วันนี้จะพูดเรื่องที่มาของชื่อแบรนด์สินค้าญี่ปุ่นฮิต ๆ ที่ชาวไทยรู้จักกันดีหลายแบรนด์ โดยผู้เขียนเลือกจากความชอบส่วนตัวล้วน ๆ และคิดว่าเป็นแบรนด์ที่ชาวไทยส่วนใหญ่น่าจะคุ้นเคยกันดี
บะหมี่นิสชิน
มีใครบ้างที่ไม่เคยกินบะหมี่สำเร็จรูป? มั่นใจว่าชาวไทยทุกคนรู้จักแบรนด์นิสชิน ที่จริงแล้วคำว่า “นิสชิน” มีความหมายลึกซึ้งทางประวัติศาสตร์อย่างมาก
แม้ว่าปรัชญาของบะหมี่นิสชินในปัจจุบันคือ “日々清らかに豊かな味をつくる” ที่แปลว่า สร้างรสชาติอันอุดมสมบูรณ์อย่างพิสุทธิ์ในวันแล้ววันเล่า โดยเอาอักษร “วัน (日)” จาก “วันแล้ววันเล่า” และอักษร “พิสุทธิ์ (清)” มารวมกันเป็น “นิสชิน (日清)” แต่ที่จริงแล้วคำว่านิสชินในภาษาญี่ปุ่นหมายถึง “ญี่ปุ่น และ ราชวงศ์ชิง” (ราชวงศ์สุดท้ายของระบอบจักรพรรดิจีน) นิส มาจาก นิจิ (日) หมายถึงญี่ปุ่น และ ชิน (清) หมายถึงราชวงศ์ชิง จึงมีคนจำนวนมากเชื่อกันว่าผู้ก่อตั้งบริษัทนิสชินน่าจะได้รับแรงบันดาลใจจากนิสชินที่แปลว่าญี่ปุ่นและราชวงศ์ชิงมากกว่า เพราะผู้ก่อตั้งคือ อู๋ไป่ฝู นั้นเป็นชาวจีนที่เกิดในไต้หวันภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น โดยจีนในยุคราชวงศ์ชิงได้เสียดินแดนไต้หวันให้ญี่ปุ่นในสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 1 นั่นเอง
อายิโนะโมะโต๊ะ
อายิโนะโมะโต๊ะ เป็นบริษัทแรกของโลกที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ผงชูรส หรือศัพท์วิทยาศาสตร์คือ Monosodium Glutamate จึงตั้งชื่อแบรนด์แบบเข้าใจง่ายสุดขีดว่า “อะจิ โนะ โมะโตะ (味の素)“ ที่แปลแบบกำปั้นทุบดินคือ “ต้นกำเนิดแห่งรสชาติ” เพราะถือว่าตัวเองเป็นเจ้าแรกที่พัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างรสชาติอุมะมิ ซึ่งเป็นรสชาติใหม่ที่นอกเหนือจากรส เปรี้ยว หวาน เค็ม ขม ที่มนุษย์ทั่วไปรับรู้กัน
สุรา Suntory
“Suntory” (ซันโทรี่) เป็นแบรนด์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชื่อดังระดับโลกของญี่ปุ่น ผู้ก่อตั้งคือ โทะริอิ ชินจิโร่ โดย Suntory ตั้งชื่อแบรนด์แบบง่าย ๆ สุดขีด เพราะคำว่าโทะริอิ ในภาษาญี่ปุ่นจะไม่อ่านแยกเสียงเป็น โทะ-ริ-อิ แต่จะอ่านยุบเสียงเป็น “โทะรี่” ไปเลย เวลาคนเรียกผู้ก่อตั้งคือโทะริอิซังก็จะเรียกเป็น “โทรี่ซัง” เมื่อจะตั้งแบรนด์จึงตั้งง่าย ๆ โดยเอาว่า “โทรี่ซัง” มาสลับเป็น “ซังโทรี่”
