กาชา (Gacha) มีที่มาจากคำว่า กาชาปอง (Gachapon) หรือตู้สุ่มแคปซูลทอยที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ซึ่งกาชานี้จะหมายถึง ระบบสุ่มไอเทมที่มักเห็นได้บ่อยในเกมสมาร์ตโฟน Free to Play และส่วนใหญ่จะเป็นการสุ่มตัวละครหรือไอเทมแรร์ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนมีตัง ที่อยากให้ไอดีเกมเก่งขึ้นในเวลารวดเร็ว
เคยมีผลสำรวจเกี่ยวกับตลาดเกมในญี่ปุ่น พบว่า ตลาดเกมในญี่ปุ่นเฟื่องฟูมากในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เป็นรองเพียงแค่ประเทศจีนเท่านั้น นอกจากนี้ ผลสำรวจยังทราบอีกว่า จากประชากรทั้งหมด 75.60 ล้านคนในญี่ปุ่น มีคนที่เป็นเกมเมอร์มากถึง 60% เลยทีเดียว จึงไม่น่าแปลกใจที่ญี่ปุ่นจะมีบริษัทผลิตเกมเยอะ แถมเกมของต่างประเทศหลาย ๆ เกมยังรองรับภาษาญี่ปุ่นเป็นส่วนใหญ่ด้วย
การสุ่มกาชาในญี่ปุ่น
ประเทศที่เป็นต้นกำเนิดการสุ่มกาชาอย่างญี่ปุ่น คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการสุ่มกาชาได้หลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของชาวญี่ปุ่นไปแล้ว ยกตัวอย่างชื่อเกมสมาร์ตโฟนที่ชาวญี่ปุ่นเล่นกันเยอะ เช่น Puzzle & Dragons, Project Sekai Colorful Stage Feat. Hatsune Miku, Uma Musume: Pretty Derby ฯลฯ ซึ่งแต่ละเกมล้วนมีระบบสุ่มกาชา โดยส่วนใหญ่จะดึงดูดเราด้วยโปรโมชัน ‘สุ่มกาชาฟรีครั้งแรก’ ใช้ไอเทมล่อตาล่อใจ ไม่ว่าจะเป็นไอเทมช่วยเสริมพลังให้เก่งขึ้น ตัวละครที่มีความสามารถระดับเทพ หรือแม้แต่สกินตัวละครสวย ๆ ที่จะทำให้เราดูโดดเด่นกว่าคนอื่น ถ้าอยากได้ไอเทมเหล่านี้มาไว้ในครอบครองก็ต้อง ‘เติมเงิน’ หรือในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า คะคิน (課金) และมันคือจุดเริ่มต้นแห่งการเสพติดกาชานั่นเอง
เสพติดกาชา เทียบเท่าติดพนัน ติดแอลกอฮอล์!?
เสพติดกาชา แท้จริงแล้วมันแทบไม่แตกต่างกับการเล่นพนันหรือการติดแอลกอฮอล์เลย เคยผลการทดสอบจากการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ MRI พบว่า สมองของคนที่เสพติดกาชา รวมถึงคนที่ติดเกม จะมีกระตุ้นสารที่ชื่อว่า โดปามีน (Dopamine) ออกมา ทำให้เรารู้สึกดี รู้สึกสนุก รู้สึกพึงพอใจที่ได้สิ่ง ๆ หนึ่งมาในครอบครอง ซึ่งสารโดปามีนนี้ มีโอกาสสูงที่จะหลั่งในสมองของกลุ่มคนที่ติดการพนันและคนที่ติดแอลกอฮอล์ด้วยเช่นกัน
แม้เกมในปัจจุบันส่วนใหญ่จะมี ‘ระบบการันตี’ หรือในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า เท็นโจ (天井 แปลว่า เพดาน) ที่รับประกันได้ว่าเราจะได้ไอเทมแรร์ในกาชาตู้นั้นแน่นอนก็ตาม แต่การได้ไอเทมมาในรูปแบบการสุ่ม มันยิ่งทำให้เรารู้สึกตื่นเต้น ท้าทาย และยอมเติมเงินเพื่อให้ได้มันมาครอบครอง ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะทำให้สารโดปามีนหลั่งออกมามากขึ้น และทำให้รู้สึกมีความสุข และเสพติดในที่สุด
อย่างไรก็ตาม WHO เคยประกาศอย่างเป็นทางการไว้เมื่อปี 2019 ว่า การติดเกม ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบออนไลน์หรือออฟไลน์ รวมถึงเสพติดกาชานั้น เป็นอาการทางสุขภาพจิตที่ต้องได้รับการรักษาเช่นเดียวกับโรคทั่วไป ฉะนั้น พวกเราสายเกมเมอร์จึงควรควบคุมทั้งสติและอารมณ์ของตัวเองให้เป็น อย่างให้เกมมาควบคุมเรา
คนญี่ปุ่นเติมเงินมากที่สุดในโลก!
