ญี่ปุ่นมีปราสาทมากมายเต็มไปหมด ถ้ารวมปราสาทที่พังไปแล้ว จำนวนปราสาทอาจมีมากถึง 50,000 แห่งทั่วประเทศ แต่ที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบันมีประมาณ 100 แห่ง โดยหากเราพูดถึงปราสาท ส่วนที่สำคัญที่สุดและเป็นสัญลักษณ์ของปราสาทในญี่ปุ่นคือส่วนของ เทนชุ หรือ เทนชุคะคุ (天守閣, Tenshukaku) ซึ่งเป็นอาคารที่สูงที่สุดของบริเวณปราสาท บทความนี้เราจะมาพูดถึงเรื่องน่ารู้ของเทนชุและปราสาทญี่ปุ่นกัน
เทนชุคืออะไร? มีเพื่ออะไร?
เทนชุ เป็นอาคารที่สูงที่สุดของบริเวณรอบปราสาทโดยเมื่อก่อนการสร้างปราสาทจะสร้างเป็นบริเวณกว้างเพื่อให้มีอาคารหลายรูปแบบเพื่อวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน ทั้งอาคารที่ ไดเมียว (大名, Daimyou) หรือขุนศึกญี่ปุ่นยุคกลางของญี่ปุ่นอยู่อาศัย อาคารโกดัง ฯลฯ โดยจะบริเวณทั้งหมดว่า เมืองใต้ปราสาท (城下町, Joukamachi) โดยเทนชุมีหน้าที่เป็นศูนย์บัญชาการการรบ โดยไดเมียวจะคอยสั่งการอยู่บนยอดอาคาร ส่วนชั้นอื่นจะเป็นที่เก็บอาวุธ รวมทั้งมีการออกแบบให้เหมาะแก่การป้องกันศัตรูทั้งบันไดสูงชัน ช่องตามผนังเพื่อซุ่มยิงปืนใส่ศัตรูที่เข้าใกล้ปราสาท อีกทั้งเทนชุยังเป็นสัญลักษณ์แทนอำนาจของไดเมียว ปัจจุบันเทนชุเป็นสัญลักษณ์ของปราสาทญี่ปุ่นที่ไม่ว่าคนไทยหรือคนญี่ปุ่นจะนึกถึงโดยอัตโนมัติ
ยุคเปลี่ยนผ่านกับการล่มสลายของเทนชุ
การสร้างปราสาทและเทนชุมีความนิยมเป็นอย่างมากในช่วงสงครามกลางเมืองญี่ปุ่น โดยเฉพาะเทนชุที่ใช้ในการรบ ทำให้ปราสาทและเทนชุกระจายตัวอยู่ทั่วญี่ปุ่น แต่หลังจากยุคสงครามจบลงในศตวรรษที่ 17 โชกุนโทกุกาว่า อิเอยาสุ (徳川家康) ได้ออกกฎหมาย พระราชบัญญัติหนึ่งแคว้นหนึ่งปราสาท (一国一城令, Ikkokuichijourei) ให้ทำลายปราสาทเหลือเหลือเพียงหลังเดียวต่อแคว้นโดยเฉพาะเทนชุ แต่ในกรณีที่แคว้นนั้นมีไดเมียวผู้ครองพื้นที่มากกว่าหนึ่งคน จะกำหนดให้มีปราสาทได้ตามจำนวนของไดเมียว โดยเป้าหมายของกฎหมายฉบับนี้คือการจำกัดอำนาจของไดเมียวและทำลายสัญลักษณ์ที่เป็นอำนาจของไดเมียว โดยเฉพาะเทนชุที่ใช้ในการสงคราม ต่อมาหลังการปฏิรูปเมจิ (明治革命) ในศตวรรษที่ 19 รัฐบาลใหม่มีการออก พระราชบัญญัติทำลายปราสาท (Haijourei, 廃城令) โดยแบ่งปราสาทออกเป็น 2 ประเภทด้วยกัน
