“วัฒนธรรมแบบดาเตะ” เป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในแคว้นเซนได ภายใต้การปกครองของ “ดาเตะ มาซามุเนะ” (ค.ศ. 1567 – 1636) ซึ่งเป็นไดเมียวแห่งยุคเซ็นโกกุ (ค.ศ. 1467–1615) วัฒนธรรมนี้ผสมผสานความสง่างามของศิลปะญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมเข้ากับความเป็นสากล โดยได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมต่างประเทศและศิลปะแบบโมโมยามะ ผลลัพธ์ที่ได้คือความหรูหรา โดดเด่น และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
พูดถึง “ดาเตะ มาซามุเนะ” เขาคือหนึ่งในบุคคลสำคัญแห่งยุคเซ็นโกกุ โดยไม่ได้เป็นเพียงแต่ไดเมียวผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองและการทหารเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้นำทางวัฒนธรรมที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างและเผยแพร่วัฒนธรรมในดินแดนของตนเอง เขามีความทะเยอทะยานในการสร้างเมืองหลวงของตัวเองที่เซนได และต้องการให้เมืองนี้เป็นศูนย์กลางของทั้งการปกครองและวัฒนธรรมที่รุ่งเรือง ในบทความนี้ผู้เขียนจึงจะชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับ “วัฒนธรรมดาเดะ” ที่เกิดจากความคิดของซามูไรท่านนี้กันค่ะ!
จุดเริ่มต้นของ “วัฒนธรรมแบบดาเตะ” แห่งเซนได
หลังจากการสร้างปราสาทเซนไดซึ่งเป็นศูนย์กลางอำนาจของตน มาซามุเนะก็ได้ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูและอนุรักษ์วัฒนธรรมดั้งเดิมของภูมิภาคโทโฮคุ เขาสั่งให้บูรณะวัดและศาลเจ้าหลายแห่ง เช่น หอยาคุชิโดะ ซึ่งตั้งอยู่ภายในวัดมุตสึ โคคุบุนจิ และศาลเจ้าโอซากิ ฮาจิมังกุ ซึ่งมีประวัติยาวนานตั้งแต่สมัยเฮอัน
มาซามุเนะยังได้นำช่างฝีมือและศิลปินจากพื้นที่คิไนมาสู่เซนได เพื่อสร้างสถาปัตยกรรมและศิลปะที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมโมโมยามะ งานแกะสลักอันวิจิตร ผนังประดับภาพวาดสีทอง และอาคารที่ตกแต่งอย่างอลังการล้วนเป็นหลักฐานถึงความวิจิตรของวัฒนธรรมที่เขาสร้างขึ้น นอกจากนี้ เขายังผสมผสานศิลปะแบบดั้งเดิม เช่น ภาพวาดหมึกและงานฝีมือชั้นสูงเข้าไว้ในศิลปะของตนเอง ทำให้วัฒนธรรมแบบดาเตะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
วัฒนธรรมแบบดาเตะและความเป็นสากล
ดาเตะ มาซามุเนะ ไม่เพียงสนใจวัฒนธรรมญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังเปิดรับอิทธิพลจากต่างประเทศด้วย เขาให้ความสนใจในวัฒนธรรมนันบัน (วัฒนธรรมตะวันตกที่เข้ามาสู่ญี่ปุ่นผ่านพ่อค้าชาวโปรตุเกสและสเปน) และพยายามเรียนรู้แนวคิดใหม่ ๆ จากโลกภายนอก โดยเขาเป็นหนึ่งในไดเมียวที่ส่งคณะทูตไปยังยุโรป เพื่อเรียนรู้และสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศตะวันตก
