ฮอกไกโด (北海道, Hokkaido) เป็นจังหวัดที่อยู่เหนือสุดและใหญ่ที่สุดของประเทศญี่ปุ่น และมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมายที่ชาวต่างชาติหรือแม้แต่คนญี่ปุ่นเองก็ใฝ่ฝันอยากจะไปเยือนสักครั้ง นอกจากสถานที่ที่สวยงาม ชื่อของจังหวัด ชื่อเมือง และชื่อสถานที่ต่าง ๆ ก็มีความหมายที่น่าสนใจเพราะแต่เดิมเป็นชื่อที่มาจากภาษาไอนุของ ชาวไอนุ ซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในฮอกไกโดก่อนที่ชาวญี่ปุ่นจะเริ่มเข้ามา บทความนี้จะมาเล่าถึงประวัติความเป็นมาของชื่อจังหวัดฮอกไกโดและชื่อเมืองต่าง ๆ กัน!
ก่อนจะมาเป็นคำว่า “ฮอกไกโด”
แม้ปัจจุบันเกาะที่อยู่ทางเหนือสุดของประเทศญี่ปุ่นมีชื่อเรียกว่า ฮอกไกโด แต่ในอดีตเคยถูกเรียกว่า “เอโสะจิ” (蝦夷地, Ezochi) มาก่อน ซึ่งมีความหมายว่า แดนชนต่างเผ่า โดยชนต่างเผ่า ณ ที่นี้หมายถึงชาวพื้นเมืองที่มีวัฒนธรรมต่างจากชาวญี่ปุ่นอย่าง ชาวไอนุ (アイヌ民族, Aynu)
ทั้งนี้ แม้รัฐบาลกลางของญี่ปุ่นจะรู้จักการมีอยู่ของเอโสะจิมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 4 รวมทั้งในช่วงการปกครองของรัฐบาลโชกุนจะมีการส่งคนมาประจำเป็นผู้ปกครอง แต่การเรียกพื้นที่นี้ว่าแดนชนต่างเผ่าถือเป็นการบอกถึงความด้อยกว่าของพื้นที่ ต่อมาในช่วงยุคเมจิ การกำหนดเขตแดนนั้นเป็นสิ่งสำคัญ การเรียกดินแดนของตนว่า “แดนชนต่างเผ่า” โดยเฉพาะเมื่อดินแดนนั้นเป็นดินแดนที่อยู่เหนือสุดและเป็นชายแดนต่อจากมหาอำนาจอย่างจักรวรรดิรัสเซียทำให้เขตแดนของชาวญี่ปุ่นไม่ชัดเจน ในปี 1869 ทางรัฐสภาญี่ปุ่นจึงออกประกาศกฤษฎีกาว่าด้วยเรื่องชื่อท้องถิ่นเพื่อเปลี่ยนชื่อจากเอโสะจิเป็นฮอกไกโด
ฮอกไกโด คำนี้มาจากไหน?
ฮอกไกโด คือ หนึ่งในชื่อที่ มัตสึอุระ ทาเคชิโร (松浦武四郎, Matsuura Takeshirou) นักสำรวจชาวญี่ปุ่นเสนอให้เป็นชื่อใหม่ โดยเริ่มแรกฮอกไกโดไม่ได้เขียนด้วยคันจิ 北海道 แต่เขียนด้วยคันจิ 北加伊道 ซึ่งมาจากคำว่า โฮกุ (北) ที่แปลว่าเหนือ ไค (加伊) ที่แปลว่าคนเถื่อน และคำว่า โด (道) ที่แปลว่าจังหวัด แต่เนื่องจากในสมัยโบราณมีจังหวัดทะเลตะวันตก (西海道) จังหวัดทะเลใต้ (南海道) และจังหวัดทะเลตะวันออก (東北道) ซึ่งเป็นชื่อท้องถิ่นตามระบอบการปกครองในสมัยโบราณแล้ว ฮอกไกโดจึงถูกเปลี่ยนคันจิให้เป็น 北海道 เพื่อที่จะล้อไปกับชื่อที่มีอยู่ก่อนตามที่เราคุ้นชินในปัจจุบัน
ที่มาของชื่อ 4 เมืองฮิตในฮอกไกโด!
ทีนี้เราลองมาดูชื่อเมืองดัง ๆในจังหวัดกันว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง!
