แมวดำ โชคร้าย

ความเชื่อเกี่ยวกับแมวดำนั้นมีหลากหลาย ทั้งมองว่าเป็นสัตว์มงคลและอัปมงคล แล้วแบบไหนถึงจะถูกกันแน่? บทความนี้เราจะพาไปไขข้อสังสัยในประเด็นที่ถกเถียงกันมานานว่า สรุปแล้วแมวดำนำพาความโชคร้ายมาให้จริงหรือ?

โชคร้ายของแมวดำมาจากความเชื่อเรื่องแม่มดในยุโรป?

แม่มด

ครั้งหนึ่งแมวดำเป็นที่หวาดกลัวจากผู้คนทั่วยุโรป เนื่องจากเชื่อว่าแมวดำเกี่ยวข้องกับแม่มดโดยตรง เช่น “แมวดำคือสมุนรับใช้แม่มด” หรือ “แมวดำคือปีศาจจำแลงของแม่มด” ความเชื่อเรื่องแม่มดนั้นไม่ได้เชื่อมโยงแค่กับแมวดำแต่รวมไปถึงแมวทุกชนิด ซึ่งนอกจากความเชื่อเรื่องแม่มดแล้ว ชาวยุโรปในช่วงยุคกลางยังเชื่อว่าแมวรวมถึงสัตว์ขนสีดำอย่างกาเชื่อมโยงกับโชคร้ายและความตาย

แต่ทั้งนี้ในยุโรปก็ไม่ได้มีแค่ความเชื่อต่อแมวดำในทางลบเพียงอย่างเดียว เพราะในเกาะอังกฤษและฝรั่งเศสมีความเชื่อที่ว่า แมวดำจะนำโชคดีมาให้ อยู่เหมือนกัน โดยว่ากันว่าชาวเรือในยุโรปมักจะนำแมวดำขึ้นเรือเพราะเชื่อว่าทำให้การเดินเรือราบรื่น แต่ถึงกระนั้นแม่มดก็ยังถือเป็นที่หวาดกลัวมากกว่าอยู่ดี ดังนั้นแมวดำกับลางร้ายจึงอยู่ในกระแสความเชื่อหลักของยุโรปมากกว่าจะเป็นความโชคดี

แมวดำในญี่ปุ่นเป็นสัญลักษณ์ของความมงคล

แมวกวักสีดำ

แมวกวักสีดำ เชื่อว่าคอยปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้กับผู้ถือครอง

ในช่วงแรกญี่ปุ่นเชื่อกันว่า แมวดำถือเป็นสัตว์มงคล ตัวอย่างของเรื่องนี้คือความเชื่อเรื่องของ แมวกวัก (招き猫, Manekineko) วัตถุมงคลรูปแมวของญี่ปุ่น ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีหลายเวอร์ชันมาก ทั้งที่เป็นแมวขาว แมวสามสี หรือแบบ “แมวดำ” ซึ่งเชื่อกันว่าเมื่อวางไว้จะช่วยปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้ออกไปได้

อีกทั้งหากเรามองกันให้ลึกกว่านั้น ก็จะเห็นเช่นกันว่าประเทศญี่ปุ่นให้ความเอ็นดูแมวดำเป็นอย่างดี โดยยกให้เป็นแมวที่แสดงถึงการหลุดพ้นจากความยากลำบากและความมืดมิด เพราะแม้ว่าสีของแมวดำจะดำสนิทแต่ดวงตาของมันนั้นกลับแวววาวราวกับเป็นแสงสว่างในความมืดมิด อีกทั้งสีดำยังเหมือนกับ สีของถั่วแดงกวน ซึ่งสำหรับคนญี่ปุ่นถั่วแดงกวนเป็นอาหารที่เอาไว้ทานในงานเฉลิมฉลองทำให้แมวดำกลายเป็นสัญลักษณ์ของความสุขและความเป็นมงคลนั่นเอค่ะ

“แมวดำญี่ปุ่น” ในมุมมองด้านประวัติศาสตร์

แมวดำ

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าญี่ปุ่นให้ความเอ็นดูแมวดำในฐานะสัตว์มงคล ซึ่งหากเรามองย้อนกลับไปในสมัยเอโดะ ผู้คนในตอนนั้นก็เชื่อกันว่าแมวดำ จะนำพามาซึ่งความสุข และคอยปัดเป่าอาการจากโรครักหรืออาการตรอมใจ เหตุที่เชื่อแบบนี้ก็เพราะสมัยนั้นเชื่อกันว่าโรครักเป็นสาเหตุของวัณโรค หรือก็คือแมวดำจะคอยช่วยปกป้องคนเลี้ยงจากสาเหตุของวัณโรคนั่นเอง

และอีกข่าวลือหนึ่งเกี่ยวกับแมวดำที่โด่งดังมาก ๆ ในหน้าประวัติศาสตร์ ก็คือการที่ผู้นำระดับสูงในหน่วยชินเซ็นกุมิ (新選組, Shinsengumi) “โอคิตะ โซจิ ” (沖田総司, Okita Souji) ซึ่งป่วยเป็นวัณโรคดั้นด้นหาแมวดำมาเลี้ยง เพื่อให้หายจากโรคนี้ (แม้ต่อมาเขาจะเสียชีวิตจากวัณโรคก็ตาม)

