“อาหารญี่ปุ่น” ได้ถูกจัดให้เป็นอาหารแสนอร่อยที่ใคร ๆ ก็ชอบรับประทานกินกัน ไม่ว่าจะเป็นทั้งอาหารที่จำหน่ายขายในราคาย่อมเยาว์ไม่แพงไปจนถึงอาหารหรูราคาเเพง ระดับได้มิชลินสตาร์ แต่เคยมีใครคิดตั้งคำถามกันไหมว่าแล้วสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นรวมถึงเหล่าเชื้อพระวงศ์ญี่ปุ่น พวกท่านเสวยพระกระยาหารแบบไหนกัน? คนส่วนใหญ่ก็คงต่างพากันคิดว่าต้องเป็นอาหารหรูหราสุดอลังการอย่างสุด ๆ เป็นแน่ ดังนั้นในวันนี้เราจะมาเล่าสู่ให้ฟังกันค่ะ
ตัวอย่างพระกระยาหารสำหรับ 1 วัน ในปี ค.ศ. 1984
- พระกระยาหารเช้า: โอ๊ตมิลค์ ซุปกะหล่ำปลี สลัด(มะเขือเทศ ผัดกาดแก้ว แตงกวา) นมและโยเกิร์ต
- พระกระยาหารกลางวัน: ขนมปัง เห็ดหอมชิตาเกะตุ่น ซุป ไก่ย่างชีส นมและของย่าง
- พระกระยาหารเย็น: ข้าวบาเลย์ ซุปเต้าเจี้ยวมิโซะ เผือกอ่อนและถั่วฝักยาวปรุงรส ปลาสำลีญี่ปุ่นราดซอสเทริยากิ และผักโขมต้ม
ตัวอย่างพระกระยาหารในเดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 1990
- พระกระยาหารเช้า: ขนมปัง แอปเปิ้ล นมและแยม
- พระกระยาหารกลางวัน: ซุป ปลา กราแตงและสลัด
- พระกระยาหารเย็น: ข้าวบาเลย์ ซุปมิโซะใส่สาหร่ายวากาเมะ เทมปุระ 3 ชนิด ปลา 2 ชนิดและผักโคมัตสึนะต้ม
“เอ๊ะ!? ผิดคาด…” คงเป็นสิ่งที่ทุกคนคิดกันใช่ไหมคะ? เชื่อได้เลยว่าทุกคนคงประหลาดใจไม่น้อยเลยว่าพระกระยาหารข้างต้นที่กล่าวมา มีรายละเอียดหรือรูปแบบที่ดูแล้วแทบจะไม่ต่างกับอาหารธรรมดา ๆ ทั่วไปที่พวกเรารับประทานกันเลย แล้วอะไรคือสิ่งที่ทำให้มันต่างออกไปล่ะ? คำตอบคือ “แหล่งที่มาของวัตถุดิบ” ค่ะ โดยวัตถุดิบของพระกระยาหารและเครื่องคาวที่พระจักรพรรดิเสวยจะได้มาจาก “ฟาร์มเลี้ยงพิเศษของสำนักพระราชวัง” (Imperial Livestock Farm) โดยตรง และยังไม่มีการใช้สารปรุงแต่งในการปรุงพระกระยาหาร เพื่อให้ได้มาซึ่งรสชาติความอร่อยที่แท้จริงของวัตถุดิบนั้น ๆ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีพ่อครัวหรือกุ๊กโดยเฉพาะเพื่อทำหน้าที่ปรุงพระกระยาหารและเครื่องคาวตรงนี้ด้วยนะคะ
ในส่วนของฟาร์มเลี้ยงพิเศษของสำนักพระราชวังนั้น ตั้งอยู่ที่เมืองทะคะเนซาว่า จังหวัดโทจิงิ ซึ่งฟาร์มแห่งนี้ก่อตั้งมาจากแนวความคิดของ นายโอกูโบะ โทชิมิจิ (Okubo Toshimichi = 大久保利通) โดยครั้งที่นายโอกูโบะ ได้เดินทางไปสำรวจอังกฤษและเยอรมันกับคณะของ นายอิโต ฮิโรบูมิ (Itou Hirobumi = 伊藤博文) เมื่อปี ค.