ในช่วงฤดูร้อนของญี่ปุ่น (ประมาณเดือน ก.ค. – ส.ค.) เป็นช่วงที่นิยมจัดงานเทศกาลดอกไม้ไฟตามสถานที่ต่าง ๆ และยังมีการจัดงานแข่งขันประชันดอกไม้ไฟ ที่เหล่าผู้เชี่ยวชาญและช่างทำดอกไม้ไฟต่างงัดเทคนิคการรังสรรค์ผลงานมาประชันกัน
ดอกไม้ไฟของญี่ปุ่นนั้นมีการใช้เทคนิคที่แตกต่างไปจากศาสตร์การทำดอกไม้ไฟของประเทศฝั่งตะวันตก อีกทั้งมีเอกลักษณ์และความสวยงามจนเป็นที่ยอมรับกันในนานาประเทศ
ดอกไม้ไฟญี่ปุ่นแตกต่างจากที่อื่นอย่างไร?
ส่วนมากดอกไม้ไฟตามแบบประเทศตะวันตกจะมีการใช้ผงดินปืน (ส่วนใหญ่จะเป็นผงดินปืนประเภทเดียว) บรรจุในภาชนะที่เป็นทรงกระบอก เมื่อยิงดอกไม้ไฟขึ้นฟ้า ฝาที่ปิดอยู่ด้านบนและล่างของภาชนะจะเปิดออกทำให้ส่วนผสมด้านในระเบิดออกมาเป็นดอกไม้ไฟ ซึ่งจะมีลักษณะเป็นเส้นสายกระจายออกในพื้นที่จำกัด
เดิมที ดอกไม้ไฟที่ใช้เทคนิคแบบนี้จะใช้สำหรับการแสดงเฉพาะกลุ่มเล็ก ๆ อย่างเหล่าขุนนางหรือคนที่มีฐานะ การออกแบบจึงเน้นให้สามารถมองเห็นได้ในพื้นที่ไม่กว้างนัก เพราะไม่ได้ต้องการให้คนเห็นเป็นวงกว้างนั่นเอง
นอกจากนี้ การแสดงพลุหรือดอกไม้ไฟสำหรับชาวตะวันตก มักเป็นการใช้ประกอบการแสดงอื่น ๆ เช่น การแสดงดนตรี แสงสีเลียง แต่มักจะไม่ได้จัดงานแสดงสำหรับโชว์ดอกไม้ไฟโดยเฉพาะเท่าไรนัก
ส่วนการทำดอกไม้ไฟสไตล์ญี่ปุ่น จะเป็นการบรรจุผงดินปืนในภาชนะทรงกลม โดยใช้เทคนิคการอัดบรรจุดินปืนที่เป็นลูกกลม ๆ เล็กๆ เป็นวงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ อยู่ภายใน เมื่อจุดประกายไฟและยิงขึ้นฟ้า ดินปืนลูกเล็ก ๆ ที่บรรจุอยู่จะค่อย ๆ ระเบิดออกจากชั้นในทีละชั้น
เนื่องจากที่ญี่ปุ่นนิยมจัดงานดอกไม้ไฟบริเวณริมแม่น้ำ หรือบริเวณที่คนทั่วไปสามารถมองเห็นได้เป็นบริเวณกว้าง การออกแบบและเทคนิคการทำดอกไม้ไฟจึงต้องพยายามทำให้วงของดอกไม้ไฟกระจายไปได้กว้างมากที่สุด
นอกจากนี้การใส่ดินปืนลูกเล็ก ๆ หลาย ๆ ชั้นภายในทำให้สามารถผสมดินปืนกับสารเคมีที่แตกต่างกันในแต่ละชั้น ส่งผลให้ดอกไม้ไฟมีการเล่นสีได้หลากหลายมากขึ้นอีกด้วย
ดอกไม้ไฟเป็นที่นิยมตั้งแต่ยุคเอโดะ
ญี่ปุ่นมีการสืบทอดเทคนิคการผลิตดอกไม้ไฟมาช้านาน ซึ่งอาชีพช่างผลิตดอกไม้ไฟมีมาตั้งแต่สมัยเอโดะโดยได้รับอิทธิพลมาจากประเทศอังกฤษ