อันตัวข้าพเจ้านี้คือ “แมว”

อันตัวข้าพเจ้านี้คือแมว

อันตัวข้าพเจ้านี้คือแมว (ปกฉบับแปลไทยตีพิมพ์ครั้งที่ 2 ของสำนักพิมพ์กำมะหยี่)

พูดในเรื่องของวัฒนธรรมและมุมมองทางด้านประวัติศาสตร์ของแมวดำในญี่ปุ่นไปแล้ว คราวนี้มาดูฝั่งวรรณกรรมกันบ้าง ในสมัยเมจิ มีงานเขียนนวนิยายดังของผู้เขียน นัตสึเมะ โซเซกิ (夏目礎石, Natsume Soseki) ที่มีตัวเอกเป็นแมว ชื่อเรื่องว่า “อันตัวข้าพเจ้านี้คือแมว (吾輩は猫である, Wagahaihanekodearu) ”

โดยกล่าวกันว่า นัตสึเมะ โซเซกิ นั้นได้รับแรงบันดาลมาจากแมวที่เขาเลี้ยงเอาไว้ ซึ่งเริ่มแรกเป็นเพียงแค่แมวดำที่หลงเข้ามาในบ้านและเขาเคยไล่มันออกไปเพราะภรรยาไม่ชอบแมวด้วยซ้ำ แต่ไม่รู้อะไรดลใจเจ้าแมว เพราะหลังจากไล่ไปสักพักมันก็กลับมาอีกเรื่อย ๆ นักเขียนคนนี้จึงไปขออนุญาตภรรยาเพื่อจะเลี้ยงไว้ในบ้าน จนสุดท้ายก็ได้เลี้ยงสมใจอยาก และเขาจึงเริ่มเขียน “อันตัวข้าพเจ้านี้คือแมว” ขึ้นมา แต่ใครจะคิดล่ะว่าเรื่องนี้จะกลายเป็นผลงานชิ้นแรกที่ถือเป็นการเปิดประตูสู่วงการนักเขียนของ นัตสึเมะ โซเซกิ นักเขียนชื่อดังของญี่ปุ่นที่จวบจนถึงปัจจุบันก็ยังเป็นตพนานของนักเขียนญี่ปุ่น ด้วยเหตุนี้ภรรยาของอาจารย์จึงถึงกับเรียกแมวตัวนี้ว่าเป็น “แมวนำโชค” เลยล่ะ

เมื่อความเชื่อแมวดำฝั่งตะวันตกเผยแพร่เข้ามาในญี่ปุ่น

แมวดำ

แม้จะไม่อาจกล่าวได้ชัด ๆ ว่า ความเชื่อที่ว่าแมวดำนำพาความโชคร้ายมาให้ในญี่ปุ่นนั้นเริ่มต้นขึ้นตอนไหน แต่ก็คาดกันว่าน่าจะเป็นผลจากช่วงที่อิทธิพลของฝั่งตะวันตกเริ่มแพร่หลายเข้ามาในญี่ปุ่น เมื่อมีแนวคิดว่าแมวดำเป็นทาสรับใช้ของแม่มด จึงทำให้เกิดมุมมองที่ไม่ดีต่อแมวดำขึ้นในญี่ปุ่นนั่นเอง

หากอิงจากหนังสือ “ประวัติศาสตร์ นิสัย และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และแมว (ねこ~その歴史・習性・人間との関係) “ ในช่วงปี 1973 จะเห็นได้ว่ามีส่วนหนึ่งที่กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า หากถูกแมวดำตัดหน้าจะเกิดเรื่องไม่ดีขึ้น! ดังนั้นอาจอนุมานได้ว่าความเชื่อ แมวดำ=โชคร้าย น่าจะมีมาตั้งแต่ช่วง 1970 แล้ว

มุมมองของแมวดำที่วิ่งคู่กันในญี่ปุ่น

แมวดำ แม่มดน้อยกิกิ

จิจิ (JiJi) จากแม่มดน้อยกิกิ (Kiki’s Delivery Service)

การปรากฏตัวตามหน้าสื่อต่าง ๆ ของแมวดำ คาดว่าอยู่ในช่วง 1980 ตัวละครเกี่ยวกับแมวดำที่รู้จักกันในยุคนั้นจะเป็นจาก อนิเมะเรื่อง Urusei Yatsura: The Final Chapter (1988) ซึ่งใช้การเล่าความเชื่อแมวดำออกมาในเชิงโชคร้าย แต่ในขณะเดี่ยวกัน จิจิ (JiJi) จากในอนิเมชันภาพยนตร์ของ Ghibli เรื่อง “แม่มดน้อยกิกิ (Kiki’s Delivery Service)” กลับนำเสนอให้ออกมาเป็นน้องแมวสุดน่ารักน่าชัง

จึงจะเห็นว่าความเชื่อของแมวดำในญี่ปุ่นนั้นวิ่งคู่กันทั้งในด้านที่ดีและไม่ดี ซึ่งที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะศาสนาคริสต์ไม่ได้มีอิทธิพลต่อคนญี่ปุ่นขนาดนั้น อีกทั้งไม่ได้มีวัฒนธรรมเกี่ยวกับฮาโลวีนที่หยั่งรากลึกในสังคมเท่ายุโรปและอเมริกา จึงทำให้ความเชื่อแมวดำในญี่ปุ่นมี 2 มุมมองนั่นเอง

แล้วประเทศไทยมองแมวดำแบบไหน?