ศ. 1871 ก็ค้นพบว่าราชวงศ์ในประเทศยุโรปมีฟาร์มทำการเกษตรและปศุสัตว์เป็นของตนเอง ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการนำเอาวัตถุดิบจากฟาร์มเหล่านั้นมาทำเป็นอาหารเลี้ยงรับรองแขกบ้านแขกเมือง ซึ่งสร้างความรู้สึกประหลาดใจให้แก่นายโอกูโบะเป็นอย่างมาก เขาจึงได้นำวิธีการดังกล่าวเข้ามาใช้ในประเทศญี่ปุ่นในเวลาต่อมา
อีกทั้งสมเด็จพระจักรพรรดิโชวะ หรือสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโระฮิโตะ (จักรพรรดิญี่ปุ่นองค์ที่ 124) ก็ทรงมีพระราชราชดำริเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับ นายอิชิซึกะ สะเก็น (Ishizika Sagen = 石塚左玄) เเพทย์แผนโบราณสมัยเมจิในหลักความคิดที่ว่า “ชินโดะฟูจิ หรือ ชินโดะฟูนิ”(Shindofuji หรือ Shindofuni = 身土不二) ซึ่งมีความหมายว่า “ร่างกายของมนุษย์และแผ่นดินที่มนุษย์อาศัยอยู่ ต่อให้จะพยายามตัดให้ขาด ก็ไม่สามารถทำได้” ซึ่งในเรื่องของอาหารก็จะสื่อได้ว่า “อาหารที่ดีคืออาหารที่มีแหล่งกำเนิดมาจากที่ ๆ นั้น” กับความคิดที่ว่า “อาหารเป็นยารักษาโรค” จึงทำให้เกิดการตั้งฟาร์มเลี้ยงพิเศษขึ้นอย่างจริงจัง
*เกร็ดความรู้*
(1) โอกูโบะ โทชิมิจิ (Okubo Toshimichi = 大久保利通) แต่เดิมเป็นซามูไรแห่งแคว้นซัตสึมะ (Satsuma Han = 薩摩藩) หรือปัจจุบันคือ จังหวัดคาโกชิมะ ได้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวเพื่อล้มล้างระบบการปกครองของรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะช่วงสมัยบากูฟุตอนปลาย และยังเป็น 1 ใน 3 แกนนำใหญ่ในคณะฟื้นฟูปฎิรูปเมจิ รวมถึงยังเป็นรัฐบุรุษเป็นผู้มีบทบาทในการวางรากฐานของประเทศญี่ปุ่นให้เปลี่ยนเข้าสู่ยุคสมัยใหม่คือ ยุคเมจิ อีกด้วย
(2) อิโต ฮิโรบูมิ (Itou Hirobumi = 伊藤博文) เดิมเป็นซามูไรแห่งแคว้นโชชู (Choshu Han = 長州藩) หรือปัจจุบันคือจังหวัดยามากุจิ เป็นหนึ่งในผู้ร่วมร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของญี่ปุ่น ในยุคสมัยเมจิ ในปี ค.ศ. 1885 หลังจากที่มีระบบคณะรัฐมนตรีเกิดขึ้น ก็ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรกของญี่ปุ่น (ได้เป็นซ้ำอีก 3 สมัย รวมเป็น 4 สมัย) ดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรี และประธานวุฒิสภา และเคยยังเป็นบุคคลที่ปรากฏบนพันธบัตร 1,000 เยนญี่ปุ่นในสมัยอดีตอีกด้วย
ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนม
