อนิเมะญี่ปุ่นที่เพื่อน ๆ เคยดู บางเรื่องน่าจะมีเจ้าเหมียวโผล่มาบ้าง เช่น “บ้านนี้ต้องมีเหมียว” หรือ “นัตสึเมะกับบันทึกพิศวง” และเวลาไปเที่ยวญี่ปุ่นเกาะแมวเองคงเป็นจุดหมายของใครหลาย ๆ คน จนเรียกได้ว่าที่ญี่ปุ่นแมวอยู่ในทั้งศิลปะ วัฒนธรรม จนไปถึงชีวิตประจำวันจนมีคำว่า “วัฒนธรรมแมว” (Nekobunka, 猫文化) เกิดขึ้นมาในภาษาญี่ปุ่น
บทความนี้เราจะมาเล่ากันว่าความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างแมวกับคนญี่ปุ่นเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่และมีพัฒนาการอย่างไรบ้าง
หลักฐานแมวบ้านญี่ปุ่นที่เก่าแก่ที่สุด (ยุคยาโยอิ)
หลักฐานที่บ่งบอกถึงการมีอยู่ของแมวบ้านที่เก่าแก่ที่สุดที่พบในประเทศญี่ปุ่นอยู่ที่ “ซากโบราณสถานคาราคามิ” ในเมืองอิคิ จังหวัดนางาซากิ โดยมีการค้นพบซากกระดูกที่สันนิษฐานว่าเป็นกระดูกขาหน้าของแมวและสันนิษฐานว่าเก่าถึงยุคยาโยอิ (ยุคหินใหม่จนถึงยุคสำริด ประมาณ 300 ปีก่อนคริสตกาลถึง ค.ศ. 300)
แม้จะไม่มีการวิเคราะห์ DNA แต่นักวิชาการก็สันนิษฐานว่าเป็นกระดูกของแมวบ้านเพราะที่เกาหลีซึ่งมีการติดต่อค้าขายกันก็มีการค้นพบกระดูกแมวจากเนินหอย (Shell Midden) ที่เป็นแหล่งซากกระดูกหรือซากอาหารจำพวกเปลือกหอยของคนโบราณในยุคนั้น หากกระดูกที่ค้นพบเป็นของแมวบ้านจริงจะสรุปได้ว่าที่ญี่ปุ่นมีการเลี้ยงแมวบ้านมาตั้งแต่สมัยยาโยอิและอาจเลี้ยงไว้ล่าหนูที่ทำลายผลผลิตของชาวบ้านเป็นต้น
แต่เนื่องจากไม่มีการวิเคราะห์ DNA จึงยังสรุปไม่ได้แน่ชัด ทำให้หลักฐานที่ได้รับการยืนยันเกี่ยวกับแมวบ้านที่เก่าที่สุดของญี่ปุ่นอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 6 – 7
จากแมวล่าหนูสู่สัตว์เลี้ยงของมนุษย์ (ยุคนารา – ยุคเฮอัน)
มีการบันทึกถึงสิ่งที่คาดว่าน่าจะเป็นแมวใน “นิฮงเรียวอิคิ” (日本国現報善悪霊異記, หนังสือรวมนิทานคำสอนทางพระพุทธศาสนาสมัยเฮอันตอนต้น) กล่าวถึงแมวด้วยตัวอักษร 狸 ซึ่งในปัจจุบันมีความหมายว่าทานุกิ แต่ที่ประเทศจีนจะหมายถึงแมวจรจัด
นอกจากนี้ มีบันทึกถึงแมวที่น่าเชื่อถือใน “บันทึกอุดะเทนโนเกียะกิ” (宇多天皇御記, บันทึกของจักพรรดิอุดะ) กล่าวถึงแมวดำทรงเลี้ยงที่มาจากราชวงศ์ถังของพระจักรพรรดิโคโค จักรพรรดิองค์ก่อนในปีค.ศ. 889 ซึ่งจักพรรดิอุดะผู้เป็นพระโอรสได้รับมาอีกที เริ่มแรกมีพระประสงค์ให้นำแมวเข้ามาจากประเทศจีนเพื่อเลี้ยงไว้ไล่หนูที่มากัดแทะพระสูตรแต่เหล่าขุนนางก็เอ็นดูจนกลายเป็นสัตว์เลี้ยงแสนรักในที่สุด
ใน “หนังสือข้างหมอน” (枕草子, มากุระโนโซชิ เป็นบันทึกเรื่องราวในราชสำนักเฮอัน) ก็มีการกล่าวถึงแมวในราชสำนักและแมวที่จักรพรรดินีเทชิทรงเลี้ยงไว้ รวมถึงมีการตั้งชื่อว่า “เมียวบุโนโอโตโดะ” (命婦のおとど) ซึ่งแปลว่าผู้อยู่ข้างกายสตรีในราชสำนัก อีกทั้งในวรรณกรรมเก่าแก่ของญี่ปุ่นอย่าง “เกนจิโมโนกาตาริ” (源氏物語) ที่ประพันธ์โดย มุราซากิ ชิกิบุ ก็ทำให้เรารู้ว่าคนญี่ปุ่นในสมัยนั้นเลี้ยงแมวแบบผูกเชือกล่ามเอาไว้
จึงอาจกล่าวได้ว่ายุคสมัยนี้ แมวเปลี่ยนฐานะจากสัตว์ที่คอยไล่หนูสู่สัตว์เลี้ยงแสนล้ำค่าในหมู่ขุนนางแล้วนั่นเอง
