“โตขึ้นอยากทำอาชีพอะไร?” ทุกคนคงเคยถูกถามแบบนี้กันใช่ไหมคะ? ในอดีตหลาย ๆ คนก็คงตอบว่าอยากเป็น “หมอ” “นางพยาบาล” และ “ครู” เป็นต้น แต่ถ้าลองไปถามเด็กสมัยนี้ก็คงจะได้คำตอบที่ประหลาดใจ เช่น อยากเป็น “ยูทูบเบอร์” “นักเทรดหุ้น” หรือ “นักการเมือง” มากกว่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็สะท้อนให้เห็นว่า เมื่อสมัยหรือกาลเวลาเปลี่ยนแปลงไป ค่านิยมและความคิดของคนก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย อาชีพที่เราใฝ่ฝันอยากจะเป็นในอดีต ในปัจจุบันอาจจะไม่ใช่อาชีพยอดฮิตเเล้ว ว่าแต่ที่ญี่ปุ่นอาชีพที่ผู้คนต่างใฝ่ฝันที่อยากจะเป็นในสมัยก่อน เช่น ในสมัยเอโดะ (ปี ค.ศ. 1603 – ปี ค.ศ. 1868) ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่ญี่ปุ่นเริ่มเปิดรับวัฒนธรรมจากชาติตะวันตกเข้ามา อาชีพอะไรที่ผู้คนในยุคนั้นต่างพากันใฝ่ฝันและอยากที่จะเป็นกัน ตามมาดูกันไปพร้อม ๆ กันเลยค่ะ
รายได้ในสมัยเอโดะเป็นอย่างไร?
ในสมัยเอโดะ รายได้เฉลี่ยของผู้คนทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 1.6 ล้านเยน ซึ่งจำนวนเงินรายได้ดังกล่าวแม้จะดูเหมือนว่าจะไม่เยอะมากเมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ยของผู้คนในยุคสมัยปัจจุบัน แต่สังคมญี่ปุ่นในอดีตเป็นสังคมแบบเศรษฐกิจพอเพียง เน้นการพึ่งพาอาศัยตนเองเป็นหลักผู้คนส่วนใหญ่ทำการเกษตร ปลูกพืช ปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ ผลผลิตที่เหลือจากการบริโภคในครัวเรือนนอกเหนือจากนำไปขาย ก็ยังนำไปแบ่งปันแจกจ่ายให้แก่เพื่อนบ้านหรือบุคคลที่รู้จักกัน ดังนั้น แม้จะดูเหมือนว่าผู้คนในสมัยก่อนจะมีรายได้ไม่มากแต่ผู้คนในสมัยก่อนก็ยังถือว่าสามารถเลี้ยงตัวเองและใช้ชีวิตอยู่ได้
อาชีพแบบไหนที่คนสมัยเอโดะใฝ่ฝันอยากทำ?
1. “นักแสดงคาบูกิ” อาชีพที่สร้างรายได้มากถึง 100 ล้านเยนต่อปี!
“คาบูกิ” เป็น 1 ใน 3 สิ่งบันเทิงเริงรมย์ของผู้คนในสมัยเอโดะ นอกเหนือไปจาก “กีฬาซูโม่” และ “ย่านโคมแดงโยชิวาระ” นักแสดงคาบูกิจึงถือได้ว่าเป็นอาชีพที่ทำรายได้ดีเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะนักแสดงคาบูกิที่ได้เล่นเป็นตัวหลัก จะถูกเรียกว่า “นักแสดง 1,000 เรียว” ซึ่งมีความหมายสื่อได้ว่า “นักแสดงคนนั้นมีรายได้มากถึง 100 ล้านเยน” ค่ะ (ทั้งนี้ “เรียว” เป็นหน่วยเรียกเงินในสมัยก่อน โดย 1,000 เรียว มีมูลค่าในปัจจุบันเท่ากับ 100 ล้านเยน) ดังนั้นอาชีพนักแสดงคาบูกิจึงเป็นอาชีพที่ผู้คนต่างใฝ่ฝันอยากจะเป็น ทว่าก็ไม่ใช่ว่าใครจะเป็นก็ได้ เพราะกว่าจะมาเป็นนักแสดงคาบูกิได้ก็ต้องผ่านการฝึกฝนมาอย่างหนักเลย)
ว่าแต่แล้วทำไมคาบูกิจึงเป็นที่นิยม? เหตุผลก็เพราะว่าบทละครและเนื้อหาของละครคาบูกิ มีลักษณะที่สื่ออย่างชัดเจนตรงไปตรงมา บางครั้งก็ค่อนข้างรุนแรงและเสียดสีเรื่องราวหรือเหตุการณ์ โศกนาฏกรรม เรื่องซุบซิบนินทาที่เกิดขึ้นจริงในตอนนั้น ทำให้ผู้คนเมื่อได้ดูได้ฟังก็รู้สึกมีส่วนร่วมและรู้สึกอินตาม ยิ่งไปกว่านั้นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายยังมีความโดดเด่นและสีสันฉูดฉาดติดตา จากหลายเหตุผลเหล่านี้จึงทำให้คาบูกิเป็นที่นิยมอย่างมากในสมัยยุคเอโดะค่ะ
2. “ช่างไม้” อาชีพที่รายได้สูง แต่ต้องพึ่งพาสภาพอากาศเป็นตัวเสริมโชค!
“ช่างไม้” ถือเป็นอาชีพทำเงินในสมัยเอโดะ โดยมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3 ล้านเยนต่อปี จึงทำให้ถูกยกให้เป็นอาชีพที่ทำเงินได้มากที่สุดในหมู่อาชีพสายอาชีพทั้งหมดอีกด้วย!
