เทศกาลฤดูใบไม้ร่วง

ประเทศญี่ปุ่นที่มีวัฒนธรรมและประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน มีความหลากหลายและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเป็นอย่างมาก ก่อนจะสิ้นสุดฤดูใบไม้ร่วงจึงถือโอกาสมาแนะนำความหมายและที่มาของงานเทศกาลฤดูใบไม้ร่วงให้ได้ทราบกัน ซึ่งงานเทศกาลของฤดูใบไม้ร่วงนี้ก็เป็นอีกหนึ่งเทศกาลประจำปีที่คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญอย่างมากเลยด้วย

เอกลักษณ์ของงานเทศกาลประจำฤดูของญี่ปุ่น

ฤดูใบไม้ร่วง

อย่างที่ทราบกันว่าญี่ปุ่นมักชอบจัดงานเทศกาลรื่นเริง ตามแต่ละภูมิภาคก็จะมีความแตกต่างกันออกไป แต่สำหรับใน 1 ปีนั้นก็จะแบ่งเป็นงานเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ, งานเทศกาลฤดูร้อน, งานเทศกาลฤดูใบไม้ร่วง และงานเทศกาลฤดูหนาว และในแต่ละช่วงฤดูก็จะมีความมายและเอกลักษณ์เฉพาะที่แตกต่างกันออกไปอีกด้วย เช่น ฤดูร้อนที่พืชผลต่าง ๆ กำลังเติบโตก็มักมีศัตรูพืชหรือพายุฤดูร้อนอยู่บ่อยครั้ง คนญี่ปุ่นจึงจัดงานเทศกาลขึ้นเพื่อปัดเป่าสิ่งไม่ดีต่างๆ ออกไปจากพืชผลที่กำลังรอการเก็บเกี่ยว

หรือช่วงฤดูหนาวที่เป็นช่วงพักจากการเก็บเกี่ยวก็จะแสดงความขอบคุณสำหรับการเก็บเกี่ยวตลอดปีที่ผ่านมา และเพื่อสร้างความสนุกสนานจากที่เหน็ดเหนื่อยมาทั้งปี จะได้เตรียมพร้อมรับสิ่งดีๆ สำหรับการเพราะปลูกในฤดูใบไม้ผลิที่กำลังจะมาถึงด้วย

ความหมายของงานเทศกาลฤดูใบไม้ร่วงและความเป็นมา?

เทศกาลฤดูใบไม้ร่วง

งานเทศกาลทั่วโลกส่วนใหญ่มักได้รับอิทธิพลมาจากพิธีกรรมทางศาสนา แล้วพัฒนาต่อ ๆ มาจนกลายเป็นงานเทศกาลที่จัดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน แม้แต่ที่ญี่ปุ่นเองก็เช่นกัน โดยงานเทศกาลของญี่ปุ่นนั้นมีความผสมผสานระหว่างศาสนาพุทธแบบชินโตรวมถึงความเชื่อของคนแต่ละภูมิภาค จึงทำให้งานเทศกาลของญี่ปุ่นมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างออกไป โดยทั่วไปมีความหมายเพื่อบูชาเทพเจ้าและบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ นอกจากนี้ยังจัดขึ้นเพื่อสวดอธิษฐานและแสดงความขอบคุณกับเหล่าเทพเจ้าด้วย

สำหรับฤดูใบไม้ร่วงที่ตรงกับฤดูเก็บเกี่ยวผลไม้หลากชนิดด้วย การจัดการเทศกาลฤดูใบไม้ร่วงก็เพื่อแสดงความขอบคุณสำหรับความอุดมสมบูรณ์และขอบคุณที่มีผลผลิตให้เก็บเกี่ยวได้นั่นเอง

ในบางพื้นที่อย่างงานเทศกาลที่จัดขึ้นที่ศาลเจ้าอิเสะจิงงูก็จะเน้นเรื่องการขอบคุณสำหรับผลผลิตของข้าว ตามความเชื่อกล่าวกันว่าเหล่าเทพเจ้าจะลงมาร่วมสนุกสนานกับเหล่าชาวบ้านในพื้นที่นั้น ๆ ในงานก็จะมีดนตรีและการร้องเต้นรำกันอย่างสนุกสนาน เพื่อเป็นการเอนเตอร์เทนเทพเจ้าด้วย

คนญี่ปุ่นสมัยก่อนมักจัดเทศกาลฤดูใบไม้ร่วงกันหลาย 10 วัน ใช้เวลาเตรียมงานหลายเดือน ซึ่งถือว่าเป็นเทศกาลใหญ่แห่งปีที่ทุกคนให้ความสำคัญกันมาก ๆ เลยก็ว่าได้ ยิ่งไปกว่านั้นงานเทศกาลดังกล่าวนี้ไม่ได้มีความสำคัญแค่กับชาวนาชาวสวนเท่านั้น แต่สำหรับผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงหรือคนในพื้นที่ก็ชื่นชอบที่จะได้เข้าชมขบวนแห่และยังเป็นโอกาสดีที่ทุกคนจะได้ได้ออกมาพบปะสังสรรค์กัน

ความหมายของการแบก “มิโคชิ” หรือเกวียนศักดิ์สิทธิ์

เทศกาลฤดูใบไม้ร่วง

สิ่งที่เรามักเห็นบ่อย ๆ ในงานเทศกาลก็คือการแบกเกวียนในขบวนแห่ใช่ไหมล่ะคะ? แล้วเคยสงสัยกันไหมว่าสิ่งนี้มีความหมายว่าอย่างไร?

