ว่าวปีใหม่

เมื่อเข้าสู่ ช่วงปีใหม่ ที่ญี่ปุ่นก็จะมีธรรมเนียมปฏิบัติหลายอย่าง ทั้งการกินอาหารปีใหม่โอเซจิเรียวริ (おせち料理) การเล่นตีลูกขนไก่ฮาเนสึกิ (羽根突き) หรือการไปไหว้พระขอพรที่ศาลเจ้า แต่วันนี้เรามาเล่าถึงอีกหนึ่งกิจกรรมที่เด็ก ๆ ญี่ปุ่นชอบทำ นั่นก็คือ การเล่นว่าวปีใหม่ มาดูกันค่ะว่าการละเล่นนี้แท้จริงแล้วมีที่มาและความเชื่ออย่างไร!?

ว่าวญี่ปุ่นมีที่มาจากประเทศจีน

ว่าวญี่ปุ่น

ประวัติที่มาของว่าวญี่ปุ่นนั้นก็เป็นเช่นเดียวกับวัฒนธรรมอื่น ๆ ของญี่ปุ่นหลายอย่างที่รับอิทธิพลมาจากประเทศจีน ว่าวญี่ปุ่นเองเป็นเช่นนั้น เพราะปรากฏให้เห็นตั้งแต่ในสมัยเฮอัน (ปี 794 – 1192) โดยในยุคนั้นยังใช้การเรียกแบบจีนว่า Shien (紙鳶) หรือ Shiroushi (紙老鴟) และมีให้เล่นแค่ในเฉพาะหมู่ขุนนางเท่านั้น กระทั่งต่อมาเมื่อเข้าสู่ยุคสงครามเซ็งโงคุ (ปี 1467- 1590) ว่าวก็ได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารในหมู่ซามูไร

สำหรับประเภทของว่าวนั้น ก็ไม่ใช่แค่ว่าวแบบจีนเท่านั้นที่ญี่ปุ่นรับเข้ามา แต่ยังมีว่าวทรงเพชรซึ่งถูกนำเข้ามาทางจังหวัดนางาซากิผ่านทางพ่อค้าอีกด้วย โดยที่นางาซากิจะเรียกว่าวว่า Hata (ハタ) หรือ Hata age (ハタ揚げ) ที่แปลว่า ธง เหตุเพราะลวดลายของว่าวสมัยนั้นมีพื้นฐานมาจากธงของเรือนันบัง (南蛮船) และธงที่ใช้เป็นเครื่องหมายการค้า นั่นเองค่ะ

การละเล่นว่าวในสมัยเอโดะ

เอโดะ

เมื่อเข้าสู่สมัยเอโดะ ว่าวได้แพร่หลายในกลุ่มประชาชนทั่วไปมากขึ้น ด้วยรูปร่างว่าวที่นิยมใช้ตอนนั้นเป็นแบบที่คล้ายหมึกกล้วย ว่าวจึงถูกเรียกด้วยเสียงญี่ปุ่นว่า อิกะโนโบริ (ikanobori, 紙鳶) ที่พ้องกับ イカ ซึ่งแปลว่า “หมึกกล้วย” 

การเล่นว่าวของชาวบ้านในช่วงแรกนิยมเล่นแค่ในหมู่เด็ก ๆ แต่ต่อมาก็เริ่มเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ใหญ่เช่นกัน ซึ่งนั่นก็เป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุจากการเล่นว่าวขึ้นบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการที่ว่าวลอยไปตกในทุ่งนาหรือในระหว่างขบวนเสด็จของขุนนาง สร้างความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก แต่เหตุการณ์ก็ได้รุนแรงขึ้นจากการทะเลาะวิวาทของกลุ่มคนเล่นว่าวจนมีผู้บาดเจ็บ โชกุนจึงได้ทำการสั่งห้ามเล่นว่าวอย่างถาวร

ปลาหมึก

เพราะเหตุนั้นเองคนญี่ปุ่นจึงทำการเปลี่ยนไปเรียกว่าวว่า ทาโกะ (凧) ซึ่งพ้องกับคำว่าหมึกยักษ์ (タコ) แทน อิกะ (イカ) ที่เป็นหมึกกล้วย ด้วยต้องการเลี่ยงบาลีในประเด็นนี้ว่า “เราไม่ได้เล่นอิกะนะ นี่ทาโกะต่างหาก!” 