ในเมนูพระกระยาหารเช้า “โยเกิร์ต” ถือว่าเป็นสิ่งที่จะขาดไปไม่ได้ ซึ่งก่อนที่การบริโภคโยเกิร์ตจะได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในหมู่สามัญชนทั่วไป ฟาร์มเลี้ยงพิเศษได้มีการผลิต “Calgurt” (カルグルト) ซึ่งเป็นเครื่องดื่มกรดแลคติกที่ได้มาจากการนำเอาไขมันออกไปจากนม หรือที่ทั่วไปรู้จักในชื่อของ โยเกิร์ต มาอยู่ก่อนแล้ว โดยเมื่อนำเอาส่วนผสมชนิดเข้มข้นไปผสมเจือจางกับน้ำจะเกิดรสเปรี้ยวขึ้น ในส่วนของชนิดนมที่นำมาใช้จะได้มาจากวัวนมพันธุ์โฮลส์ไตน์ฟรีเชี่ยน (Holstein Friesian) กับ วัวนมพันธุ์เจอร์ซี่ (Jersey) ซึ่งจะถูกเลี้ยงแบบปล่อยให้ได้อาบแดดอย่างอิสระในฟาร์ม และให้หญ้าที่ไม่ผ่านการพ่นยาฆ่าแมลงเป็นอาหาร รวมถึงยังได้รับการดูแลอาบน้ำถึง 2 ครั้งต่อวันด้วย ซึ่งการเลี้ยงดูอย่างพิถีพิถันนี้ ทำให้วัวไม่เกิดความเครียด น้ำนมที่ได้ก็จะมีความอร่อยเป็นอย่างมากค่ะ
ยิ่งไปกว่านั้น วิธีการพาสเจอไรซ์ฆ่าเชื้อก็ยังมีกรรมวิธีที่แตกต่างกับกรรมวิธีพาสเจอไรซ์แบบปกติ โดยตามท้องตลาดทั่วไป การจำหน่ายเน้นจำหน่ายขายในปริมาณที่มาก จึงนิยมใช้วิธีการพาสเจอไรซ์ฆ่าเชื้อแบบความร้อนสูง เวลาสั้น ซึ่งจะทำให้รสชาติและสารอาหารลดลงได้ แต่ทว่าที่ฟาร์มเลี้ยงพิเศษจะเป็นการพาสเจอไรซ์ฆ่าเชื้อแบบใช้ความร้อนต่ำจึงทำให้รสชาติ และสารอาหารยังคงอยู่
ผักและเนื้อสัตว์มาจากฟาร์มเลี้ยงพิเศษแทบทั้งหมด?
1. ผักต่างๆ
ผักที่ได้จะเป็นผักที่ปลูกแบบออร์เเกนิค ซึ่งไม่ผ่านการใช้ยาหรือปุ๋ยผสมสารเคมี และปุ๋ยที่ใช้ก็มีการผลิตที่พิถีพิถันเป็นอย่างมาก โดยจะเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่มาจากขี้ม้า ซึ่งผ่านการหมักมามากกว่า 1 ปีขึ้นไป โดยในฟาร์มเลี้ยงพิเศษมีม้าเลี้ยงไว้เป็นจำนวนมากถึงที่ 43 ตัว จึงสามารถเก็บขี้ม้าได้ในปริมาณที่เพียงพอสำหรับมาทำปุ๋ยได้
นอกจากนี้ “การปลูกพืชซ้ำ ๆ ในพื้นที่เดิม” ซึ่งเป็นการสร้างปัญหาให้กับดิน รวมถึงทำให้แร่ธาตุและสารอาหารในดินลดลง พืชหรือผลไม้ที่ปลูกก็จะป่วยเป็นโรคได้ง่าย รวมถึงปัญหาแมลงและศัตรูพืชก็จะเพิ่มขึ้นอีกด้วย ดังนั้นการปลูกพืชหมุนเวียนเป็นสิ่งที่ต้องทำ เช่น หลังจากที่ปลูกมันเทศเสร็จในฤดูนี้ พอเข้าฤดูถัดไปก็เปลี่ยนมาปลูกข้าวสาลีหรือดอกดาวเรืองแทน ซึ่งจะสามารถลดและกำจัดแมลงศัตรูพืชอย่างหนอนตัวกลมของมันเทศออกไปได้ ดังนั้นที่ฟาร์มเลี้ยงพิเศษแห่งนี้จึงพยายามหลีกเลี่ยงไม่ใช้วิธีการปลูกพืชชนิดเดิมซ้ำ ๆ บนพื้นที่ปลูกเดียวกัน และยังไม่ใช่ยาฆ่าแมลง ใช้เป็นการอบดินด้วยไอน้ำแทน