จากการเลี้ยงแบบล่ามเชือกสู่การเลี้ยงแบบปล่อย (ยุคเอโดะ)
เป็นเวลาเนิ่นนานแล้วที่แมวไม่ทำหน้าที่ไล่จับหนูและมาอยู่กับชนชั้นสูงผู้มีอันจะกินในฐานะสัตว์เลี้ยง เมื่อเทียบกับสุนัขที่บางตัวก็เป็นหมาจรจัด บางตัวก็ถูกเลี้ยงไว้ใช้งานหรือกินเป็นอาหาร แมวถือว่าได้รับความเอ็นดูอย่างสูง
สมัยนั้นพ่อค้ามักจะนำแมวทั้งที่อยู่ตามข้างทางหรือนำเข้าจากแผ่นดินใหญ่ไปขายให้ผู้มีอันจะกินจนไม่มีแมวคอยกำจัดหนู นอกจากนี้ยังมีเรื่องของประชากรที่มากขึ้นจนทำให้ความเสียหายที่มาจากหนูและสัตว์เล็กเพิ่มขึ้นตาม จึงเป็นเหตุให้ในสมัยอาสึจิโมโมยามะปีเคโจที่ 7 (安土桃山時代, ค.ศ. 1602) มีการออกพระราชบัญญัติห้ามซื้อขายแมวและสั่งให้เลี้ยงแมวแบบปล่อยในเกียวโตเพื่อให้แมวช่วยกำจัดหนูอีกครั้ง แม้ความเสียหายจากหนูจะลดลงแต่แมวจรจัดก็เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ในปี ค.ศ. 1687 โชกุนโทกุกาว่า สึนะโยชิมีการออกพระราชบัญญัติเมตตาสัตว์ (生類憐みの令) ที่คุ้มครองชีวิตทั้งเด็กที่ถูกทิ้ง สุนัข แมว ซึ่งมีการระวางโทษหนักสำหรับการฆ่าสัตว์รวมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนเลี้ยงหมาแมวแบบไม่จูงสาย ทำให้จำนวนแมวจรจัดยิ่งเพิ่มมากขึ้นไปอีก ช่วงแรกแมวถือเป็นสัตว์ราคาแพงสำหรับสามัญชน ที่ขายเพื่อไล่หนูและมีแม้กระทั่งหาบเร่ขายแมว แต่ผู้คนก็ค่อย ๆ หาซื้อแมวมาเลี้ยงได้ในราคาเป็นมิตรมากขึ้น ทำให้คนทั่วไปก็สามารถเลี้ยงแมวได้
จากก็เริ่มมีภาพเขียน การแสดง เรื่องเล่าต่างเกี่ยวกับแมวมากขึ้น จุดเด่นหนึ่งที่น่าสนใจคือบรรดาแมวในภาพเขียนส่วนมากจะเป็นแมวหางสั้น อาจเป็นเพราะคนญี่ปุ่นสมัยก่อนเชื่อกันว่าแมวที่หางยาวจะแยกออกมาเป็นสองหางและกลายเป็นแมวผี (nekomata, 猫また) ทำให้ในสมัยนั้นคนชอบแมวหางสั้นมากกว่า
จากสัตว์เลี้ยงชนชั้นสูงสู่สัตว์เลี้ยงคนทั่วไป (ยุคใหม่)
เมื่อเข้าสู่ยุคเมจิ แมวฝรั่งและแมวต่างชาติก็เริ่มเข้ามาในญี่ปุ่นจนแม้แต่คนธรรมดาก็เลี้ยง ทว่าหลังสงครามโลกครั้งที่สองโดยเฉพาะหลังช่วงที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตอย่างก้าวกระโดด (ค.ศ. 1955 – 1973) เมื่อวัฒนธรรมสุนัขจากประเทศฝั่งตะวันตกเข้ามา สุนัขก็ครองตำแหน่งสัตว์เลี้ยงแสนรักแทนที่เจ้าแมวไป
ช่วงค.ศ. 1950 สุนัขพันธุ์ซาฮาลินฮัสกี้ 2 ตัวที่ชื่อว่าทาโร่และจิโร่นั้นโด่งดังมากจากการไปร่วมสำรวจขั้วโลกใต้พร้อมคณะสำรวจชุดแรก แต่กลับกันเจ้าทาเคชิแมวสามสีตัวผู้ที่ร่วมเดินทางฝ่าลมหนาวไปด้วยกันกลับไม่ค่อยมีใครรู้จัก ทาเคชิขึ้นเรือสำรวจในฐานะแมวนำโชค รวมไปถึงคณะสำรวจเองก็เอ็นดูมันจนเรียกได้ว่าเป็นไอดอลประจำคณะสำรวจก็ไม่ผิดนัก
ปัจจุบันแมวปรากฏตัวในสื่อกระแสหลักทั้ง อนิเมะ มังงะ และกำลังได้รับความนิยมขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้งก็ยังสถานที่ท่องเที่ยวในญี่ปุ่นที่ใช้แมวเป็นตัวดึงกระแส ไม่ว่าจะ วัดแมว เกาะแมว เป็นต้น แล้วเพื่อน ๆ ล่ะคิดว่าอนาคตแมวกับคนญี่ปุ่นจะเป็นอย่างไรกันต่อไปคะ?
สรุปเนื้อหาจาก nyanpedia, thaipbs.or.th, polaris.nipr.ac.jp
ผู้เขียน หนัตโต นัตโตะ