แมวดำ

ความเชื่อเรื่องแมวดำในไทยนั้นถือได้ว่ามีความคล้ายคลึงกับของญี่ปุ่นอยู่มาก เพราะเกิดจากความหลากหลายทางวัฒนธรรม อย่างคนไทยมักคุ้นชินกับสำนวน “แมวดำข้ามศพนำมาซึ่งความหายนะ” ซึ่งความเชื่อดังกล่าวนั้นก็ไม่ได้มีแค่ในประเทศไทยแต่ที่ประเทศจีนเองก็มีความเชื่อแบบเดียวกันจึงสันนิษฐานว่าเราอาจรับแนวคิดดังกล่าวมาจากประเทศจีนอีกที

นอกจากนี้ตามตำราโบราณซึ่งไม่ปรากฏชื่อผู้เขียนของไทยยังกล่าวถึงแนวคิดอีกแบบของแมวดำว่า “แมวดำทั้งตัวเลี้ยงไว้จะให้โชคลาภ” แต่ก็มีความเชื่อที่ว่า “แมวขาวตาแดงจะนำพามาซึ่งเภทภัย” เช่นกัน โดยตำราดังกล่าวคาดการณ์ว่าเขียนขึ้นมาตั้งแต่ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ (ศตวรรษที่ 19) ปัจจุบันอยู่ในการดูแลรักษาของห้องสมุด British Library ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าความเชื่อเรื่องแมวดำของไทยได้รับอิทธิพลมาจากหลายวัฒนธรรมที่หลั่งไหลเข้ามาในภายหลัง

ปริศนาความโชคร้ายที่ถูกไขด้วยวิทยาศาสตร์

แมวดำ โชคร้าย

สาเหตุว่าทำไมแมวดำถึงถูกเชื่อมโยงกับความโชคร้าย มีการออกมาอธิบายเชิงจิตวิทยาว่า คนมักผูกสีดำเข้ากับเรื่องไม่ดี อีกทั้งบางคนก็มี อาการกลัวความมืด สีดำของพวกมันจึงถูกตีเป็นความน่ากลัวตามไปด้วย

และอีกหนึ่งคำอธิบายก็คือ เรื่องของแมวดำเป็นสิ่งมีชีวิตน่าขนลุก มีคนบางส่วนพูดว่าเมื่อนึกถึงแมวดำแล้วจะรู้สึกขนลุกซู่ เรื่องนี้ในปัจจุบันสามารถอธิบายเป็นในเรื่องของ ไฟฟ้าสถิต ได้ กล่าวคือ เวลาลูบขนแมวดำมีโอกาสเกิดไฟฟ้าสถิต แต่เพราะคนสมัยก่อนที่ยังไม่รู้จักปรากฏการณ์แบบนี้ จึงเกิดเป็นความรู้สึกและเรื่องเล่าที่ว่าแมวพวกนี้น่าขนลุก!

ความเชื่อเรื่องของแมวดำโชคร้ายนั้นมักถูกหยิบยกมาเล่นในภาพยนตร์สยองขวัญหรือแฟนตาซีต่าง ๆ อยู่เสมอ แต่ไม่ว่ายังไงทุกวันนี้ก็ใช่ว่าแมวดำจะถูกรังเกียจตามสื่อเหล่านั้นแล้ว เพราะยังไงก็มีทาสแมวจำนวนมากที่ชื่นชอบแมวสีนี้จากอุปนิสัยที่ขี้อ้อนและติดคนมาก ๆ ดังนั้นความยากลำบากของแมวดำในฐานะตัวโชคร้ายก็คงเหลือไว้เพียงแค่ลักษณะความดำของขนที่ทำให้เหล่าคนเลี้ยงหาตัวไม่เจอแต่เพียงเท่านั้น

ใครอยากรู้เรื่องราวของแมวญี่ปุ่นเพิ่มเติม ตามไปอ่านต่อได้ที่บทความ: ทาสแมวมามุง! พาไปรู้จักแมวญี่ปุ่น Japanese Bobtail มีกี่ประเภทกันนะ ?

ผู้เขียน: หนัดโต นัตโตะ
ที่มา: Silpa-mag, Nekonokimochi, thesprucepet , konekono-heya

conomin

conomin คือกลุ่มนักเขียนใหม่ของ conomi ที่คอยนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับญี่ปุ่น เพื่อคนรักญี่ปุ่น จากปลายปากกาคนรักญี่ปุ่นด้วยกัน

ไอคอน PDPA

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า