ข่าวของนักกีฬาไทยคือเทนนิส-พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ที่เป็นคนแรกที่สามารถคว้าเหรียญทองโอลิมปิก 2 สมัยติดต่อกันในกีฬาเทควันโด ทำให้กระแสตื่นตัวในกีฬาเทควันโดแพร่หลายไปทั่วสังคมไทย
ที่จริงแล้วเมืองไทยเคยรู้จักกีฬาอีกประเภทที่คล้ายกันคือ คาราเต้ ซึ่งตอนนี้หลายคนคงตั้งคำถามว่า คาราเต้ และ เทควันโด นั้นต่างกันอย่างไร มีความเกี่ยวข้องกันหรือไม่ คอลัมน์นี้ผู้เขียนจะพาไปชมความเหมือนและความต่างของศิลปะการต่อสู้ทั้ง 2 ประเภท
คาราเต้
ในความเข้าใจปัจจุบัน คาราเต้คือศิลปะการต่อสู้ของญี่ปุ่น แต่ที่จริงแล้วเดิมทีนั้นไม่ได้เป็นของญี่ปุ่นแต่อย่างใด แต่เป็นศิลปะการต่อสู้ของราชอาณาจักรริวกิว ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าวิชาคาราเต้เกิดที่ริวกิวเมื่อไร รู้แต่ราชอาณาจักรริวกิวมีอายุตั้งแต่ประมาณศตวรรษที่ 15 และสิ้นสุดลงในปี ค. ศ. 1879 เพราะถูกญี่ปุ่นผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศญี่ปุ่นและกลายเป็นจังหวัดโอกินาวา โดยคาราเต้ริวกิวมีกระบวนการวิวัฒนาการเป็นคาราเต้ในปัจจุบันอยู่หลายขั้นดังนี้
1) แต่เดิมริวกิวเรียกสิ่งนี้ว่า “ที (ティー)” หรือที่ภาษาญี่ปุ่นปัจจุบันออกเสียงเป็น “เทะ (手)”
2) ภายหลังรับวิทยายุทธจากจีนในราชวงศ์ถังเข้ามาผสม เลยเอาอักษร “ถัง (唐)” มาผสม อ่านออกเสียงแบบริวกิวว่า “ทูดี (トゥーディー)” หรือที่ภาษาญี่ปุ่นปัจจุบันออกเสียงเป็น “โทเดะ (唐手)”
3) ปี ค. ศ. 1922 มีนักคาราเต้ชาวโอกินาวาคนแรกคืออาจารย์ฟุนะโคะชิ กิชิน เดินทางไปเผยแพร่วิชาโทเดะที่ญี่ปุ่นแผ่นดินใหญ่อย่างเป็นทางการ ในช่วงเวลาไม่ไกลจากนั้นนัก สัมพันธภาพระหว่างญี่ปุ่นและจีนไม่ค่อยดีมาหลายทศวรรษ (สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 1 ในปี ค. ศ. 1894-1895 และครั้งที่ 2 ในปี ค. ศ. 1937-1945) จึงมีความพยายามกำจัดอักษร“ถัง (唐)” ทิ้งไปจากวิชาโทเดะ โดยให้อ่านอักษรโทเดะด้วยเสียงแบบญี่ปุ่นว่า คะระเทะ หรือ คาราเต้ นั่นเอง และมีความพยายามให้กำจัดอักษร คะระเทะ (唐手) ที่มีอักษรราชวงศ์ถังทิ้งไป และแปลงเป็นอักษร คะระเทะ (空手) ที่แปลว่ามือเปล่า ไปแทน
4) ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีความพยายามเอาศิลปะการต่อสู้ญี่ปุ่นหลายแขนงมาทำให้เป็นกีฬา โดยการเติมอักษร “…โด (道)” ที่แปลว่า “วิถีแห่ง…” ลงไป จึงนำคาราเต้ มาเติมเป็น คาราเต้โด (空手道) ซึ่งในปัจจุบันจะเรียกแค่ “คาราเต้” หรือ “คาราเต้โด” ก็ได้ ถูกทั้งคู่
ปัจจุบันคาราเต้มีทั้งหมด 4 แนวทางคือ
1) Okinawan Karate
