คาดว่าหลายคนน่าจะรู้จักและเป็นลูกค้าของร้านเบอร์เกอร์สัญชาติญี่ปุ่นอย่าง MOS BURGER กันใช่ไหมคะ ร้าน MOS BURGER ถือกำเนิดขึ้นโดยผู้ก่อตั้งชาวญี่ปุ่นตั้งแต่ปี ค.ศ.1972 โดยมีจุดขายคือการใช้วัตถุดิบที่สะอาดปลอดภัย สดใหม่ และยังดีต่อสุขภาพ โดยจะมีการทำเบอร์เกอร์ชิ้นต่อชิ้นตามคำสั่งซื้อ แถมยังมีตัวเลือกอย่าง Rice Burger ที่ใช้ข้าวญี่ปุ่น หรือ Niku Burger (にくバーガー) ที่ใช้เนื้อบดทำเป็นแผ่นแทนขนมปังอีกด้วย
ด้วยจุดเด่นของแบรนด์ที่ถูกใจลูกค้าหลาย ๆ คน ทำให้ MOS BURGER ขยายร้านค้าเฟรนไชส์ไปทั่วญี่ปุ่นมากกว่า 1,312 สาขา (ข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม 2024) รวมทั้งมีร้านอยู่ในหลากหลายประเทศ เช่น ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย จีน ออสเตรเลีย เป็นต้น
ผลกระทบต่อร้านอาหารในช่วงโควิด-19
ในญี่ปุ่น ร้านอาหารเป็นกลุ่มธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากในช่วงโควิด-19 เนื่องจากรัฐมีมาตรการให้ร้านอาหารปิดเร็วขึ้น หรือมีลูกค้ามานั่งรับประทานอาหารในร้านน้อยลง ทำให้ผลประกอบการของ MOS BURGER ในช่วงเดือนเมษายน – กันยายน 2021 ที่แม้ว่าจะสามารถฟื้นตัวขึ้นจากปี 2020 แต่ยังมีผลกำไรที่ไม่ดีนักหากเทียบกับปีก่อนหน้า อีกทั้งยังมีร้านค้าเฟรนไชส์ที่ทยอยปิดตัวไป จนจำนวนร้านที่เคยมีอยู่ลดลงไปจำนวนมาก
นอกจากนี้ ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อัตราส่วนของลูกค้าที่ซื้อกลับบ้านมีมากถึง 80% (จากปกติอยู่ที่ประมาณ 60%) ทำให้ทางบริษัทเกิดไอเดียเพื่อตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มนี้มากขึ้น
พาเบอร์เกอร์เข้าสู่ย่านชุมชน!
ในปีฉลองครบรอบ 50 ปีของบริษัท MOS BURGER ก็ได้คิดโครงการเปิดตัว Kitchen Car MOS50 (キッチンカー MOS50) ที่มีลักษณะเป็นรถบรรทุกขนาดเล็ก ตกแต่งด้วยสีเหลืองสดใส แถมมีรูปเบอร์เกอร์และโลโก้ MOS50 อยู่บนตัวรถแบบเห็นเด่นชัด
Kitchen Car คันแรก เปิดตัวไปเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2021 โดยลงหลักปักฐานอยู่ที่หน้าร้านขายชุดทำงานและสูทชื่อดังของญี่ปุ่นอย่าง Aoyama (洋服の青山) สาขา Otakugahara (大田久が原店) ในเมืองโตเกียว
ที่นี่จะมีเมนูพิเศษซึ่งไม่ได้มีขายที่หน้าร้านทั่วไปคือ 50th Mos Burger และ 50th Teriyaki Burger ที่ใช้เนื้อ American Angus และเนื้อไก่ชั้นดี อีกทั้งยังเพิ่มปริมาณเครื่องและขนาดของขนมปังให้แบบจัดเต็ม ในราคาเพียงชิ้นละ 680 เยน (ประมาณ 200 บาท)
นอกจากนี้ยังมีสินค้าที่ระลึกครบรอบ 50 ปี ให้บรรดาแฟน ๆ ของ MOS BURGER ได้เลือกซื้ออีกด้วย
ทางบริษัท MOS BURGER ให้ข้อมูลว่า การขยายธุรกิจในรูปแบบของ Kitchen Car นี้สามารถเข้าถึงลูกค้าในย่านชุมชนที่อยู่อาศัย หรือแม้แต่ย่านออฟฟิศได้ง่าย สามารถเคลื่อนที่ย้ายตำแหน่งได้ และเหมาะพฤติกรรมลูกค้าที่ชอบซื้อกลับบ้านมากกว่า อีกทั้งใช้เงินลงทุนน้อย เรียกว่าลงทุนกับ Kitchen Car คันหนึ่งน่าจะสามารถคืนทุนได้ในเวลาประมาณ 3 ปีเท่านั้น!
นอกจากนี้ ทางร้านชุดสูท Aoyama เองก็มองว่าการร่วมมือครั้งนี้ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย เนื่องจากบริเวณหน้าร้าน Aoyama มักมีพื้นที่ว่างที่ไม่ได้ใช้งานอยู่แล้ว อีกทั้งโดยปกติลูกค้าคนหนึ่งไม่ได้แวะมาซื้อชุดทำงานหรือสูทกันบ่อย ๆ แต่บางทีหากแวะมาซื้อเบอร์เกอร์ของ MOS BURGER ก็อาจจะแวะเวียนเข้ามาดูสินค้าที่ร้านบ้างก็ได้ จึงเป็นการเพิ่มปริมาณลูกค้าที่เข้ามาซื้อของในร้านได้มากขึ้นนั่นเอง
MOS BURGER ได้ขยายจำนวน Kitchen Car อีกเรื่อย ๆ โดยเน้นร่วมมือกับร้านค้าหรืออาคารที่มีพื้นที่ว่างด้านหน้าในรูปแบบเดียวกับร้าน Aoyoma และยังมีแผนขายตามงานเทศกาลหรืออีเวนต์ต่าง ๆ
กลยุทธิ์นี้ยังขยายไปถึงสาขาในต่างประเทศอีกด้วย โดยที่ประเทศไทย มีการเริ่มต้นทดลองนำมาใช้ที่โอเอซิส อโศก ในวันที่ 21-25 พฤศจิกายน 2022 ก่อนจะนำมาใช้จริงโดยยึดโมเดลเดียวกับฝั่งญี่ปุ่นตรงที่จะคอยตระเวนไปออกตามที่ต่าง ๆ รวมถึงเอเวนต์ที่สำคัญ ๆ เช่น งานคอนเสิร์ต งานกีฬา เป็นต้น
หากมองจากวันที่โลกผ่านพ้นช่วงระบาดของโควิด-19 มาได้แล้วจะเห็นว่า กลยุทธิ์การปรับตัวของ MOS BURGER ในช่วงที่ต้องเผชิญผลกระทบนั้นน่าสนใจมากทีเดียวจริงไหมคะ
สรุปเนื้อหาจาก: toyokeizai, mos.jp
ภาพปกจาก: youtube