เราทุกคนคุ้นเคยกับความสะดวกสบายในยุคปัจจุบัน อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ มีตัวช่วยในการใช้ชีวิตประวันที่เพียบพร้อม จนเราอาจจะนึกไม่ออกเลยว่าชีวิตในสมัยโบราณเป็นอย่างไร งั้นเราจะพาย้อนอดีตกลับไปดูชีวิตของชาวเอโดะกันค่ะว่าพวกเขามีไลฟ์สไตล์อย่างไร ทั้งอาหาร การทำความสะอาด ซักผ้า แปรงฟัน รวมถึงการใช้ไฟในยามค่ำคืน เขาใช้อะไรกันบ้าง ไปดูกันเลย!
“เอโดะมาเอะ” ความอุดมสมบูรณ์แห่งเอโดะ
ในสมัยเอโดะมีบริเวณที่เรียกว่า “เอโดะมาเอะ” หมายถึงด้านหน้าอ่าวเอโดะหรือในปัจจุบันก็คืออ่าวโตเกียว ในสมัยนั้นพื้นที่นี้จะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์ทะเลมากมาย ปลาส่วนใหญ่ที่ตกได้จากจุดนี้มีทั้งปลาอาจิ ปลาไท ปลาฮิราเมะ ปลาคิสุ ปลาซาโยริ รวมทั้งปลาไหลทะเล กุ้งขาวชิบะ กั้ง และนอกจากอ่าวในทะเลแล้วก็ยังมีปลาไหลน้ำจืดจากแม่น้ำสุมิดะและฟุคากาวะรวมอยู่ในเอโดมาเอะอีกด้วย ด้วยความที่มีปลามากมายขนาดนี้ บางคนจึงอาจจะเคยได้ยินคำว่า “เอโดะมาเอะซูชิ” ซึ่งก็หมายถึงซูชิที่ใช้วัตถุดิบจากทะเลที่อุดมสมบูรณ์และสดใหม่จากเอโดะมาเอะนั่นเอง
ชาวเอโดะไม่ได้ทานปลาทุกวัน
ในเมื่อมีปลามากมายหลายชนิดขนาดนี้ ถ้าพูดถึงกับข้าวในสมัยเอโดะสิ่งแรกที่จะนึกถึงก็คงไม่พ้นปลา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าชาวเอโดะจะทานปลาทุกชนิด ปลาที่นิยมทานกันเป็นหลักคือ ปลาอิวาชิ(ซาร์ดีน)กับ ปลาซัมมะ ซึ่งส่วนใหญ่สามารถหาซื้อได้จากพ่อค้าหาบเร่ แต่ถ้าหากยังไม่ทานตอนสด ๆ ก็จะนำไปตากแห้ง อีกทั้งยังทานเนื้อหอยอาซาริ (หอยลายญี่ปุ่น) กับหอยชิจิมิอีกด้วย และนอกจากอาหารทะเลแล้วเต้าหู้ก็เป็นที่ชื่นชอบมากจนมีการตีพิมพ์หนังสือชื่อ Tofu Hyakuchin (豆腐百珍) ซึ่งเป็นหนังสือรวมสูตรอาหารออกมา
ชาวเอโดะชอบทานหัวไชเท้า
ทุกวันนี้ไม่ว่าเราจะต้องการผักอะไรก็สามารถหาซื้อได้จากซูเปอร์มาร์เก็ต อย่างไรก็ตาม ในสมัยเอโดะนั้นผักที่ทานเป็นหลักจะมีหัวไชเท้า โคมัตสึนะ (ผักกวางตุ้งญี่ปุ่น) มะเขือม่วง รากโกโบ แครอท ฟักทอง และหน่อไม้ ใช้ขิงกับต้นหอมสำหรับปรุงรสแต่งกลิ่น แต่ในบรรดาผักต่าง ๆ หัวไชเท้าเป็นผักที่สามารถทานได้ตลอดทั้งปีและเป็นที่ชื่นชอบของชาวเอโดะอย่างมาก นำมาทำอาหารได้หลายอย่างทั้งต้ม เคี่ยว หมักดอง หรือตากแห้ง
ชาวเอโดะใช้อะไรแปรงฟันและซักผ้า ?