2. เนื้อสัตว์ชนิดต่างๆ
แกะ ไก่ วัว และหมูในฟาร์มเลี้ยงพิเศษแห่งนี้ล้วนแล้วแต่ถูกปล่อยเลี้ยงอย่างอิสระ ถ้าวันไหนอากาศร้อนจัดก็จะมีการอาบน้ำเพื่อคลายร้อนไม่ให้สัตว์ประเภทต่าง ๆ ที่เลี้ยงไว้เกิดความเครียด รวมถึงอาหารที่ใช้เลี้ยงล้วนแล้วแต่เป็นอาหารที่ปลอดสารเคมี
โดยเฉพาะ “หมู” เพราะการเลี้ยงหมูตามปกติทั่วไปจะนิยมเลี้ยงในปริมาณจำนวนที่เยอะ สถานที่เลี้ยงส่วนใหญ่ก็จะมีขนาดคับแคบมีพื้นที่จำกัด มักจะไม่มีแสงอาทิตย์หรือแสงสว่างจากภายนอกส่องเข้าไปถึงได้ รวมถึงอาหารที่ใช้ก็ยังปนเปื้อนไปด้วยสารเคมี หมูก็จะมีความเครียด ทำให้เนื้อหมูที่ได้มีคสชาติไม่อร่อย รวมถึงตั้งแต่ช่วงยุคสมัยปี ค.ศ. 1950 ลงมาหรือสมัยยุคโชวะที่ 30 ลงไป ภาคการประมงญี่ปุ่นเจริญรุ่งเรื่องเป็นอย่างมาก ชาวประมงจับปลาได้เยอะเป็นพิเศษ จึงนิยมนำปลาที่เหลือมาแปรรูปเป็นปลาป่น สำหรับใช้เป็นอาหารเลี้ยงหมู ดังนั้นฟาร์มเลี้ยงหมูที่ใช้ปลาป่นมาเป็นอาหารเลี้ยงหมูจึงมีเยอะมาก จึงทำให้เนื้อหมูที่ได้จะมีกลิ่นเหม็นของปลาติดอยู่ที่เนื้อ รสชาติของเนื้อหมูก็ไม่อร่อย
3. ข้าว
ฟาร์มเลี้ยงพิเศษแห่งนี้ จะไม่มีนาดำ ดังนั้นข้าวที่ใช้ในการทำเป็นพระกระยาหารจะนำเข้ามาจากร้านขายข้าว โดยร้านโอกูโระโคเมะเท็ง (Oguro Kometen = 小黒米店) ในเขตบุงเคียว โตเกียวเป็นร้านที่ทางสำนักพระราชวังใช้ (ปัจจุบันร้านได้ปิดตัวลงไปแล้วเมื่อปี ค.ศ. 2022 ที่ผ่านมา) โดยข้าวที่จำหน่ายที่ร้านจะเป็นข้าวที่ถูกคัดเลือกมาเป็นอย่างดีจากข้าวชั้นดีทั่วประเทศ โดยข้าวที่ทางสำนักพระราชวังนิยมสั่งเข้ามาใช้คือ “ข้าวกล้องดำ” ค่ะ
พระกระยาหารในงานเลี้ยงต้อนรับและในวันพระราชสมภพ
ตัวอย่างพระกระยาหารในงานเลี้ยงอาหารค่ำกับเหล่าราชวงศ์เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 1994
ตับบด ซุปวิชชีสวาซใส่มะเขือเทศ ปลาห่อแป้งพาย เนื้อวัวสันในย่างโรยพริกไทยเสริฟ์พร้อมผักย่าง สลัดมะเขือเทศซอสมะนาว ซอสผลไม้เสริฟ์พร้อมไอศกรีม และองุ่นไชน์มัสคัต กับสตรอว์เบอร์รี่
ตัวอย่างพระกระยาหารในงานพิธีเนื่องในวันคล้ายพระราชสมภพสมเด็จพระจักรพรรดิเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 1990
- ซุป: เต้าเจี้ยวมิโซะขาวใส่เนื้อปลาคาร์ฟห่อด้วยสาหร่ายคอมบุและส้มยูซุ
- ของดิบ: ปลาตาเดียว ปลาหมึกบั้ง ไข่ปลากระบอกเค็ม หัวไชเท้าฝอย ผักฝางเฟิง หอมแดง แตงกวา วาซาบิ