ส่วนใหญ่หน้าตาของ “มิโคชิ” นี่จะคล้ายๆ ศาลเจ้าขนาดเล็ก และลักษณะการแบกหามนั้นคล้ายกับเกวียนแบกหามสำหรับให้คนนั่งอยู่ข้างบน ตามความเชื่อแล้วมิโคชิเป็นเกวียนศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้เป็นภาชนะสำหรับขนส่งเทพเจ้านั่นเอง

ดังนั้นในระหว่างงานเทศกาลห้ามวางเกวียนลงพื้นโดยเด็ดขาด และเทพเจ้าที่อัญเชิญมาอยู่ในเกวียนศักดิ์สิทธิ์นี้จะไม่ใช่แค่เทพเจ้าประจำพื้นที่นั้นๆ เท่านั้น แต่จะอัญเชิญเทพเจ้าจากพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามาด้วย ดังนั้นผู้ถือจำเป็นต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งเพราะเกวียนนี้เป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์มากๆ หากเรามีโอกาสได้ไปเที่ยวญี่ปุ่นช่วงฤดูใบไม้ร่วง ลองศึกษาเทศกาลฤดูใบไม้ร่วงตามจังหวัดที่เราจะไปด้วยก็ได้นะคะ เผื่อใครเกิดสนใจจะได้ถือโอกาสไปชมด้วย รับรองเป็นประสบการณ์ที่ดีแน่นอน

การเชิดสิงโตในเทศกาลฤดูใบไม้ร่วงเป็นสิ่งหาชมได้ยาก!

เทศกาลฤดูใบไม้ร่วง

ที่ญี่ปุ่นเองก็มีการเชิดสิงโตเช่นกัน โดยส่วนใหญ่จะเชิดสิงโตกันในช่วงปีใหม่ แต่ก็ยังสามารถชมการเชิดสิงโตในงานเทศกาลฤดูใบไม้ร่วงได้อีกด้วยนะ แต่บอกเลยว่าไม่ได้มีกันทุกที่หรอกนะคะ

ประวัติการเชิดสิงโตนั้น เดิมทีกล่าวกันว่าญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย ซึ่งกลุ่มชาวนาจะนับถือสิงโตเป็นเทพเจ้า และการบูชากับการเชิดสิงโตก็กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ถูกสืบทอดมาถึงพื้นที่แถบชนบทของญี่ปุ่นในเวลาถัดมา แต่คนญี่ปุ่นสมัยก่อนมักจะทำการเชิดสิงโตโดยมีความหมายเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้ายและโรคระบาดต่างๆ

แม้ว่าการเชิดสิงโตจะเป็นที่นิยมในจีนและอินเดียก็ตาม แต่การเชิดสิงโตของญี่ปุ่นนั้นมีความหลากหลายและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวตามแต่ละท้องถิ่น ส่วนมากคนญี่ปุ่นมักเชิดสิงโตในช่วงปีใหม่แต่ถ้าใครอยากชมงานเชิดสิงโตและงานเทศกาลฤดูใบไม้ร่วงไปพร้อม ๆ กันก็สามารถหาชมได้ที่ จังหวัดโทยามะ ซึ่งเชิดเพื่อแสดงความรู้สึกขอบคุณสำหรับผลผลิตที่มีให้เก็บเกี่ยวตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา

ปราสาทโทยามะ
ปราสาทโทยามะ

ตัวอย่างสถานที่จัดงานเทศกาลฤดูใบไม้ร่วง

1. จังหวัดเกียวโต : Kitano Tenmangu Zuiki Matsuri จัดขึ้นวันที่ 1-5 ตุลาคม
2. จังหวัดมิยาซากิ : Takachiho Night Kagura Matsuri จัดขึ้นวันที่ 22-23 พฤศจิกายน
3. จังหวัดมิเอะ : Niiname Matsuri จัดขึ้นวันที่ 23 พฤศจิกายน ที่ศาลเจ้าอิเสะจิงงู

งานเทศกาลของญี่ปุ่นมักจัดกันทุกฤดูก็จริง แต่ก็มีความแตกต่างกันออกไปตามแต่ละฤดูและแต่ละภูมิภาค ถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของประเทศญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้ ถ้าอยากลองสัมผัสประสบการณ์แปลกใหม่ที่หาไม่ได้จากที่อื่น ขอแนะนำให้ลองไปชมงานเทศกาลของญี่ปุ่นดูสักครั้งรับรองประทับใจแน่นอนค่ะ

สรุปเนื้อหาจาก nihonbunkamura01allabout.co.jp

tisttai

จากอดีตที่เคยเมินทุกสิ่งเกี่ยวกับญี่ปุ่น สู่ล่ามผู้มีฝันอยากเที่ยวไปทุกจังหวัดและชิมอาหารให้ครบทุกภูมิภาค ขอมาร่ายเสน่ห์แดนปลาดิบในหลากมุมมองให้ผู้อ่านได้หลงใหลไปพร้อมๆ กันค่ะ

ไอคอน PDPA

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า