ว่ากันว่าในปี 1613 โชกุนโทคุกาวะ อิเอยาสึ มีโอกาสได้ชมงานแสดงดอกไม้ไฟที่จัดโดยคณะทูตอังกฤษและเกิดความประทับใจ โดยดอกไม้ไฟเริ่มเป็นที่นิยมในหมู่ขุนนางก่อน และมีการแพร่หลายไปสู่บุคคลทั่วไปมากขึ้นในภายหลัง ซึ่งงานดอกไม้ไฟประจำปีสุดอลังการที่จัดริมแม่น้ำสุมิดะในกรุงโตเกียว หรือ Sumidagawa Fireworks Festival (隅田川花火大会) นั้นว่ากันว่าเริ่มมาตั้งแต่ปี 1733 เดิมใช้ชื่องานว่า “Ryogoku no Kawabiraki” (両国の川開き)
อาชีพที่เกี่ยวข้องกับดอกไม้ไฟ
อาชีพช่างชำนาญการในการทำดอกไม้ไฟ หรือ Firework master (花火師) เป็นอาชีพที่มีมาตั้งแต่สมัยเอโดะ ในปัจจุบันมีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับดอกไม้ไฟแบ่งได้หลัก 3 กลุ่มหลักคือ ช่างผลิตดอกไม้ไฟ คนเตรียมจัดงานแสดงดอกไม้ไฟ และคนที่มีหน้าที่เก็บกวาดหลังจากจัดงานดอกไม้ไฟ
อาชีพช่างผลิตดอกไม้ไฟนั้นถือว่าต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางมาก และจะต้องมีการสอบใบอนุญาตในการทำอาชีพนี้ เนื่องจากญี่ปุ่นมีกฎหมายควบคุมสินค้าที่เกี่ยวกับวัตถุไวไฟหรือสารที่ก่อให้เกิดการระเบิด คนที่เป็นช่างผลิตจึงต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านนี้อย่างมากด้วย
ไม่ใช่แค่ความรู้ด้านเทคนิคอย่างเดียว วิชาชีพนี้ต้องมีความคิดสร้างสรรค์สูง เนื่องจากการสร้างสรรค์ดอกไม้ไฟให้เป็นรูปร่างหรือสีสันต่าง ๆ ต้องใช้จินตนาการและต้องใช้สกิลทั้งด้านวิทย์และศิลป์อย่างเต็มที่เลยทีเดียว
งานดอกไม้ไฟสุดอลังการที่ญี่ปุ่น
การที่ญี่ปุ่นจัดแสดงดอกไม้ไฟและการแข่งขันประกวดดอกไม้ไฟบ่อย ๆ นั้น มีส่วนทำให้เหล่าช่างผลิตดอกไม้ไฟต้องคอยพัฒนาฝีมือของตัวเองอยู่เสมอ หนึ่งในงานประกวดดอกไม้ไฟที่มีชื่อเสียงที่สุดในญี่ปุ่นคือ “Omagari Hanabi” National Fireworks Competition (「大曲の花火」全国花火競技大会) ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปีในเดือนสิงหาคม ที่เมืองไดเซ็น (大仙市) จังหวัดอาคิตะ เป็นงานยิ่งใหญ่ระดับประเทศที่ผู้ชนะในงานนี้จะได้รับรางวัลจากนายกรัฐมนตรีเลยทีเดียว
แม้ว่างานแสดงหรือแข่งขันดอกไม้ไฟมักจะจัดขึ้นในฤดูร้อน แต่ช่างฝีมือผู้ทำดอกไม้ไฟทั้งหลายก็ใช้เวลาช่วงที่ไม่มีงานแสดงในการพัฒนาและสร้างสรรค์ผลงานอยู่ตลอดเวลา เราจึงเห็นได้ว่าญี่ปุ่นมักมีเทคนิคการสร้างสรรค์ดอกไม้ไฟสุดอลังการออกมาให้เราได้ชมอยู่เรื่อย ๆ
สำหรับใครที่ชื่นชอบการชมดอกไม้ไฟ ห้ามพลาดที่จะหาโอกาสไปชมงานแสดงหรืองานแข่งขันดอกไม้ไฟที่ประเทศญี่ปุ่นเลยนะคะ รับรองว่าคุณจะต้องร้องว้าวและประทับใจกับความอลังการของงานศิลป์ที่รังสรรค์อย่างพิถีพิถันโดยช่างฝีมือนี้อย่างแน่นอน
สรุปเนื้อหาจาก: tenki, japan-fireworks