สุนัขญี่ปุ่น

เชื่อได้เลยว่าหลายคนหากได้เคยไปเที่ยวญี่ปุ่น ก็คงไม่พลาดที่จะไปเที่ยวที่ย่านชิบูย่า กรุงโตเกียวกัน และสิ่งที่จะพลาดไม่ได้เลยคือการถ่ายรูปกับรูปปั้นฮาจิโกะ สุนัขยอดกตัญญูสัญลักษณ์ชื่อดังแห่งย่านชิบูย่ากันใช่ไหมคะ? แต่ทุกคนทราบกันไหมคะว่าสุนัขยอดกตัญญูและซื่อสัตย์นี้เป็นสุนัขญี่ปุ่นสายพันธุ์อะไร? คำตอบคือเป็น “สุนัขญี่ปุ่นพันธุ์อาคิตะ” ค่ะ

แต่ก็คงมีหลายคนสงสัยว่าไม่ใช่สุนัขพันธุ์ชิบะที่เราคุ้นเคยเห็นบ่อย ๆ ตามอินเตอร์เน็ตหรือ? แล้วสุนัขพันธุ์อาคิตะกับสุนัขพันธุ์ชิบะมีความแตกต่างกันอย่างไร? อาจจะยังมีคนที่ไม่ทราบรายละเอียดแน่ชัดอยู่ เนื่องจากสุนัขญี่ปุ่นทั้งสองสายพันธุ์นี้เป็นสุนัขที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก เช่น มีหูตั้งและมีหางที่มีขนขึ้นหนาเยอะเหมือนกัน ซึ่งถ้ามองผิวเผินก็จะไม่รู้สึกถึงความแตกต่าง แต่ทว่าถ้าทราบถึงจุดเด่นและความต่างของสุนัขทั้งสองสายพันธุ์นี้แล้วละก็เชื่อได้เลยว่าจะสามารถแยกแยะได้ว่าเป็นสุนัขพันธุ์อะไรระหว่างพันธุ์อาคิคะกับพันธุ์ชิบะ ซึ่งในครั้งนี้เราจะมาอธิบายให้เข้าใจกันค่ะ!

คำว่า “อินุ” (Inu = いぬ) กับ “เคน” (Ken = けん) ที่แปลว่า “สุนัข” ต่างกันยังไง?

question

เวลาที่เราดูรายการทีวี บางทีเราก็จะรู้สึกได้ว่าสุนัขพันธุ์อาคิตะกับสุนัขพันธุ์ชิบะนั้นมีชื่อเรียกที่ไม่เหมือนกัน ถูกเรียกได้หลายแบบ เช่น สถานีโทรทัศน์ NHK ของญี่ปุ่นก็จะเรียกสุนัขพันธุ์อาคิตะ ออกเป็น 2 แบบ โดยเขียนด้วยตัวคันจิเหมือนกัน คือ “อาคิตะอินุ” (Akita Inu = 秋田犬) หรือ “อาคิตะเคน” (Akita Ken = 秋田犬) และในส่วนของสุนัขพันธุ์ชิบะจะเรียกว่า “ชิบะอินุ” (Shiba Inu = 柴犬) ทั้งนี้การเรียกสุนัขพันธุ์อาคิตะเรียกได้ทั้ง 2 แบบตามที่กล่าวมาซึ่งถือว่าเป็นการเรียกที่ถูกต้องทั้งคู่ค่ะ

ในส่วนของพันธุ์สุนัขญี่ปุ่นที่ถูกจัดให้เป็น “สัตว์ที่มีอยู่ในธรรมชาติที่ได้รับการสงวนตามกฎหมาย” (Tennenkinenbutsu = 天然記念物) ก็มีด้วยกันทั้งหมด 6 สายพันธุ์ด้วยกัน โดยทางสมาคมอนุรักษ์สุนัขญี่ปุ่น (Nihonken Hozonkai = 日本犬保存会 ) และสมาคมอนุรักษ์สุนัขพันธ์อาคิตะ (Akita Inu Hozonkai = 秋田犬保存会) ได้ระบุไว้ว่า สุนัขพันธุ์อาคิตะและสุนัขพันธุ์ชิบะ สามารถเรียกว่า “อินุ” (Inu = いぬ)ได้ (ทั้งนี้สถานีโทรทัศน์ NHK จะเรียกสุนัขพันธุ์อาคิตะว่า “เคน” (Ken = けん) ซึ่งถือว่าไม่ผิดเช่นกัน)