คือวิชาโทเดะที่วิวัฒนาการเป็นคาราเต้แบบโอกินาวา เน้นการต่อยและจับทุ่มมากกว่าการเตะ ที่แตกต่างจากของคาราเต้ญี่ปุ่น
2) Japanese Karate
คือวิชาโทเดะที่ถ่ายทอดไปสู่ญี่ปุ่นแผ่นดินใหญ่ผ่านทางอาจารย์ฟุนะโคะชิ กิชิน และวิวัฒนาการเป็นคาราเต้แบบญี่ปุ่นในปัจจุบัน ซึ่งมีการเตะมากขึ้นกว่าของโอกินาวา คาราเต้ญี่ปุ่นบางสำนักยังมีท่าทุ่ม แต่บางสำนักก็ไม่มีท่าทุ่มอีกแล้ว
3) Korean Karate
คือวิชาโทเดะที่กองทัพญี่ปุ่นบังคับให้ชาวเกาหลีฝึกตอนที่ญี่ปุ่นบุกยึดเกาหลี วิวัฒนาการกลายเป็นวิชา ทังซุโด (당수도) ที่เป็นเสียงอ่านของอักษร คะระเทะโด (唐手道) เวอร์ชันที่ยังใช้อักษรราชวงศ์ถังอยู่ วิชาทังซุโดมีการเตะมากกว่าคาราเต้แบบโอกินาวาและแบบญี่ปุ่น
4) American Karate
คือคาราเต้ที่ชาวอเมริกันเรียนรู้และนำกลับไปพัฒนาต่อในกองทัพสหรัฐฯ ทำให้กลายเป็นคาราเต้สไตล์อเมริกันขึ้นมา เป็นการผสมหลายศาสตร์ของศิลปะป้องกันตัวเข้าด้วยกัน และเน้นไปที่การพัฒนาสมรรถภาพกล้ามเนื้อเพิ่ม
จะเห็นได้ว่าคาราเต้มีประวัติศาสตร์ประมาณ 500 ปี และมีความหลากหลายสูงมาก การจัดมาตรฐานสากลจึงยังเป็นที่ถกเถียงกัน เพิ่งได้เข้าบรรจุในกีฬาโอลิมปิกเพียงครั้งเดียวคือ Tokyo Olympic 2020 และจากนั้นก็ถูกถอดออก
รายละเอียดเกี่ยวกับคาราเต้สามารถอ่านเพิ่มได้ที่บทความต่อไปนี้
คาราเต้: ความเป็นมาก่อนจะกลายเป็น 1 ในกีฬาโอลิมปิก 2020
The Karate Kid และ Cobra Kai: พลังแห่งอารยธรรมญี่ปุ่นในอเมริกาและคุณค่าทางประวัติศาสตร์ในเรื่อง
เทควันโด
มีการเรียกศิลปะชนิดนี้ว่า “เทควันโด” เป็นครั้งแรกในปี ค. ศ. 1959 โดยเสียงเกาหลียุคนั้นจริง ๆ จะอ่านออกเสียงว่า แทควอนโด (태권도) ดังนั้นถ้าจะมองประวัติศาสตร์ของเทควันโดแล้วจัดว่าใหม่กว่าคาราเต้อยู่มาก แต่หากมองให้ลึกลงไปจะพบว่ามีพื้นฐานศิลปะการต่อสู้โบราณของเกาหลีผสมอยู่ในวิชาเทควันโดเช่นกัน
โดยในเกาหลีโบราณมีศิลปะชนิดหนึ่งเรียกว่า “แท็กกยอน (택견)” ซึ่งเป็นทั้งศิลปะการต่อสู้และเป็นทั้งการละเล่น เพราะเป็นศิลปะการต่อสู้ประกอบทำนองเพลง มีทั้งการกระโดดสูง การฟุตเวิร์ค การตีลังกา มีการใช้ท่าที่รุนแรงและท่ากลางอากาศเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ แท็กกยอนเป็นศิลปะการต่อสู้ชนิดแรกที่ได้รับเลือกให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (Intangible Cultural Heritage) ขององค์การ UNESCO อีกด้วย