แต่ยังอยากแสดงความเป็นชาตินิยมคือเป็นลูกอาทิตย์อุทัย จึงสะกด Suntory เพื่อให้มีคำว่า Sun (พระอาทิตย์) อยู่ในแบรนด์
ยาแก้ปวดท้องเซโรงัง
ยาลูกกลอนแผนโบราณของญี่ปุ่นแบรนด์ “เซโรงัง” นั้น ในปัจจุบันเขียนด้วยอักษร 正露丸 แต่ที่จริงแล้วชื่อในอดีตจะเขียนด้วยอักษร 征露丸 (SEI-RO-GAN) ซึ่งมีความหมายทางประวัติศาสตร์ที่โหดร้ายมากเพราะแปลว่า “ยาพิชิตรัสเซีย”
อักษร “เซ 征” หมายถึง ชนะ
อักษร “โระ 露” หมายถึง รัสเซีย
อักษร “งัง 丸” หมายถึง วัตถุทรงกลม ในที่นี้หมายถึงยาลูกกลอน
ยาชนิดนี้มีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องร่วงหรืออาหารและน้ำเป็นพิษ ในกองทัพญี่ปุ่นเชื่อว่าการที่กองทัพแจกจ่ายยาชนิดนี้ให้เป็นยาสามัญประจำกองทัพญี่ปุ่นในช่วงที่เกิดสงครามญี่ปุ่น-รัสเซีย (1904-1905) ทำให้ทหารญี่ปุ่นจำนวนมากท้องไส้ทำงานปกติดีไม่ได้รับผลกระทบจากอาหารและน้ำในสมรภูมิต่างแดน และอาจเป็น 1 ในหลายปัจจัยที่ทำให้ญี่ปุ่นชนะรัสเซียได้ จึงขนานนามยาลูกกลอนชนิดนี้ว่า “ยาพิชิตรัสเซีย” ไปเสียเลย แต่ภายหลังต้องเปลี่ยนตัวอักษรเพื่อความเหมาะสมในสัมพันธภาพระหว่างประเทศ
และที่ฮาคือ ยานี้มีกลิ่นฉุนรุนแรงมากจนทหารจำนวนไม่น้อยไม่อยากกินยานี้ หัวหน้าหน่วยจึงต้องใช้วิธีเป่าแตรรวมพลบังคับให้ทหารมารวมตัวและกลืนยานี้พร้อมกัน เสียงแตรดังกล่าวเลยกลายเป็นเสียงแตรหากินในโฆษณายาเซโรงังอีกหลายชิ้น
ยาคูลท์
คำว่า “ยาคูลท์” (Yakult) มาจากภาษาเอสเปรันโต (Esperanto) หมายถึง โยเกิร์ต โดยสาเหตุที่เลือกภาษาเอสเปรันโตซึ่งเป็นภาษาประดิษฐ์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นภาษากลางของมนุษยชาติ เนื่องจากต้องการให้แบรนด์ยาคูลท์แพร่หลายไปทั่วโลกเพื่อให้มนุษยชาติทั่วโลกมีสุขภาพดี
MUJI
ที่จริงแล้วแบรนด์ MUJI นั้น เขียนเต็ม ๆ คือ MUJIRUSHI-RYOUHIN (無印良品) แปลตรงตัวว่า “สินค้าคุณภาพดีที่ไร้แบรนด์” โดยเจตนารมณ์ดั้งเดิมคือต้องการขายสินค้าคุณภาพดีที่โนเนมคือไม่ต้องมีแบรนด์อะไรรับประกัน แต่รับประกันความคุณภาพดี
ที่น่าตลกคือคำว่า “โนเนม” หรือ “โนแบรนด์” ดันกลายเป็นแบรนด์ดังไปเสียได้!
