่อนว่าทำไม “โมจิ” ถึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในช่วงเทศกาลปีใหม่ของญี่ปุ่น และเป็นอาหารมงคลที่มีความเกี่ยวข้องกับเทพเจ้าของญี่ปุ่นมาช้านานตราบจนปัจจุบัน
ในอดีตสมัยที่ชาวญี่ปุ่นยังทำเกษตรกรรมเป็นหลัก พวกเขาเชื่อว่าเทพอุคาโนมิทามะ (稲魂) ซึ่งเป็นเทพแห่งอาหาร การเกษตร และความอุดมสมบูรณ์ รวมถึงวิญญาณแห่งธัญพืชสถิตอยู่ในข้าวที่ปลูกในนา ชาวญี่ปุ่นจึงให้ความเคารพข้าวในฐานะอาหารศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยเสริมสร้างพลังชีวิตให้กับผู้คน และถือว่าอาหารเครื่องดื่มทุกอย่างที่ทำมาจากข้าว เช่น โมจิ หรือสาเก ฯลฯ เป็นของศักดิ์สิทธิ์ จึงเป็นที่มาของการตำโมจิในช่วงปีใหม่หรือในโอกาสพิเศษต่างๆ ทานเพื่อความเป็นสิริมงคลนั่นเอง
การตำโมจิ หรือ โมจิซึกิ
การตำโมจิในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “โมจิซึกิ (餅つき)” เป็นการนำแป้งโมจิจากหม้อนึ่งมาใส่ในครกขนาดใหญ่แล้วตำด้วยไม้ทุบ ทำควบคู่กับอีกคนที่ตีและนวดแป้งโมจิด้วยมือ
จะเห็นได้ว่าการตำโมจิไม่ใช่งานที่สามารถทำได้ด้วยตัวคนเดียว แต่ต้องอาศัยความสามัคคี การเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน โมจิจึงเป็นอาหารที่นอกจากจะมีที่มาอันศักดิ์สิทธิ์และเป็นสิริมงคลแล้ว ยังสื่อถึงการแบ่งปันความสุขร่วมกันของทุกคนอีกด้วย
ไม่ควรตำโมจิวันไหน
โดยปกติแล้วจะตำโมจิกันในวันที่ 28 ธันวาคมหรือช่วงก่อนปีใหม่ ยกเว้นวันที่ 29 หรือ 31 ธันวาคม เพราะเชื่อว่าหากทำในวันที่ 29 จะทำให้ “ทุกข์สองเท่า” จากคำว่า “นิจูคุ (二重苦)” ที่ไปพ้องเสียงกับเลข 29 ในภาษาญี่ปุ่น (นิคือ 2, จูคือ 10 พ้องเสียงกับคำว่าจูที่แปลว่าเท่าตัว (重), คุคือ 9 ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่าคุในคุโร (苦労) ที่หมายถึงความลำบากทุกข์ยาก รวมกันเป็นเป็น 29) คนญี่ปุ่นจึงเลี่ยงตำโมจิในวันที่ 29 ธันวาคม
ส่วนเหตุผลที่ไม่ตำในวันที่ 31 ธันวาคมนั้นมีที่มาจากการตกแต่งในวันที่ 31 นั้นจะเรียกว่า “อิจิยะคะซะริ (一夜飾り)” คือการจัดเตรียมสถานที่ในคืนเดียว ซึ่งเป็นลักษณะการจัดสถานที่เหมือนเวลาจัดงานศพ ดังนั้นการทำโมจิในสองวันนี้จึงถือว่าไม่เป็นมงคล
นำโมจิที่ได้ไปทำอะไร
นอกจากจะนำไปรับประทานแล้ว คนญี่ปุ่นยังนำไปทำเป็น “คางามิโมจิ (鏡餅)” โมจิขนาดใหญ่เล็กวางซ้อนกันสองก้อนเพื่อประดับตกแต่งบ้านในช่วงปีใหม่ ถวายแด่เทพเจ้าโทชิงามิซามะ (年神様) ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งวันปีใหม่ที่จะลงมาสถิตในคางามิโมจิพร้อมนำพาความอุดมสมบูรณ์และความสุขมาให้
หลังจากคางามิโมจิที่ถูกประดับไว้เริ่มแห้งและแข็งแล้ว ประมาณวันที่ 11 มกราคมจะมีธรรมเนียมที่เรียกว่า “คางามิบิราคิ (鏡開き)” หรือการทุบโมจิ โดยเชื่อว่าการทุบให้คางามิโมจิแตกออกเป็นเหมือนกับการเปิดกระจกเพื่อรับพลังจากเทพเจ้า ซึ่งวิธีกินที่ถูกต้องจะต้องทุบโมจิด้วยค้อนไม้หรือบิออกด้วยมือก่อนแล้วค่อยกินหรือนำไปประกอบอาหาร ห้ามใช้ของมีคมหั่นเพราะสื่อถึงซามูไรในสมัยก่อนที่จะใช้มีดคว้านท้องตนเมื่อฆ่าตัวตายนั่นเองค่ะ
นอกจากนี้คางามิบิราคิยังสื่ออีกความนัยคือ “ฮะกะทะเมะ (歯固め)” หมายถึงฟันแข็งแรง ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าการมีฟันที่แข็งแรงจนสามารถทานอะไรก็ได้นั้นสื่อถึงการมีอายุที่ยืนยาว อีกทั้งคันจิคำว่า “อายุ (年齢)” ยังมีคำว่า “ฟัน (歯)” รวมอยู่ด้วย เมื่อเข้าปีใหม่คนญี่ปุ่นจึงกินโมจิแข็งๆ กันและขอพรให้สุขภาพฟันแข็งแรงและมีอายุยืนยาว
ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการตำโมจิและโมจิในช่วงวันปีใหม่ที่เรานำมาฝากเพื่อนๆ ค่ะ จะเห็นได้ว่าการทำโมจินั้นเป็นกิจกรรมหรือประเพณีที่มีความสำคัญกับคนญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน และยังถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญของญี่ปุ่นที่ทำให้ผู้คนจากทั่วโลกสามารถจดจำได้อีกด้วยค่ะ หวังว่าเพื่อนๆ จะได้สาระและประโยชน์จากบทความนี้นะคะ
สรุปเนื้อหาจาก allabout, lovegreen, dime, mamachintaistyle, omochi100
ผู้เขียน KANZEN