วิวัฒนาการของเทควันโดนั้นไม่ได้ชัดเจนเท่าคาราเต้เนื่องจากมีช่วงที่เกาหลีถูกญี่ปุ่นยึดครองตั้งแต่ปี ค. ศ. 1910-1945 ที่ทำให้หลายสิ่งของเกาหลีขาดช่วงไปหมด (ดูบทความ “Gyeongseong Creature: เมื่อสัตว์ประหลาดที่แท้จริงคือจักรวรรดิญี่ปุ่นบนแผ่นดินโชซอน” ประกอบ) โดยผู้เขียนจะแบ่งตามที่ตัวเองเข้าใจดังนี้
1) เกาหลีโบราณเกิดวิชา “แท็กกยอน” ขึ้น – ในเอกสารฝั่งเกาหลีกล่าวว่าวิชานี้มีมาตั้งแต่ประมาณศตวรรษที่ 5 แต่ฝั่งสากลเห็นว่าค้นพบหลักฐานประมาณศตวรรษที่ 17-18 (ไม่มีใครพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้)
2) เกาหลีถูกญี่ปุ่นยึดหลายครั้งตั้งแต่โบราณ จนกระทั่งครั้งที่หายนะที่สุดคือ ค. ศ. 1910-1945 ญี่ปุ่นกำจัดทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นอัตลักษณ์ของเกาหลีทิ้งไปหมด รวมทั้งห้ามชาวเกาหลีฝึกวิชาแท็กกยอน ทำให้วิชาแท็กกยอนแทบจะกลายเป็นวิชาสาบสูญ คงมีการแอบฝึกกันบ้างเล็กน้อยเท่านั้น
3) ค. ศ. 1910-1945 และหลังจากเกาหลีได้รับเอกราชกลับคืนมาจากญี่ปุ่นหลังค.ศ. 1945 มีชาวเกาหลีจำนวนมากทั้งถูกบังคับให้ฝึก และ เต็มใจฝึก วิชา “ทังซุโด (당수도)” ที่เป็นเสียงอ่านของอักษร คะระเทะโด (唐手道) ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นในส่วนเนื้อหาของคาราเต้
4) ผู้เขียนคาดเดาตามสถานการณ์เองว่า เกาหลีช่วงฟื้นฟูประเทศ น่าจะต้องการทุกสรรพสิ่งที่เป็นศูนย์รวมใจของคนในชาติ เมื่อฝึกทังซุโดของญี่ปุ่นมามาก ไม่น่าจะเป็นที่น่าพอใจในเชิงอัตลักษณ์ จึงนำวิชาทังซุโดมาผสมกับศิลปะการต่อสู้ของจีนหลายสำนัก และผสมกับศิลปะการต่อสู้ของตะวันตก รวมทั้งเอาหลักการเตะและกระโดดจากวิชาโบราณของตัวเองคือ แท็กกยอน และวิวัฒนาการไปสู่วิชาใหม่คือเทควันโด ที่เกิดในปี ค. ศ. 1959
เทควันโดจัดว่าใหม่กว่าคาราเต้มาก แต่น่าจะมีการจัดมาตรฐานสากลและระบบการจัดการที่ชัดเจนกว่าคาราเต้ (คาราเต้ แค่เรียนข้ามสำนักกัน ก็สอบเทียบสายไม่ได้ โดนบังคับให้กลับไปเริ่มสายขาวใหม่หมด ทุกครั้งที่ย้ายสำนัก) เทควันโดจึงได้รับการบรรจุในกีฬาโอลิมปิกตั้งแต่ ปี 2000 คือเร็วกว่าคาราเต้ได้บรรจุในโอลิมปิกถึง 20 ปีเต็ม ๆ
สรุป
1. คาราเต้ มีความหลากหลายสูงมาก มีสำนักที่ไม่เน้นเตะ สำนักที่เน้นเตะ ผสมอเมริกัน ผสมจีน ผสมเกาหลี แต่ขาดมาตรฐานกลางที่เป็นสากล บรรจุโอลิมปิกครั้งเดียวก็โดนถอดออก
2. เทควันโด มีความหลากหลายน้อยกว่าคาราเต้ มีมาตรฐานสากลที่ชัดเจนกว่า มีความยืดหยุ่นในการสอบสายข้ามสำนักมากกว่าคาราเต้ มีแนวทางวิชาที่ชัดเจนกว่าคาราเต้คือเน้นเตะ เน้นการฟุตเวิร์ค การตีลังกา การใช้ท่ากลางอากาศ ในขณะที่คาราเต้แต่ละสำนักจะเป็นคนละสไตล์กันโดยสิ้นเชิง
