สวัสดีครับท่านผู้อ่าน มีท่านไหนชอบกิน “ปลากระป๋อง” กันไหมครับ? สมัยเด็ก ๆ ผู้เขียนรู้จักปลากระป๋องแค่ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศ มาตอนหลังพวกปลาทูน่า ปลาแมคเคอเรล จึงโผล่เข้ามาในตลาดกันอย่างมากมาย รวมถึงอาหารกระป๋องสำเร็จรูป เช่นฉูฉี่ปลาทูน่า แกงปลาทูน่า ฯลฯ ไม่ใช่แค่ปลาทูน่านะ หอยลายก็มี แล้วปลากระป๋องของญี่ปุ่นเป็นอย่างไร? มาอ่านประวัติศาสตร์แบบย่อ ๆ กันนะครับ
ปลากระป๋องยุคเมจิ
ปลากระป๋องรุ่นแรกของญี่ปุ่นนั้น ผลิตขึ้นมาครั้งแรกในปี พ.ศ. 2414 (ปีเมจิที่ 4) ที่จังหวัดนางาซากิ โดยนายมาซาโนริ มัตสึดะ ภายใต้การกำกับดูแลของนายลีออง ดูรี ชาวฝรั่งเศส ซึ่งตอนแรกเป็นการทดลองทำ “ปลาอิวาชิในน้ำมัน” (ปลาอิวาชิก็จัดเป็นปลาซาร์ดีนอย่างหนึ่ง) แต่กว่าจะมีการผลิตจริง ๆ จัง ๆ นั้นก็ปาไปถึงปี พ.ศ. 2420 (ปีเมจิที่ 10) มีการตั้งโรงงานบรรจุกระป๋องอิชิคาริ ที่เมืองอิชิคาริ ฮอกไกโด โดยทำ “ปลาแซลม่อนกระป๋อง” ภายใต้การกำกับดูแลของนาย Ulysses S. Treat และนาย Trescott Swert ชาวอเมริกัน เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2420 ดังนั้น ทาง “สมาคมผู้ผลิตอาหารบรรจุกระป๋องแห่งประเทศญี่ปุ่น” (日本缶詰協会) จึงตั้งวันที่ 10 ตุลาคม ของทุกปีเป็น “วันอาหารกระป๋อง” (缶詰の日)
คนญี่ปุ่นรู้จักกินปลากระป๋องเมื่อไหร่?
อย่างไรก็ดี ในยุคเมจิ อาหารกระป๋องนั้นมีไว้เพื่อเป็น “ยุทธปัจจัย” และสินค้าส่งออกเท่านั้น ยังไม่ได้ทำขายเป็นสินค้าสำหรับประชาชนทั่วไปแต่อย่างใด (ทำนองเดียวกับวัตถุประสงค์ในการก่อตั้ง องค์การผลิตอาหารสำเร็จรูป (อสร.) ในปี พ.ศ. 2498 เลยนะครับ) ประชาชนคนญี่ปุ่นมารู้จักกินอาหารกระป๋องก็ตอนที่ได้ “เสบียงบรรเทาทุกข์”” ที่ส่งมาจากสหรัฐฯ หลังจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่คันโตในปี พ.ศ. 2466 (ปีไทโชที่ 12)
ปลากระป๋องยุคสงครามโลก
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดนวัตกรรมใหม่คือการใส่อาหารอัดลง “ภาชนะกระเบื้อง” แทนกระป๋องโลหะเนื่องจากต้องเอาโลหะไปทำยุทโธกรณ์ อัดใสภาชนะกระเบื้องปิดฝา ผนึกด้วยยาง สมัยนั้นเรียกว่า “อาหารกลาโหม” (โบเอย์โชคุ 防衛食) แต่อนิจจา พอยุคสงคราม จะหาอาหารมาใส่ยังไม่มี เลยต้องหยุดผลิตไปดื้อๆ แต่ว่ากันว่าเทคโนโลยีนี้ดีขนาดที่ว่า สงครามจบมากว่า 60 ปี เปิดฝาอีกที อาหารยังดีอยู่
เมื่อปลากระป๋องถูก disrupt
ในยุคไทโชจนถึงยุคโชวะนั้น การจับปลาแซลมอน จับปู จับปลาเทราท์มาอัดใส่กระป๋องส่งออกไปขายต่างประเทศนั้นรุ่งเรืองดีมาก แต่พอในปี พ.ศ. 2519 ถึง 2520 มีการจำกัดเขตให้ทำการประมงได้ไม่เกิน 200 ไมล์ทะเล แล้วจะไปจับปูจับปลาที่ไหนได้ เลยมีอันต้องปิดตำนาน “ปลากระป๋อง ปูกระป๋อง ส่งออก”
อีกปัจจัยหนึ่งซึ่งเป็นตัว disrupt ปลากระป๋องก็คือเทคโนโลยีใหม่กว่าที่เรียกว่า “ซองรีทอร์ท” ซึ่งสหรัฐฯ คิดค้นและทำขึ้นมาเพื่อ “ใส่อาหารเอาไปกินในอวกาศ” และก็ได้ใช้กับโครงการสำรวจดวงจันทร์โดยยานอพอลโล 11 แต่เอาจริงๆ แล้วมันก็ไม่ได้แพร่หลายในหมู่คนทั่วไปขนาดนั้นเพราะว่าสิ่งที่มัน disrupt ปลากระป๋องจริงๆ ในหมู่ประชาชนก็คือ “ตู้เย็น” ต่างหากครับ
ในเมื่อมีตู้เย็นไว้แช่อาหารสดกินในบ้าน จะกินอาหารในกระป๋องหรือในซองทำไม?
ในญี่ปุ่นนั้นอาหารซองรีทอร์ทเปิดตัวมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 โดยบริษัท Otsuka Foods ทำแกงกะหรี่ใส่ซองรีทอร์ทออกขาย และการที่อาหารใส่ซองรีทอร์ทนั้นต้องเอาไปอุ่นในน้ำร้อน ซึ่งมันไปได้ดีกับรูปแบบชีวิตคนเอเชีย (ต้มๆ นึ่งๆ) อาหารซองรีทอร์ทเลยขายได้กับประเทศแถบเอเชียจำพวกเกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย และจีน ประเทศไทยเองก็ผลิตอาหารในซองรีทอร์ทส่งออกไปขายญี่ปุ่นเสียด้วย
เป็นอย่างไรกันบ้างครับสนุกไหมครับ ถือว่าเป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ที่เตือนใจเรื่อง disruption ของธุรกิจได้ดีเลยว่า มียุคเฟื่องฟูก็ต้องมีจุดที่ฟุบลงครับ พูดแล้วอยากกินแซนด์วิชทูน่าแล้วสิครับ สวัสดีครับ