สมาคมผู้ผลิตสื่อเพื่อความบันเทิงด้านคอมพิวเตอร์ (Computer Entertainment Supplier’s Association หรือ CESA) ระบุว่า ในตลอดปี 2020 ที่ผ่านมา ชาวญี่ปุ่นมีสถิติเติมเกมเฉลี่ยคนละ 10,000 เยน ขณะที่ชาวอเมริกัน เกมเฉลี่ย 6,000 เยน รองลงมาเป็นชาวจีน เติมเกมเฉลี่ยเพียง 1,500 เยน ซึ่งจะเห็นได้ว่า ชาวญี่ปุ่นเงินเกมเยอะที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศมหาอำนาจ
ขณะที่ผลสำรวจเกี่ยวกับการเล่นเกมออนไลน์ของชาวญี่ปุ่น เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2022 โดยบริษัท Mitsubishi UFJ Research and Consulting พบว่า คนเคยเล่นเกมที่ให้บริการระบบสุ่มกาชา เคยใช้เงินจริงซื้อไอเทมในเกมถึง 48.9% ของผู้ตอบแบบสอบถาม นอกจากนี้ คนที่ตอบว่า เคยเติมเงินเพื่อสุ่มกาชามาก่อน ก็มีมากถึง 31.9% เลยทีเดียว
เกี่ยวกับจำนวนเงินเฉลี่ยที่ใช้จ่ายไปกับการสุ่มกาชาภายใน 1 เดือน พบว่า 42.1% ของผู้ตอบแบบสอบถามใช้จ่ายไม่เกิน 1,000 เยน, 34.8% ใช้จ่ายระหว่าง 1,000-5,000 เยน และ 10.8% ใช้จ่ายมากกว่า 10,000 เยน
ขณะที่ชาวญี่ปุ่นผู้ตอบแบบสอบถามที่เคยใช้จ่ายไปกับการสุ่มกาชาสูงสุดระหว่าง 10,000-100,000 เยน มีจำนวนที่ 29.0% และคนที่ใช้จ่ายมากกว่า 100,000 เยน มีจำนวน 10.6% นอกจากนี้ ยังมีคนที่ใช้จ่ายไปกับการเติมเงินเกินกว่างบประมาณที่คาดไว้มากถึง 17.4% อีกด้วย
คอมพลีทกาชา เป็นสิ่งผิดกฎหมายในญี่ปุ่น
Consumer Affairs Agency (CAA) หรือ หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคของญี่ปุ่น ประกาศเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2012 เกี่ยวกับ ‘คอมพลีทกาชา’ ในเกมออนไลน์ โดยระบุว่า การที่ผู้ให้บริการสร้างเงื่อนไขให้ผู้บริโภคต้องสะสมคอลเลกชันไอเทมให้ครบตามที่กำหนด เพื่อปลดล็อกของรางวัลใหญ่นั้น ถือเป็นการละเมิดกฎหมายของญี่ปุ่น
ซึ่งคอมพลีทกาชา หรือในภาษาญี่ปุ่นคือ คอมปุกาชา (コンプガチャ) จัดอยู่ในประเภทเดียวกันกับ ‘การสะสมการ์ด’ หรือภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า การ์ด อาวาเสะ (カード合わせ) ที่เคยมีการออกกฎหมายห้ามในปี 1977 ซึ่งในยุคนั้น ชาวญี่ปุ่นนิยมสะสมการ์ดนักเบสบอล การ์ดตัวละครอนิเมะ ฯลฯ โดยเมื่อสะสมคอลเลกชันได้ครบเซต จะได้รับรางวัลใหญ่เช่นเดียวกับระบบคอมพลีทกาชา