ในส่วนของสุนัขญี่ปุ่นที่เหลืออีก 4 สายพันธุ์จะใช้คำว่า “เคน” (Ken = けん) ในการเรียกชื่อ โดยสุนัขญี่ปุ่น 4 สายพันธุ์ที่เหลือ ได้แก่ สุนัขพันธุ์คิชู (Kishi Ken = 紀州犬) สุนัขพันธุ์ชิโคคุ (Shikoku Ken = 四国犬) สุนัขพันธุ์ฮอกไกโด (Hokkaido Ken = 北海道犬) และสุนัขพันธุ์ไค (Kai Ken = 甲斐犬) ค่ะ

สุนัขพันธุ์ฮอกไกโด
(ตัวอย่าง) สุนัขพันธุ์ฮอกไกโด (Hokkaido Ken = 北海道犬) 1 ในสุนัขพันธุ์ญี่ปุ่น

สุนัขพันธุ์ไค
(ตัวอย่าง) สุนัขพันธุ์ไค (Kai Ken = 甲斐犬) 1 ในสุนัขพันธุ์ญี่ปุ่น

ความแตกต่าง “เรื่องหน้าตา” ระหว่างสุนัขพันธุ์อาคิตะกับสุนัขพันธุ์ชิบะ

สุนัขพันธุ์อาคิตะกับสุนัขพันธุ์ชิบะมักจะมีสีและลักษณะรูปร่างที่คล้ายคลึงกันทำให้ยากต่อการแบ่งแยก แต่ทว่าถ้าทราบถึงจุดเด่นแล้วละก็สามารถที่จะแยกออกได้อย่างง่ายดายค่ะ โดยสามารถดูได้ตามนี้ค่ะ

1. ลักษณะใบหน้า

ก่อนอื่นเลยสิ่งที่ทำให้เห็นต่างกันได้ชัด คือ “ใบหน้า” โดยสุนัขพันธุ์อาคิตะถ้าเปรียบเทียบกับสุนัขพันธุ์ชิบะเเล้วจะมีขนที่ยาวกว่า และจะมีขนปกคลุมเยอะเป็นพิเศษบริเวณใบหน้า รวมถึงลักษณะของใบหน้ายังมีความกลมคล้ายกับแมวอีกด้วยค่ะ ดังนั้นจึงทำให้ตา จมูก รวมไปถึงส่วนประกอบอื่น ๆ ของร่างกายจะชิดรวมกันอยู่ตรงกลางของใบหน้า ซึ่งจะทำให้ดูมีสีหน้าที่มีความอ่อนโยนกว่าสุนัขพันธุ์ชิบะ ซึ่งถือว่าเป็นเอกลักษณ์ที่พิเศษของสุนัขสายพันธุ์อาคิตะนี้ค่ะ

face

ในส่วนของสุนัขสายพันธุ์ชิบะนั้นขนบริเวณใบหน้าจะมีขนาดสั้น เลยจะทำให้รูปหน้าดูมีความเพรียวมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับสุนัขพันธุ์อาคิตะ และยังดูมีความสง่าผงผายมากกว่าค่ะ และ “ใบหู” ก็ยังเป็นอีกสิ่งที่ช่วยในการแยกแยะระหว่างสุนัขพันธุ์อาคิตะกับสุนัขพันธุ์ชิบะได้เป็นอย่างดี โดยสุนัขพันธุ์อาคิตะและสุนัขพันธุ์ชิบะจะมีหูรูปทรงสามเหลี่ยมเหมือนกันแต่ทว่าใบหูของสุนัขอาคิตะจะปกคลุมเต็มไปด้วยขนมากกว่าและจะโน้มเอียงตัวมาด้านหน้ามากกว่าสุนัขพันธุ์ชิบะค่ะ

