โคทัตสึ

ฤดูหนาวของญี่ปุ่นนั้นถือว่าตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมจนถึงต้นเดือนเดือนกุมภาพันธ์นั้นเป็นช่วงที่มีอากาศหนาวเย็นมากที่สุด อากาศเย็นยะเยือกกับทิวทัศน์ที่เต็มไปด้วยหิมะขาวโพลนที่มีความนุ่มฟูก็จะเป็นช่วงนี้นี่ล่ะค่ะ และเมื่อนึกถึงหนึ่งในของยังชีพประจำบ้านของชาวญี่ปุ่นที่จำเป็นสำหรับฤดูหนาวแล้วคงจะขาด “โต๊ะโคทัตสึ” หรือโต๊ะอุ่นขาไปไม่ได้เลยตอนที่ได้มีประสบการณ์ใช้งานเจ้าโต๊ะชนิดนี้บอกเลยว่าอุ่นสบายจนไม่อยากลุกออกไปไหนเลยล่ะค่ะ วันนี้จึงอยากแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักกับที่มาของโต๊ะอุ่นขาโคทัตสึกันค่ะว่า เจ้าโต๊ะชนิดนี้มีที่ความเป็นมาอย่างไรบ้าง

วิวัฒนาการของ “โคทัตสึ”

โคทัตสึเป็นอุปกรณ์ทำความร้อนชนิดหนึ่งในรูปแบบของโต๊ะที่มีเครื่องทำความอุ่นอยู่ทางด้านล่าง คลุมด้วยผ้าหนา ๆแบบฟูกที่ใช้นอนเอาไว้ด้านบน ใช้เป็นอุปกรณ์สำหรับให้ความอบอุ่นกับร่างกายยามอากาศหนาวเย็นได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันได้พัฒนาเป็นแบบโต๊ะไฟฟ้าที่สามารถปรับความร้อนได้ตามความต้องการด้วย

โต๊ะโคทัตสึนั้นมีต้นกำเนิดมาตั้งแต่ยุคมุโรมาจิ (ค.ศ.1338 – 1573) ซึ่งในยุคนั้นจะมีการขุดพื้นต่ำลงกว่าระดับพื้นปกติ และใส่ขี้เถ้าเอาไว้รอบ ๆ เพื่อลดความร้อนจากถ่านเรียกว่า “อิโรริ”

พอถึงยุคเอโดะ ก็ถูกประยุกต์ให้มีฐานตั้งขึ้นมามีลักษณะคล้ายโต๊ะ แล้วนำฟูกนอนคลุมด้านบน เรียกว่า “ยะกุระโคทัตสึ” และต่อมาก็เริ่มมีแบบที่ขุดพื้นลงไปให้สามารถนั่งแบบวางขาลงไปได้ เรียกว่า “โคชิคะเคะ โคทัตสึ” หรือ “คิริโคทัตสึ” แต่โคทัตสึแบบนี้จะไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ จึงเริ่มมีการพัฒนาโคทัตสึที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ขึ้นมา โดยเป็นการนำเตาผิงไฟมาประกอบเข้ากับยะกุระหรือแท่นที่ยกสูงขึ้นมาจากพื้นที่เรามักเห็นตามเทศกาลโอบ้ง จนเกิดเป็นโคทัตสึที่กลายเป็นที่นิยมในระดับครัวเรือนพอสมควร ความสำเร็จของรุ่นนี้ยังทำให้เกิดการพัฒนาโคทัตสึแบบกระเบื้อง และแบบอื่น ๆ ออกมาอีกหลายประเภทเลยทีเดียว