การประกาศกฎหมายคอมพลีทกาชาในตอนนั้น ส่งผลให้ 6 บริษัทผู้ให้บริการเกมสมาร์ตโฟน เช่น บริษัท DeNA, บริษัท Dwango ฯลฯ จำเป็นต้องหยุดให้บริการคอมพลีทกาชาในทันที และมีการแจ้งไกด์ไลน์ให้กับผู้ใช้งาน
อย่างไรก็ตาม ประเทศญี่ปุ่นไม่มีกฎหมายกำหนดเกี่ยวกับการระบุเรทกาชา หรือโอกาสในการสุ่มรางวัลอย่างชัดเจนในเกมออนไลน์ แต่หากผู้ให้บริการมีการเปิดเผยเรทกาชา แต่ของรางวัลที่ได้ไม่เป็นไปตามที่ระบุเอาไว้ จะถือเป็นการละเมิดกฎหมายของญี่ปุ่นนั่นเอง
รูทบ็อกของต่างประเทศ
ระบบสุ่มกาชาของญี่ปุ่น เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดระบบกล่องสุ่ม หรือ Loot box ขึ้นในวงการเกมของต่างประเทศ ซึ่งเป็นระบบสุ่มไอเทมหรือสกินตัวละครคล้าย ๆ กัน แต่ Loot box ในต่างประเทศส่วนใหญ่ มีกฏข้อบังคับที่รัดกุม ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากเกมสตาร์วอร์สแบทเทิลฟรอนท์ 2 ที่วางจำหน่ายในปี 2017 โดยค่ายเกมยักษ์ใหญ่ EA ที่ถูกวิจารณ์จากแฟนเกมอย่างหนักเกี่ยวกับระบบเพิ่มความสามารถของตัวละคร หากผู้เล่นอยากให้ตัวละครของเราเก่งขึ้นมากเท่าไหร่ ก็ต้องเปิด Loot box มากตามเท่านั้น และนั่นส่งผลให้หลายประเทศ เช่น เบลเยี่ยม, เนเธอร์แลนด์ ฯลฯ ออกกฏหมายเกี่ยวกับระบบ Loot box ขึ้นมาเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค
ซึ่งผู้ให้บริการเกมออนไลน์ในต่างประเทศก็ปิ๊งไอเดีย โดยออกระบบใหม่ที่ชื่อว่า Battle pass หรือ Season pass มาแทนที่ระบบสุ่มกาชาและระบบกล่องสุ่ม โดยผู้เล่นเกมจะต้องซื้อตั๋ว Battle pass ด้วยเงินจริง เมื่อสามารถปลดล็อกได้ตามเงื่อนไขที่เกมกำหนด เราจะสามารถกดได้รับของรางวัลที่เกมระบุเอาไว้ได้เลยโดยไม่ต้องลุ้นเหมือนกาชา
อย่างไรก็ตาม ระบบสุ่มกาชา ระบบ Loot box และระบบ Battle pass ก็ยังคงอยู่คู่กับวงการเกมมาจนถึงปัจจุบัน ระบบสุ่มกาชาจะไม่เกิดโทษ หากเราสามาถควบควมสติของตนได้ดีพอ ก่อนเติมเกมควรหมั่นปรึกษาเงินในบัญชี พิจารณาอย่างรอบคอบ และจำกัดจำนวนการเติมให้ชัดเจน เพราะการเติมเกมไม่ใช่เรื่องเสียหาย แถมเป็นการสนับสนุนเกมที่เรารัก และช่วยให้ผู้พัฒนาเกมทำคอนเทนต์ดี ๆ ออกมาได้อีกด้วย
สรุปเนื้อหาจาก : president.jp, ja.wikipedia, shugiin.go.jp, markezine.jp, financial-field