2. ไซส์หรือความใหญ่

สุนัขพันธุ์อาคิตะโดยเฉลี่ยจะมีน้ำหนักตัวอยู่ที่ 35 – 59 กิโลกรัมและมีความสูงอยู่ที่ 58 – 70 เซนติเมตร ในส่วนของสุนัขพันธุ์ชิบะโดยเฉลี่ยจะมีน้ำหนักตัวอยู่ที่ 8 – 11 กิโลกรัมและมีความสูงอยู่ที่ 35 – 41 เซนติเมตร

size

เมื่อเปรียบเทียบจากข้อมูลดังกล่าว จะทำให้ทราบได้ว่าสุนัขพันธุ์อาคิตะจะมีขนาดใหญ่กว่าสุนัขพันธุ์ชิบะมากถึง 4 เท่า ซึ่งถ้ามองจากแค่ใบหน้าแม้ว่าจะมีลักษณะที่เหมือนหรือคล้ายคลึงกัน แต่ความเป็นจริงแล้วถ้ามองดูจากองค์ประกอบภาพรวมแล้ว จะรู้สึกได้ถึงความแตกต่างค่ะ โดยสุนัขพันธุ์อาคิตะจะมีลักษณะตัวที่ค่อนข้างใหญ่กว่า รวมถึงมีลำคอที่กว้างและใหญ่กว่า ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อโตเต็มที่จะมีลักษณะคล้ายหมี ในส่วนของสุนัขพันธุ์ชิบะจะมีรูปร่างที่สมส่วนกว่า เพรียวเข้ารูปมากกว่า ทำให้สุนัขพันธุ์อาคิตะถูกจัดให้เป็นสุนัขไซส์ใหญ่ และสุนัขพันธุ์ชิบะถูกจัดให้เป็นสุนัขไซส์กลางค่ะ (แต่ทว่า สุนัขพันธุ์ชิบะจะถูกจัดให้เป็นสุนัขไซส์เล็กในหมู่สุนัขสายพันธุ์ญี่ปุ่นทั้ง 6 สายพันธุ์แทนนะคะ)

3. สีขน

สีของสุนัขพันธุ์อาคิตะที่ถูกยอมรับโดย Japan Kennel Club (JKC) จะถูกแบ่งออกได้เป็น 4 สีด้วยกัน คือ สีน้ำตาลแดง สีขาว สีงา (คือ สีที่มาจากสีน้ำตาลแดง สีดำและสีขาวผสมรวมกัน) และ สีเทาเงิน ค่ะ แต่จริง ๆ แล้วก็ยังมีพันธุ์สีดำและสีด่างลายจุดด้วยแต่ทว่าเป็นสีที่ค่อนข้างหายากไม่ค่อยที่จะพบเห็นได้ทั่วไปค่ะ

hair colour

ในส่วนของสุนัขพันธุ์ชิบะจะถูกแบ่งออกได้เป็น 4 สีด้วยกัน คือ สีน้ำตาลแดง สีขาว สีดำและสีงา (คือ สีที่มาจากสีน้ำตาลแดง สีดำและสีขาวผสมรวมกัน) โดยสีที่คนนิยมเลี้ยงมากที่สุดคือ สีน้ำตาลแดง แม้ถึงแม้ว่าจะมีสีแดงแต่จะออกเป็นสีน้ำตาลมากกว่าค่ะ แต่สมัยนี้สีดำก็มาเเรงเป็นที่นิยมเลี้ยงเช่นกันนะคะ