ส่วนโคทัตสึแบบที่ขุดลึกลงไปให้นั่งได้อย่างสะดวกที่เรียกว่า “โฮริโคทัตสึ” นั้น เริ่มเป็นที่นิยมตามบ้านเรือนทั่วไปในยุคเมจิ ซึ่งว่ากันว่าออกแบบโดยช่างปั้นดินเผาชาวอังกฤษที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นชื่อว่า Bernard Leach ผู้ที่เกิดไอเดียการทำโฮริโคมัตสึขึ้นมาเนื่องจากตนเองไม่ค่อยสันทัดการนั่งแบบญี่ปุ่นนั่นเอง แต่โคทัตสึในยุคเมจิก็ยังมีการใช้เตาถ่านเป็นแหล่งให้ความร้อนอยู่ แต่เพราะความเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้ และอันตรายจากก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ตั้งแต่ช่วงหลังสงครามจึงได้พัฒนามาเป็นโคทัตสึแบบไฟฟ้าค่ะ

โคทัตสึในยุคสมัยใหม่

ปัจจุบันโคทัตซึที่ใช้กันตามครัวเรือนญี่ปุ่นจะเป็นแบบใช้ไฟฟ้า ซึ่งมีให้เลือกซื้อหลากหลาย ทั้งแบบหลอดอินฟราเรดและหลอดแก้วควอทซ์ มีปุ่มเปิดปิดและสามารถปรับอุณหภูมิได้ อีกทั้งยังมีตัวตรวจจับความร้อนเพื่อควบคุมความร้อนได้อีกด้วย ในส่วนของการดีไซน์โต๊ะนั้นนอกจากจะมีรูปแบบ ไซต์ และราคาให้เลือกซื้อหลากหลายตามความพอใจแล้ว โต๊ะโคทัตสึก็ยังถือเป็นเฟอนิเจอร์แต่งบ้านที่มีเอกลักษณ์เฉพาะอีกด้วยค่ะ

โคทัตสึไม่ได้มีใช้เฉพาะที่ญี่ปุ่นเท่านั้น!

โต๊ะ Korsi ที่จัดแสดงที่ Nain Museum of Anthropology ประเทศอิหร่าน

คนทั่วไปคงจะพบเห็นโคทัตสึจากทั้งในละครญี่ปุ่น หรือแม้แต่ในอนิเมะ จนคิดว่าโคทัตสึนั้นมีให้เห็นได้เฉพาะที่ญี่ปุ่นแน่ๆ แต่ทราบกันไหมคะว่า ที่ประเทศอิหร่านก็มีโต๊ะให้ความอบอุ่นที่มีฟูกปูอยู่ด้านบนเช่นเดียวกับโคทัตสึของญี่ปุ่นเป๊ะเลย เรียกว่า “Korsi” อยู่ด้วยล่ะ นอกจากนี้ที่ อัฟกานิสถาน, ตุรกีเองก็มีใช้งานด้วยเช่นกัน เพียงแต่เรียกกันด้วยชื่ออื่นเท่านั้นค่ะ

โคทัตสึนั้นเรียกได้ว่าเป็นอุปกรณ์ยังชีพยามฤดูหนาวที่นิยมกันมากพอสมควรเลยล่ะค่ะ แม้ว่าเครื่องปรับอากาศจะมีระบบฮีทเตอร์ที่ทำให้อุ่นได้ทั่วห้อง แต่รู้ไหมคะว่าแท้จริงแล้วทั้งสองอย่างไม่สามารถใช้ทดแทนกันได้ขนาดนั้น เพราะเครื่องปรับอากาศจะไม่สามารถให้ความอบอุ่นได้แบบจำกัดพื้นที่เหมือนโคทัตสึ อีกทั้งด้วยต้นกำเนิดที่อยู่คู่บ้านชาวญี่ปุ่นมาตั้งแต่ยุคประวัติศาสตร์ ทำให้ความนิยมโคทัตสึนั้นไม่เคยจางหายไปเลยค่ะ

สรุปเนื้อหาจาก : homes, liginc, togetter


tisttai

จากอดีตที่เคยเมินทุกสิ่งเกี่ยวกับญี่ปุ่น สู่ล่ามผู้มีฝันอยากเที่ยวไปทุกจังหวัดและชิมอาหารให้ครบทุกภูมิภาค ขอมาร่ายเสน่ห์แดนปลาดิบในหลากมุมมองให้ผู้อ่านได้หลงใหลไปพร้อมๆ กันค่ะ

ไอคอน PDPA

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า