1. ซัปโปโร
อันดับแรกเรามาเริ่มจากจุดศูนย์กลางอย่าง ซัปโปโร กันก่อนดีกว่า อย่างที่กล่าวไปข้างต้นชื่อสถานที่ในฮอกไกโดนั้นส่วนมากมาจากภาษาไอนุ ซัปโปโรเองก็เช่นกัน โดยจะมีสองทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับคือ
- มาจากคำว่า ซัต โปโร (サッ・ポロ, Sat & Poro) ที่แปลว่าสถานที่แห้งและกว้าง สันนิษฐานว่าอาจเป็นคำเรียกเนินตะกอนรูปพัด (Alluvial fan) ที่เกิดจากกระแสน้ำของแม่น้ำโทโยฮิระ โดยเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นบริเวณพื้นที่แห้งแล้ง
- มาจากคำว่า ซาริโปโรเบต (サリ・ポロ・ぺッ, Sariporopet) ที่แปลว่าพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ สันนิษฐานว่าอาจเป็นคำเรียกพื้นที่ชุ่มน้ำที่อยู่บริเวณปลายน้ำของแม่น้ำโทโยฮิระ
2. ฟุราโนะ
เมืองฟุราโนะ เป็นเมืองที่รายล้อมไปด้วยธรรมชาติและมีสวนดอกลาเวนเดอร์ซึ่งเป็นแลนด์มาร์กที่โด่งดัง ฟุราโนะมาจากภาษาไอนุคำว่า “ฟุรานุอิ” (フラ・ヌ・イ, Furanui) แปลว่า ที่ที่มีกลิ่น โดยเชื่อว่าเป็นชื่อที่ได้มาจากกลิ่นกำมะถันของภูเขาโทกาจิ (十勝岳, Tokachidake) ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำฟุราโนะ
3. โอตารุ
โอตาร ถือได้ว่าเป็นเมืองใหญ่มาตั้งแต่สมัยเอโดะ เดิมเป็นเมืองท่าเรือที่สำคัญ และปัจจุบันมีแหล่งท่องเที่ยวคือคลองโอตารุที่มีห้างร้านบรรยากาศสุดชิคเรียงราย โอตารุมาจากภาษาไอนุคำว่า โอตารุไน (オタルナイ, Otarunai) แปลว่าแม่น้ำกลางหาดทราย เพราะเป็นเมืองท่าติดทะเลและมีแม่น้ำ (คลองโอตารุ) อยู่ในเมือง
4. ชิโตเสะ
ถ้าจะบินตรงจากกรุงเทพไปฮอกไกโดก็ต้องลงที่สนามบินชินชิโตเสะที่ตั้งอยู่ในเมืองชิโตเสะ แม้ชื่อสถานที่ส่วนใหญ่จะมาจากภาษาไอนุ แต่ก็มีส่วนหนึ่งที่เป็นภาษาญี่ปุ่น เช่น ชิโตเสะ (千歳, Chitose) แห่งนี้ ที่มีความหมายว่า พันปี มาจากความเชื่อโบราณว่า เต่าหมื่นปี นกกระเรียนพันปี (鶴は千年、亀は万年) เพราะช่วงเวลานั้นชิโตเสะเป็นสถานที่ที่มีนกกระเรียน อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยคำว่า “ชิโตเสะ” เป็นชื่อที่ผู้รับผิดชอบในพื้นที่ได้ขอให้เจ้าเมืองฮาโกดาเตะ ตั้งชื่อให้ใหม่จากเดิมที่เป็นภาษาไอนุว่า ชิโคะสึ (シコツ, Sikot) ที่แปลว่า หลุมใหญ่
สำหรับชาวต่างชาติอย่างเรา ๆ แล้ว ทุกวันนี้ฮอกไกโดอาจจะดูมีความเป็นญี่ปุ่นไม่ต่างกับเกาะหลัก แต่พอได้มาดูที่มาที่ไปของชื่อสถานที่ต่าง ๆ แล้วจะยังรู้สึกได้ถึงรากดั้งเดิมของจังหวัดที่ผูกอยู่กับภาษาและวัฒนธรรมไอนุอยู่มาก และเชื่อหรือไม่? ว่ามีประมาณ 2,900 สถานที่ที่มีชื่อมาจากภาษาไอนุ และที่น่าสนใจคือคำส่วนมากเป็นคำที่เกี่ยวกับแม่น้ำเช่น Pet และ Nai อย่างซัปโปโรที่มาจากคำว่า ซาริโปโรเปต (Sariporopet) หรือ โอตารุ ที่มาจาก คำว่า โอตารุไน (Otarunai) เป็นต้น
ทั้งนี้นอกจากภาษาไอนุที่หลงเหลืออยู่ในชื่อของสถานที่ต่างๆ แล้ว ปัจจุบันยังมีชาวไอนุที่ยังคงอาศัยอยู่ด้วย และถ้าเพื่อนๆ สนใจวัฒนธรรมต่าง ๆ ของชาวไอนุ ลองไปเยี่ยมพิพิธภัณฑ์และหมู่บ้านเพื่อทำความรู้จักวัฒนธรรมที่น่าหลงใหลของพวกเขากันได้เลย
สรุปเนื้อหาจาก: hokkaidou.lg, city.chitose, otaru.jpn, goldsky.hatenablog, city.sapporo, KOGI et al, W.Brett
ผู้เขียน: หนัตโต นัตโตะ