ความแตกต่าง “เรื่องอื่นๆ” ระหว่างสุนัขพันธุ์อาคิตะกับสุนัขพันธุ์ชิบะ

ต่อมาเราจะมาดูกันเกี่ยวกับเรื่องอื่น ๆ เช่น ประวัติศาสตร์และลักษณะนิสัยของสุนัขทั้งสองสายพันธุ์นี้กันค่ะ

1. ด้านประวัติศาสตร์

ฮาจิโกะ
รูปปั้นสุนัขพันธุ์อาคิตะบริเวณยังหน้าสถานีรถไฟโอดาเตะ เมืองโอดาเตะ จังหวัดอาคิตะ

ต้นกำเนิดของสุนัขพันธุ์อาคิตะเชื่อกันว่า คือ “สุนัขโอดาเตะ”  (Odate Inu = 大館犬) ซึ่งเป็นสุนัขที่เลี้ยงเอาไว้ใช้ล่าสัตว์ในแถบเมืองโอดาเตะ จังหวัดอาคิตะ หรือที่เรียกกันตามภาษาพื้นเมืองว่า “สุนัขมาตะคิ” (Matagi Inu = マタギ犬) แต่ในสมัยก่อนสืบเนื่องจากความนิยมที่เพิ่มขึ้นของสุนัขที่เอาไว้ใช้ต่อสู้ จึงทำให้เกิดการนำเอาสุนัขพันธุ์โทสะ (Tosa Ken = 土佐犬) หรือสุนัขพันธุ์เยอรมันเชพเพิร์ด เป็นต้น มาผสมกับสุนัขพันธุ์อาคิตะ เพื่อให้ได้สุนัขพันธุ์อาคิตะที่มีขนาดใหญ่มากขึ้น ซึ่งการกระทำเช่นนั้นได้ทำให้สุนัขอาคิตะสายพันธุ์แท้เสี่ยงเกิดการสูญพันธุ์ ภาครัฐและภาคเอกชนรวมไปถึงหลายหน่วยงานของญี่ปุ่นจึงได้เริ่มกิจกรรมอนุรักษ์สุนัขพันธุ์อาคิตะสายพันธุ์เเท้ขึ้น จึงทำให้ในปัจจุบันจำนวนสุนัขพันธุ์อาคิตะแท้กลับมามีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น หลุดรอดพ้นจากการสูญพันธุ์ไปได้ค่ะ

mix

ในส่วนของสุนัขพันธุ์ชิบะ เป็นสุนัขที่ถูกเลี้ยงเอาไว้ใช้ล่าสัตว์ โดยเป็นสุนัขที่อยู่อาศัยคู่กับคนญี่ปุ่นมาตั้งแต่สมัยยุคโจมง (14,000 ปี – 300 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ของญี่ปุ่น ซึ่งถือว่าเป็นสุนัขสายพันธุ์เก่าแก่ที่สุดในหมู่สุนัขญี่ปุ่นทั้ง 6 สายพันธุ์ แต่ทว่าในสมัยเมจิ (ปี ค.ศ. 1868 – ปี ค.ศ. 1912) ได้มีการนำสุนัขสายพันธุ์ฝรั่งจากต่างประเทศเข้ามาในญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก โดยนำเข้ามาเพื่อมาผสมพันธุ์กับสุนัขสายพันธุ์ญี่ปุ่น จึงทำให้จำนวนสุนัขสายพันธุ์ญี่ปุ่นลดจำนวนลงเป็นอย่างมาก จนในปี ค.ศ. 1928 ได้มีการจัดตั้งสมาคมอนุรักษ์สุนัขญี่ปุ่น (Nihonken Hozonkai = 日本犬保存会) ขึ้น ก็ได้ทำให้สุนัขสายพันธุ์ญี่ปุ่นหลุดพ้นจากสภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์ไปได้ค่ะ