ชาวเอโดะใช้สิ่งที่เรียกว่า Fusayouji (房楊枝) เป็นแปรงสีฟัน ทำโดยการนำกิ่งต้นหลิวหรือไม้พุ่มมาต้มให้นิ่มแล้วใช้ค้อนบดทุบตรงปลายกิ่งให้มีลักษณะเป็นช่อแปรง ดูแล้วคล้ายกับกิ่งข่อยสีฟันของคนไทยสมัยโบราณ ถ้าเป็นผู้หญิงจะใช้กิ่งต้นหลิว ถ้าเป็นผู้ชายจะใช้กิ่งไม้พุ่ม ส่วนผงสำหรับสีฟันเรียกว่า Boushuuzuna (房州砂) ทำโดยการผสมผงทรายกับเครื่องหอมและเกลือเป็นหลัก แต่ดูเหมือนว่าในช่วงรัชสมัยบุงคะ (ปี 1804-1818) จะมีส่วนผสมที่แตกต่างกันไปหลายร้อยชนิด
ในการซักผ้า ชาวเอโดะจะใช้น้ำด่างที่ได้จากการผสมขี้เถ้าลงในน้ำ ตั้งทิ้งไว้แล้วตักเฉพาะน้ำใสด้านบนมาใช้ ผสมกับน้ำซาวข้าวในกะละมังแล้วซักด้วยมือ ส่วนสบู่มีการนำเข้ามาจากโปรตุเกสแล้ว แต่ก็เป็นไอเทมสำหรับผู้มีฐานะร่ำรวยเท่านั้นเนื่องจากมีกลิ่นหอมและใช้เป็นยารักษาโรคทางผิวหนังได้ สำหรับชาวบ้านตาดำ ๆ สิ่งที่ใช้ทดแทนสบู่คือเปลือกจากต้น Mukuroji (無患子) เมื่อนำมาถูเข้าด้วยกันก็จะเกิดเป็นฟอง หรือใช้ผลของต้นไซคาจิแช่ในน้ำอุ่นแล้วนวดเพื่อให้เกิดฟองได้เช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีเทคนิคการซักผ้าที่เรียกว่า Araihari (洗い張り) โดยส่วนใหญ่จะทำในฤดูร้อน วิธีการคือต้องปลดตะเข็บของกิโมโนออกให้เป็นผ้าแยกชิ้นกันแล้ววางบนแผ่นไม้ ขัดถูให้สะอาด ตากแห้ง แล้วจึงใช้ Himenori (姫糊) มีลักษณะเป็นเนื้อกาว ทำโดยการบดข้าวผสมน้ำ แล้วทาเคลือบบนผ้าเนื่องจากในสมัยก่อนกิโมโนทำมาจากวัสดุธรรมชาติทำให้ถูกแมลงกัดกินบ่อย ๆ
ชาวเอโดะใช้อะไรแทนหลอดไฟ ?
ชาวเอโดะใช้โคมกระดาษเป็นหลักเพื่อให้แสงสว่างยามค่ำคืน ใส่น้ำมันลงในจาน ชุบไส้เทียนจากผ้าลินินแล้วจุดไฟโดยใช้ Hiuchiishi (火打石) กับ Hiuchigane (火打金) มาขูดกันให้เกิดประกายไฟ พวกอุปกรณ์ที่ใช้จุดไฟเหล่านี้ก็จะเก็บไว้ในกล่องอุปกรณ์ที่เรียกว่า Hokuchibako (火口箱)
แต่ความสว่างจากโคมกระดาษนั้นว่ากันว่าใกล้เคียงกับความสว่างของหลอดไฟขนาดเล็กในปัจจุบัน แค่จะอ่านจดหมายก็ยังถือว่ายาก ส่วนเทียนไขมีความสว่างมากกว่าโคมกระดาษถึงห้าเท่าแต่ก็เป็นสินค้าที่มีราคาแพงมาก ชาวบ้านจึงใช้ได้เพียงแค่โคมกระดาษธรรมดา อีกทั้งน้ำมันที่ใช้จุดโคมไฟก็ใช้เพียงแค่น้ำมันปลาที่ราคาที่ถูกกว่าน้ำมันพืชคาโนล่าแบบครึ่งต่อครึ่ง แต่ด้วยความที่น้ำมันปลามีกลิ่นแรงและควันเยอะ จึงทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับดวงตามากมายในตอนนั้น ต่อมาเมื่อประมาณกลางสมัยเอโดะ น้ำมันพืชคาโนล่ามีราคาถูกลง ชาวบ้านจึงสามารถซื้อไปใช้จุดโคมไฟเพื่อทำงานในตอนกลางคืนได้
น่าสนใจทุกเรื่องจริง ๆ เลยนะคะเนี่ย ถึงแม้ในสมัยก่อนจะยังไม่มีเทคโนโลยีอำนวยความสะดวก แต่ผู้คนต่างก็สรรหาสิ่งต่าง ๆ มาใช้ทดแทนในชีวิตประจำวันได้ ถ้าเราย้อนกลับไปอยู่ในสมัยนั้นคงเอาตัวไม่รอดแน่ ๆ หวังว่าทุกคนจะสนุกกับประวัติศาสตร์ของเอโดะมากขึ้นนะคะ ^^
สรุปเนื้อหาจาก mag.japaaan