นอกจากนี้ มาซามุเนะยังสนับสนุนวัฒนธรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่น เช่น กลอนญี่ปุ่น พิธีชงชา ละครโน และศิลปะการดมธูป ซึ่งเป็นศิลปะที่ถูกอนุรักษ์และสืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษของตระกูลดาเตะ เขาปรับปรุงและพัฒนาทักษะเหล่านี้ผ่านการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับปัญญาชนและศิลปินในยุคนั้น ทำให้วัฒนธรรมเหล่านี้ไม่เพียงคงอยู่ แต่ยังเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น
วัฒนธรรมที่ดาเตะ มาซามุเนะสร้างขึ้นไม่ได้สิ้นสุดเพียงแค่รุ่นของเขา แต่ยังได้รับการสืบทอดและพัฒนาโดยขุนนางศักดินารุ่นถัดมา หลักฐานของการสืบทอดวัฒนธรรมนี้สามารถเห็นได้จากสถาปัตยกรรมสำคัญในเซนได เช่น ศาลเจ้าโทโชกุ สุสานซุยโฮเด็น และสุสานเอ็นซืออิน ซึ่งล้วนแสดงถึงอิทธิพลของศิลปะแบบดาเตะ
การเผยแพร่วัฒนธรรมแบบดาเตะ
แม้ว่าเซนไดจะเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมของตระกูลดาเตะ แต่วัฒนธรรมที่มาซามุเนะสร้างขึ้นก็แพร่กระจายไปทั่วประเทศญี่ปุ่น ชาวเมืองหลวงอย่างเอโดะให้ความสนใจในความงามของโทโฮคุ และมีการเขียนบทกวีเกี่ยวกับดินแดนแห่งนี้มากมาย นักกวีชื่อดังอย่าง มัตสึโอะ บาโช ยังเดินทางมายังมัตสึชิมะและสถานที่สำคัญต่าง ๆ ของอาณาจักรเซนได และบันทึกประสบการณ์ของตนไว้ในผลงานชื่อ “โอคุ โนะ โฮโซมิจิ (Back Roads to Far Towns: Basho’s Travel Journal) “ ซึ่งยิ่งทำให้ชื่อเสียงของวัฒนธรรมแบบดาเตะได้เป็นที่รู้จักกว้างยิ่งขึ้น
วัฒนธรรมแบบดาเตะไม่ได้จำกัดอยู่เพียงขุนนางและซามูไรเท่านั้น แต่ยังส่งต่อไปยังประชาชนทั่วไป ชาวเมืองเซนไดรับเอาวัฒนธรรมของชนชั้นสูงมาผสมผสานเข้ากับวิถีชีวิตของตนเอง ส่งผลให้เกิดศิลปะการแสดงพื้นบ้าน เช่น การเต้นรำคางุระ การเต้นรำดาบ และการเต้นรำปลูกข้าว ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีท้องถิ่นของเซนได งานฝีมือที่ได้รับการพัฒนาในยุคของมาซามุเนะยังคงมีอิทธิพลมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นแปรงเซนได เครื่องปั้นดินเผาโคอิยากิ และตู้ลิ้นชักเซนได ซึ่งกลายเป็นงานฝีมือแบบดั้งเดิมที่ได้รับการยอมรับในระดับประเทศ
ดาเตะ มาซามุเนะ ไม่เพียงเป็นนักรบที่กล้าหาญและผู้ปกครองที่ชาญฉลาด แต่ยังเป็นนักสร้างสรรค์วัฒนธรรมที่มีวิสัยทัศน์ เขาสร้างเมืองเซนไดให้เป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรม และส่งเสริมให้วัฒนธรรมเหล่านั้นเจริญรุ่งเรืองและเผยแพร่ไปทั่วญี่ปุ่น วัฒนธรรมที่เขาสร้างขึ้นยังคงมีอิทธิพลจนถึงปัจจุบัน ทำให้ชื่อของเขายังคงเป็นที่จดจำในฐานะบุคคลสำคัญที่มีบทบาททั้งในทางการเมือง การทหาร และวัฒนธรรมของญี่ปุ่น
สรุปเนื้อหาจาก : japan-heritage.bunka.go.jp