2. ลักษณะนิสัย

สุนัขพันธุ์อาคิตะเเต่เดิมเป็นสุนัขที่เลี้ยงเอาไว้ใช้ล่าสัตว์จึงทำให้นอกจากมีนิสัยที่ฉลาดเฉลียวแล้ว ยังเป็นสุนัขที่เชื่อฟังคำสั่งของเจ้าของเป็นที่สุด แม้ว่าจะเป็นสุนัขที่ดูสงบเสงี่ยมแต่สำหรับบุคคลเเปลกหน้าที่ไม่รู้จักแล้วถือว่าเป็นสุนัขที่มีความระแวดระวังตัวค่อนข้างสูง ด้วยความที่มีสัญชาตญาณของการเป็นสุนัขต่อสู้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นตอนที่เลี้ยง การฝึกสอนสุนัขพันธุ์อาคิตะให้อยู่ในระเบียบจึงถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งค่ะ

สุนัขญี่ปุ่น

ในทางกลับกัน สุนัขพันธุ์ชิบะซึ่งแม้ว่าจะเป็นสุนัขที่เลี้ยงเอาไว้ใช้ล่าสัตว์ มีความซื่อสัตย์ต่อเจ้าของเป็นอย่างมาก แต่เป็นสุนัขที่มีนิสัยเป็นตัวของตัวเองสูง มีนิสัยที่ชอบทำอะไรด้วยตัวเองและขี้ระแวง จึงมักจะไม่ค่อยถูกหรือเข้ากับสุนัขตัวอื่นหรือกับคนแปลกหน้าได้ง่ายสักเท่าไร ดังนั้นการสอนตั้งแต่ยังเป็นลูกสุนัขอยู่จึงมีความจำเป็นอย่างมากเช่นกันค่ะ

3. อายุขัย

baby dog

สุนัขพันธุ์อาคิตะโดยเฉลี่ยจะมีอายุที่ 10 – 13 ปี ในส่วนของสุนัขพันธุ์ชิบะจะมีอายุโดยเฉลี่ยที่ 13 – 15 ปี ซึ่งสุนัขนั้นตามปกติแล้วยิ่งมีขนาดไซส์เล็กมากเท่าใด ก็มักจะมีอายุยืนมากขึ้นเท่านั้น แต่ทว่าการดูแลของเจ้าของก็มีความสำคัญ ดังนั้นเพื่อที่จะให้สุนัขแสนรักของเรามีชีวิตอยู่กับเราไปได้อย่างยาวนาน เจ้าของก็ควรที่จะใส่ใจในเรื่องสุขภาพของน้องกันด้วยนะคะ

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยระหว่างสุนัขพันธุ์อาคิจะกับสุนัขพันธุ์ชิบะ

ตามที่อธิบายไปก่อนหน้า ถ้าดูจากการจำแนกประเภทของสุนัขญี่ปุ่นทั้ง 6 สายพันธุ์แล้ว สุนัขพันธุ์อาคิตะจะมีขนาดใหญ่ที่สุด ในส่วนของสุนัขพันธุ์ชิบะจะตรงข้ามกันคือ จะมีขนาดเล็กที่สุด โดยแต่เดิมในอดีตสุนัขพันธุ์อาคิตะนิยมเลี้ยงเอาไว้ล่าสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ เช่น หมีหรือหมูป่า ในส่วนของสุนัขพันธุ์ชิบะจะเลี้ยงเอาไว้ล่าสัตว์ที่มีขนาดเล็ก เช่น นกหรือกระต่าย เป็นต้น

สุนัขญี่ปุ่น
(แถวบนจากซ้ายมาขวา) สุนัขพันธุ์ฮอกไกโด-สุนัขพันธ์ุอาคิตะ-สุนัขพันธุ์ไค
(แถวล่างจากซ้ายมาขวา) สุนัขพันธุ์ชิโคคุ-สุนัขพันธุ์ชิบะ-สุนัขพันธุ์คิชู

ฮาจิโกะไม่ใช่สุนัขพันธุ์ชิบะนะ!