นอกจากนี้ยังมีอีกทฤษฎีว่าคนเอโดะในตอนนั้นมองชาวคามิงาตะ (Kamigata, 上方) หรือที่ในปัจจุบันคือแถบคันไซ เป็นคู่แข่ง ดังนั้นเมื่ออีกฝั่งเรียกว่าวว่า อิกะ ชาวเอโดะจึงเปลี่ยนไปเรียกว่า ทาโกะ แทน ทั้งยังใช้คันจิตัว 凧 อีกด้วย แต่ทั้งนี้เมื่อเข้าสู่สมัยเมจิคำว่า ทาโกะ (凧) ก็กลายเป็นคำกลาง ๆ สำหรับไว้ใช้เรียกว่าว

ความเชื่อเรื่องการเล่นว่าวในวันปีใหม่

การเล่นว่าวในวันปีใหมนั้นกล่าวกันว่าเป็นธรรมเนียมที่เกิดมาจากความเชื่อ 3 แบบ ดังนี้

1. ความเชื่อจากตำนานโบราณ

ตามตำนานโบราณมีส่วนที่กล่าวว่า “การจ้องมองไปยังท้องฟ้าแรกของฤดูใบไม้ผลิ (立春) ถือเป็นวิธีดูแลสุขภาพอย่างหนึ่ง” ผู้คนจึงเชื่อกันว่า หากมองไปยังท้องฟ้าในฤดูใบไม้ผลิแรกจะช่วยให้สุขภาพดี ส่วนเหตุที่เป็นฤดูใบไม้ผลินั่นก็เพราะสมัยก่อนนับว่าช่วงปีใหม่คือฤดูใบไม้ผลิแรก ดังนั้นการเล่นว่าวปีใหม่ที่ต้องใช้การจ้องมองไปยังท้องฟ้า จึงถือเป็นธรรมเนียมการละเล่นที่ช่วยขอพรให้มีสุขภาพดีตลอดปี

2. ความเชื่อเรื่องการให้กำเนิดบุตรชาย

ว่าว

คนญี่ปุ่นสมัยก่อนเชื่อว่าการปล่อยว่าวให้ลอยสูงไปบนท้องฟ้าถือเป็นการส่งสัญญาณขอบคุณพระเจ้าที่ประทานบุตรชายมาให้ รวมถึงยังถือเป็นการอวยพรให้เด็กคนนั้นเติบโตขึ้นมาอย่างแข็งแรง ปลอดภัยตลอดช่วงต้นปี

3.  ความเชื่อเรื่องหยิน-หยาง

หยินหยาง

ตามความเชื่อหยิน-หยาง ซึ่งเชื่อว่าโลกนี้ประกอบไปด้วย 5 ธาตุ ได้แก่ ไม้ ไฟ ดิน โลหะ และน้ำ วันปีใหม่ซึ่งนำพาธาตุ “ไม้” มาด้วยจึงเข้ากันไม่ได้กับธาตุ “โลหะ” เพราะสิ่งที่เป็นโลหะสามารถตัดไม้ได้ ดังนั้นเพื่อจะดับธาตุโลหะ จึงต้องใช้ธาตุ “ไฟ” เข้ามาช่วยหลอมโลหะ นั่นจึงเป็นที่มาของการต้องเล่นว่าวปีใหม่ เพราะรูปร่างของว่าวนั้นเป็นสามเหลี่ยม ซึ่งมีความเหมือนกับ “เปลวไฟ” 

ไม่น่าเชื่อเลยนะคะว่าแค่การเล่นว่าวปีใหม่จะมีที่มาทั้งทางด้านประวัติศาสตร์และความเชื่อหลายแขนงแบบนี้ ปีใหม่นี้ถ้าใครอยากไปหาเล่นว่าวบ้างหรือมีแผนจะออกไปที่ไหนก็ขอให้ระมัดะวังตัวและเที่ยวปีใหม่กันอย่างปลอดภัยนะคะ 

สรุปเนื้อหาจาก : jpnculture.net

Mayuko

โตมากับอนิเมะและเพลงญี่ปุ่น ชอบงานแปล งานเขียน พร้อมหาเรื่องราวน่าสนใจเกี่ยวกับญี่ปุ่นใหม่ๆ มาเล่าสู่กันฟังค่ะ

ไอคอน PDPA

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า