สาเหตุก็สืบเนื่องมาจากที่ว่าในสมัยเอโดะมักมีเหตุไฟไหม้เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ (เนื่องจากบ้านเรือนส่วนใหญ่สร้างด้วยไม้ จึงทำให้ติดไฟง่าย) ดังนั้นวิธีการดับไฟเพื่อไม่ให้ลามไปยังบ้านหลังอื่นที่นิยมทำกัน คือ “การทุบทำลายบ้านหลังที่เป็นต้นตอของเพลิงไหม้” อาชีพช่างไม้จึงถือว่าเป็นอาชีพที่มีงานเข้ามาอยู่ตลอดเวลา แต่ทว่างานช่างไม้เป็นงานที่ได้รับค่าตอบแทนตามจำนวนวันที่ทำงานจริงเท่านั้น กล่าวคือถ้าวันไหนที่เกิดมีฝนตกขึ้นมา ก็จะเท่ากับไม่มีงานให้ทำ และเท่ากับว่าก็จะไม่มีรายได้เกิดขึ้นด้วย ดังนั้นต่อให้อาชีพนี้จะเป็นอาชีพที่ทำเงินได้มากเท่าไร แต่ก็ยังคงต้องพึ่งพาโชคและดวงกับสภาพอากาศด้วย ดั่งคำกลอนที่ว่า “การจะปลิดชีพช่างไม้ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ของมีคมอะไรหรอก แค่ให้ฝนตกติดต่อกัน 3 วันก็เพียงพอแล้ว”
ทั้งนี้ แม้ว่าอาชีพช่างไม้จะเป็นอาชีพที่ดูเหมือนจะมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้อย่างเรื่องสภาพอากาศเกิดขึ้นบ้าง แต่ถ้าช่างไม้ผู้นั้นได้สั่งสมประสบการณ์ทำงานจนสามารถยกสถานะตนเองขึ้นเป็น “นายช่างใหญ่” (Touryo = 棟梁) ปัญหาความน่ากังวลใจก็จะหมดไปค่ะ เพราะในสมัยก่อนที่ยังไม่มีอาชีพที่เรียกว่า “สถาปนิก” นายช่างใหญ่ถือเป็นผู้มีอำนาจ ควบคุมดูแลงานก่อสร้างทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นทั้งการวาดแปลนออกแบบ รวมไปถึงจัดหาอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือและวัตถุดิบในการก่อสร้าง เป็นต้น ดังนั้นอาชีพนายช่างใหญ่ ซึ่งมีอิมเมจของ “ชายผู้ทำได้ทุกอย่าง” จึงถือเป็นอาชีพที่ใคร ๆ ในสมัยก่อนต่างใฝ่ฝันที่อยากจะเป็นค่ะ
3. ครูที่เทระโกยะหรือโรงเรียนวัดในสมัยก่อน
“ครูที่เทระโกยะหรือโรงเรียนวัดในสมัยก่อน” ถือเป็นหนึ่งในอาชีพที่หลายคนใฝ่ฝัน แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วจะเป็นอาชีพที่ทำเงินได้น้อยมาก โดยรายได้เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่เพียง 3 แสนเยนเท่านั้น ใช่ค่ะผู้อ่านทุกท่านอ่านไม่ผิด “รายได้ต่อปี” มิใช่ “รายได้ต่อเดือน” ค่ะ เพราะเด็กที่สอนส่วนใหญ่จะเป็นลูกชาวบ้านที่มีฐานะยากจน ไม่สามารถจ่ายค่าเล่าเรียนได้ด้วยเงินสด อาชีพครูที่เทระโกยะจึงเป็นเหมือนการทำงานฟรี (คล้าย ๆ เป็นจิตอาสาทำเพราะใจรักมากกว่า) แต่ทั้งนี้ ก็ใช่ว่าจะดำรงชีพอยู่ไม่ได้เลย เพราะก็มักจะได้รับสิ่งของ เช่น ผัก ผลไม้ ขนม เป็นสิ่งแทนเงินค่าเล่าเรียนนั่นเองค่ะ
เเล้วบุคคลผู้ผันตัวมาประกอบอาชีพเป็นครูที่เทระโกยะเหล่านี้คือใคร? คำตอบก็คือ ส่วนใหญ่บุคคลเหล่านี้แต่เดิมจะเป็นผู้ที่เคยประกอบอาชีพเป็นพ่อค้า ซามูไร หรือพระ เป็นต้นนั่นเองค่ะ!
เป็นอย่างไรบ้างกับอาชีพที่ผู้คนในสมัยเอโดะใฝ่ฝันอยากจะเป็น ต่างกับในสมัยนี้มากเลยว่าไหมคะ? ใครก็ตามที่ได้มีโอกาสทำงานที่ตนใฝ่ฝันมาก็เรียกว่ามีโชคดีเหมือนถูกลอตเตอรี่ แต่ถ้าใครไม่สามารถทำได้ตามที่ฝันไว้ ก็ไม่ควรเครียดและกดดันตัวเองจนเกินไปนะคะ เพราะทุกคนก็มีปัจจัยหลาย ๆ อย่างในชีวิตแตกต่างกันไป และไม่ว่าอย่างไรก็ตาม “ทุกอาชีพล้วนแล้วแต่มีความสำคัญในชีวิตและสังคมของมนุษย์เรา” โดยต่างเชื่อมโยงและซัพพอร์ตซึ่งกันและกัน ดังนั้นสังคมของเราจะขาดอาชีพใดอาชีพหนึ่งไปไม่ได้ค่ะ จงภูมิใจและทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดนะคะ ทาง conomi เป็นกำลังใจให้ทุกคนค่ะ!
สรุปเนื้อหาจาก : mag.japaaan