ประเภทแรก คือปราสาทที่ถูกนำไปใช้เป็นพื้นที่ทางการทหารโดยกองทัพ และประเภทที่สองคือปราสาทที่ไม่ได้ถูกนำไปใช้ทางการทหาร และจะถูกส่งมอบให้กระทรวงการคลังในฐานะทรัพย์สินสำหรับขายต่อไป เช่น ปราสาทโอดะวาระ (小田原城, Odawara Castle) ในจังหวัดคานากาวะที่ตกไปอยู่ในการดูแลของกระทรวงกลาโหม หรือส่วนหนึ่งของปราสาทซุมปุ (駿府城, Sumpu Castle) ในจังหวัดชิสุโอกะที่ถูกใช้เป็นสวนสาธารณะและโรงเรียนเป็นต้น ปราสาทจึงค่อย ๆ หายไป ต่อมามีการรณรงค์เพื่ออนุรักษ์ปราสาท แม้เบื้องต้นจะรักษาปราสาทได้ 20 แห่ง แต่น่าเสียดายที่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปราสาทได้ถูกทำลายจากภัยสงคราม จนปัจจุบันเหลือเพียง 12 แห่งที่สร้างมาตั้งแต่ก่อนยุคเมจิ
ปราสาทญี่ปุ่นในปัจจุบัน
ปัจจุบันปราสาทส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นไม่ใช่ปราสาทที่สร้างมาแต่เดิมแต่เป็นปราสาทที่สร้างขึ้นใหม่ อย่างเช่น ปราสาทโอซาก้าที่โดนทำลายหลังจากตระกูลโทโยโทมิ สิ้นอำนาจ ปราสาทนาโกย่าที่โดนระเบิดจากสงคราม ส่วนปราสาทที่รอดจากภัยธรรมชาติ ภัยการเมือง และภัยสงครามจะถูกเรียกว่า เกนซงเทนชุคะคุ (現存天守閣, Genson Tenshukaku) หรือ เทนชุที่อยู่ในปัจจุบัน โดยประกอบด้วยปราสาท 12 แห่งดังนี้
- ปราสาทฮิโรซากิ (弘前城, Hirosaki Castle) จังหวัดอาโอโมริ
- ปราสาทมัตสึโมโต้ (松本城, Matsumoto Castle) จังหวัดนากาโนะ
- ปราสาทมารุโอกะ (丸岡城, Maruoka Castle) จังหวัดฟุกุอิ
- ปราสาทอินุยามะ (犬山城, Inuyama Castle) จังหวัดไอจิ
- ปราสาทฮิโกเนะ (彦根城, Hikone Castle) จังหวัดชิกะ
- ปราสาทฮิเมจิ (姫路城, Himeji Castle) จังหวัดเฮียวโกะ
- ปราสาทมัตสึเอะ (松江城, Matsue Castle) จังหวัดชิมาเนะ
- ปราสาทบิตจูมัตสึยามะ (備中松山城, Bicchumatsuyama Castle) จังหวัดโอคายาม่า
- ปราสาทมารุกาเมะ (丸亀城, Marugame Castle) จังหวัดคากาว่า
- ปราสาทมัตสึยามะ (松山城, Matsuyama Castle) จังหวัดเอฮิเมะ
- ปราสาทอุวะจิมะ (宇和島城, Uwajima Castle) จังหวัดเอฮิเมะ
- ปราสาทโคจิ (高知城, Kouchi Castle) จังหวัดโคจิ
ด้วยประการทั้งปวงปราสาททั้ง 12 หลังจึงเป็นปราสาทที่เลอค่ามากสำหรับญี่ปุ่นเพราะเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นสัญลักษณ์ของญี่ปุ่นก่อนสมัยใหม่ที่หลงเหลือมาจนถึงยุคปัจจุบัน
สรุปเนื้อหาจาก shiro-bito, takamaru-office, matsuyama, japan-castle
ผู้เขียน: หนัตโต นัตโตะ