- เครื่องเคียง: ลูกชิ้นปลาคามาโบโกะ ไก่ย่างคลุกเมล็ดป๊อบปี้ วุ้นถั่วแดง
- ของย่าง: ปลากะพงเป็นตัวย่างเกลือ หัวผักกาดฝรั่งแกะสลักเป็นรูปดอกเบญจมาศและขิงดอง
- อาหารร้อน: ไข่ตุ๋นใส่เนื้อปลาไหล หน่อไม้ แปะก๊วย และผักปวยเล้ง
- เครื่องดื่ม: เหล้าสาเก
ทั้งนี้ ผักและวัตถุดิบต่าง ๆ ที่นำมาใช้ถูกคัดสรรมาอย่างดี และยังประดิดประดอยตกแต่งอย่างสวยงาม ในกรณีที่พระราชอาคันตุกะเป็นชาวต่างชาติ เช่น นายกรัฐมนตรีหรือผู้นำประเทศอื่น ๆ ก็จะมีการจัดสำรับอาหารในรูปแบบอื่นให้เข้ากับบุคคลนั้น ๆ เช่น เสริฟ์เป็นอาหารฝรั่งแทน แต่วัตถุดิบที่ใช้ เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่หรือเนื้อแกะก็ล้วนแล้วแต่ยังคงมีรสชาติอร่อยถูกปากแขกบ้านแขกเมืองเป็นอย่างมากไม่แพ้อาหารญี่ปุ่นเลย
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ? กับลักษณะของพระกระยาหารและเครื่องคาวเหล่านี้ เป็นอาหารออแกนิคดูสุขภาพดีสุด ๆ ไปเลยใช่ไหม? อย่างไรก็ตาม ต่อให้เราไม่สามารถที่จะกินหรือรับประทานอาหารเช่น เนื้อหรือผักที่ปลอดสารพิษได้ทุกมื้ออย่างสมเด็จพระจักรพรรดิ แต่เราก็ยังสามารถเลือกกินอาหารที่มีคุณค่าและให้สารประโยชน์ต่อร่างกายได้อยู่ ดังนั้นก่อนที่จะกินหรือรับอะไรเข้าไปในร่างกาย ก็ขอให้ลองคิดคำนึงถึงผลประโยชน์และคุณค่าที่จะได้รับเสมอนะคะ นอกจากจะได้ความอร่อยแล้วยังได้สารอาหารที่มีประโยชน์อย่างครบถ้วนอีกด้วย
ในส่วนของใครที่กังวลเกี่ยวกับเรื่องการคิดคำนวน “ปริมาณแคลอรี่” ก็ไม่ควรที่จะเคร่งเครียดมากเกินไป เนื่องจากการคิดคำนวนแคลอรี่ที่ใช้ในปัจจุบันเป็นการใช้มาตรฐานการคำนวนมาจากชาวเยอรมันในช่วงศตวรรษที่ 19 โดยเป็นการคิดคำนวนเก็บข้อมูลจากกลุ่มวัยรุ่นหนุ่มสาวจำนวน 20 คน ซึ่งเมื่อนำมาเทียบกับร่างกายและวิธีการรับประทานอาหารและใช้ชีวิตของชาวเอเชีย โดยเฉพาะคนญี่ปุ่นหรือคนไทยอย่างเราจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำตามทั้งหมด เมื่อเรารู้สึกว่าร่างกายไม่ไหวหรือต้องการพัก “การหยุดกิน” ก็เป็นการปล่อยให้ร่างกายได้พักผ่อน อวัยวะภายในร่างกายก็ไม่ต้องฝืนต้องทำงานหนักเกินไป ดังนั้นความคิดที่ว่า “ต้องรับประทานอาหารครบ 3 มื้อ” ซึ่งเป็นความคิดจากฝั่งยุโรปก็ไม่ควรที่จะนำมาใช้เป็นหลักในชีวิตประจำวันมากจนเกินไป ควรที่จะคิดและปรับให้เหมาะสมกับร่างกายของเราแต่ละคนดูนะคะ สุขภาพที่ดีเริ่มได้ด้วยมือเราค่ะ!
สรุปเนื้อหาจาก : mag.japaaan
เรียบเรียงโดย : XROSSX