ฮาจิโกะ

รูปปั้นสุนัขยอดกตัญญูเรื่องความซื่อสัตย์หรือที่ใคร ๆ ต่างรู้จักกันในชื่อ “ฮาจิโกะ” แม้ว่าจะดูเผิน ๆ เหมือนจะเป็นสุนัขพันธุ์ชิบะ แต่ความเป็นจริงแล้วเป็นสุนัขพันธุ์อาคิตะต่างหากค่ะ (รู้กันไหมคะว่าขนาดไซส์ของเจ้าฮาจิโกะรูปปั้นที่ตั้งอยู่ที่สถานีรถไฟฟ้าชิบูย่า กรุงโตเกียว นั้นมีขนาดเท่าตัวจริงของเจ้าฮาจิโกะสมัยตอนที่ยังมีชีวิตอยู่นะคะ)

โดยเจ้าฮาจิโกะนี้เป็นสุนัขที่ได้รับการยกย่องว่ามีความซื่อสัตย์ต่อเจ้าของเนื่องจากว่าแม้เจ้าของจะเสียชีวิตจากไปกะทันหันด้วยโรคเส้นเลือดในสมองแตกก็ตาม แต่เจ้าฮาจิโกะก็ยังคงไปนั่งรอรับเจ้าของที่หน้าสถานีรถไฟชิบูย่า ติดต่อกันยาวนานถึง 10 ปี และแม้ว่าเจ้าฮาจิโกะจะถูกนำไปเลี้ยงกับเจ้าของคนใหม่ แต่ทุกวันมันก็ยังคงไปเฝ้ารอเจ้าของเดิมที่หน้าสถานีชิบูย่าอย่างไม่มีวันหยุด  ซึ่งพฤติกรรมซื่อสัตย์และรักเจ้าของเป็นอย่างมากของเจ้าฮาจิโกะนี้เป็นสักษณะนิสัยที่สมกับเป็นสุนัขพันธุ์อาคิตะเลยค่ะ

สุนัขญี่ปุ่น

ทบทวนกันอีกครั้ง ตามที่อธิบายไปสิ่งที่จะช่วยให้เราสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างสุนัขพันธุ์อาคิตะกับสุนัขพันธุ์ชิบะได้ดีที่สุดคือ “รูปร่าง” ค่ะ โดยสุนัขพันธุ์อาคิตะให้จำไว้ว่าจะมีขนาดใหญ่ถึง 4 เท่าเมื่อเทียบกับสุนัขพันธุ์ชิบะ โดยสุนัขสายพันธุ์ญี่ปุ่นที่ถ้าเราพบเจอแล้วเห็นว่า ตัวใหญ่มาก!! ตามปกติแล้วขอให้คิดก่อนได้เลยว่ามักจะเป็นสุนัขพันธุ์อาคิตะค่ะ ในส่วนของลักษณะใบหน้า สุนัขพันธุ์อาคิตะจะมีลักษณะที่กลมกว่า และส่วนประกอบของใบหน้า เช่นตาหรือปากก็จะรวมกันอยู่ตรงกลางของใบหน้ามากกว่าสุนัขพันธุ์ชิบะที่มีลักษณะใบหน้าที่เพรียวและมีความสมส่วนมากกว่า

แล้วผู้อ่านทุกท่านละคะ ชอบสุนัขพันธุ์อะไรกันคะ? แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นสุนัขพันธุ์อะไรก็ตาม เราซึ่งเป็นเจ้าของถ้าคิดจะเลี้ยงน้องแล้วก็ควรที่จะใส่ใจดูแลและให้ความรักกับน้องให้มากที่สุดนะคะ เพื่อที่จะให้น้องอยู่กับเราไปได้นานที่สุดกันค่ะ

สรุปเนื้อหาจาก : petan.jp
เรียบเรียงโดย : XROSSX

conomin

conomin คือกลุ่มนักเขียนใหม่ของ conomi ที่คอยนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับญี่ปุ่น เพื่อคนรักญี่ปุ่น จากปลายปากกาคนรักญี่ปุ่นด้วยกัน

ไอคอน PDPA

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า