3. ไม่มีศิลปะการต่อสู้แบบใดเหนือกว่ากัน ขึ้นอยู่กับผู้ฝึกว่าเข้าถึงศาสตร์ไหนอย่างแตกฉานมากกว่ากัน
เกี่ยวกับผู้เขียน
วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล เป็นคนไทยเพียงไม่กี่คนที่เคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นมาแล้วถึง 4 แห่ง โดยเคยได้รับทุนแลกเปลี่ยนระหว่างที่ว่าการจังหวัด Okinawa และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปศึกษาที่ The University of the Ryukyus รวมทั้งเคยได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่นแบบสอบผ่านสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ไปศึกษาที่ 1) Tokyo University of Foreign Studies / 2) International Christian University / และ 3) Keio University มีประสบการณ์ทำงานที่หลากหลาย เคยเป็นผู้สื่อข่าวและผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ให้บริษัท Nippon Production Service (บริษัทในเครือสถานีโทรทัศน์ NHK) / เป็นผู้สอนภาษาไทยที่สถาบันภาษาไทยหลายแห่งในโตเกียว / เป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติที่สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจและการตลาดให้บริษัท Corporate Directions Inc. ของประเทศญี่ปุ่น / เป็นผู้ก่อตั้งสาขาภาษาญี่ปุ่นธุรกิจของคณะศิลปศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ / เป็นผู้อำนวยการบริษัท AIRA Capital และเป็นทีมงานก่อตั้งบริษัท AIRA and AIFUL รวมทั้งบัตรกดเงินสด A-Money / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท TOYO Business Service / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท JECC ประเทศญี่ปุ่น / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจของบริษัท Business Consultants South East Asia / มีประสบการณ์สอนในมหาวิทยาลัยมากกว่า 10 แห่งในประเทศไทย / เป็นที่ปรึกษาและจัดฝึกอบรมให้องค์กรหลายแห่ง
ปัจจุบันมีธุรกิจเล็ก ๆ ของตัวเองคือ บริษัท Consulting Agency for Talent จำกัด ทำธุรกิจให้คำปรึกษาด้านพัฒนาองค์กรและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HROD และ HRD) / เป็นนักวิชาการอิสระ / วิทยากรอิสระ / นอกจากเขียนคอลัมน์ที่ Conomi แห่งนี้แล้ว ก็เขียนคอลัมน์ให้ธนาคารไทยพาณิชย์ / เขียนคอลัมน์ให้ The PEOPLE Online Magazine / เขียนคอลัมน์ให้ Marumura และยังคงใฝ่เรียนรู้สิ่งใหม่ต่าง ๆ อยู่เสมอแม้ว่าจะมีปริญญา 7 ใบแล้วก็ตาม
ติดตามผลงานเขียนทั้งหมดของวีรยุทธได้ที่
Facebook : รวมผลงานของวีรยุทธ – Weerayuth’s Ideas