Canon
“Canon” (แคนนอน) เป็นแบรนด์ที่ตั้งชื่อได้อิงกับความเชื่อทางศาสนาอย่างมาก เริ่มแรกสะกดว่า Kwanon เพื่อเลียนเสียงคำว่า “พระโพธิสัตว์กวนอิม” (観音菩薩: คัน-นง-โบะ-ซะ-ทสึ) และมีเลนส์กล้องตัวแรกชื่อว่า Kasyapa เพื่อเลียนเสียงของ “พระมหากัสสปะ” (大迦葉カシャパ: ได-กะ-โช-กะ-ชยะ-ปะ) ที่เป็นพระสงฆ์องค์สำคัญในพุทธศาสนาแบบมหายาน เพราะโยะชิดะ โกะโร่ ผู้เป็นต้นคิดเรื่องกล้องแบบ Canon นั้นเป็นพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัดมาก จึงเอาชื่อในทางพุทธมาตั้งชื่อแบรนด์และชื่อสินค้า แต่ภายหลังโยะชิดะมีปัญหาไม่ลงรอยทางความคิดกับบริษัท เลยลาออกไปทำงานกับคู่แข่งคือบริษัท Nikon แทน
จากนั้น Kwanon เลยรีแบรนด์ใหม่ และต้องการถอนรากความคิดของโยะชิดะ จึงล้มความเป็นพุทธ แล้วเปลี่ยนแบรนด์ Kwanon เป็น Canon แทน เพื่อแสดงคติแบบคริสต์ศาสนาไปแทนคือคำว่า Canon ที่แปลว่า Doctrine, Rule, Principle ตามแบบฉบับคำว่า Canon ในคริสต์ศาสนา เรียกว่าแบรนด์ Kwanon-Canon นี่ตั้งชื่อแบรนด์กันชนิดที่เปิดคัมภีร์พุทธ-คัมภีร์คริสต์มาขยี้กันเลยทีเดียว
Honda, Toyota, Suzuki, Yamaha
4 แบรนด์ยานยนต์นี้ตั้งชื่อง่าย ๆ แบบกำปั้นทุบดินคือ เอานามสกุลของผู้ก่อตั้งมาตั้งชื่อแบรนด์กันดื้อ ๆ คือ
Honda มาจากชื่อของ ฮอนดะ โซอิจิโร่ (本田宗一郎)
Toyota มาจากชื่อของ โทะโยะดะ ซะกิจิ (豊田佐吉)
Suzuki มาจากชื่อของ ซุสุกิ มิจิโอะ (鈴木道雄)
Yamaha มาจากชื่อของ ยะมะฮะ โทะระคุซุ (山葉寅楠)
ตั้งชื่อกันง่าย ๆ แบบนี้ ต่อให้ผู้ก่อตั้งจะจากโลกนี้ไปนานแค่ไหน ลูกหลานก็ยังจำนามสกุลได้แม่นแน่นอน
สรุป
ญี่ปุ่นเป็นชาติที่มีความเรียบง่าย แต่ก็มีความคิดมากในขณะเดียวกัน การตั้งชื่อแบรนด์ให้เรียบง่ายไม่ได้แปลว่าตั้งชุ่ย ๆ แต่เป็นความเรียบง่ายที่มีเหตุผลรองรับ อาจมีอีกหลายแบรนด์ที่ผู้เขียนไม่ได้กล่าวถึง เพื่อน ๆ นักอ่านลองทำลิสต์เพิ่มแล้วมาแชร์กันได้
เกี่ยวกับผู้เขียน
วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล เป็นคนไทยเพียงไม่กี่คนที่เคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นมาแล้วถึง 4 แห่ง โดยเคยได้รับทุนแลกเปลี่ยนระหว่างที่ว่าการจังหวัด Okinawa และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปศึกษาที่ The University of the Ryukyus รวมทั้งเคยได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่นแบบสอบผ่านสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ไปศึกษาที่ 1) Tokyo University of Foreign Studies / 2) International Christian University / และ 3) Keio University มีประสบการณ์ทำงานที่หลากหลาย เคยเป็นผู้สื่อข่าวและผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ให้บริษัท Nippon Production Service (บริษัทในเครือสถานีโทรทัศน์ NHK) / เป็นผู้สอนภาษาไทยที่สถาบันภาษาไทยหลายแห่งในโตเกียว / เป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติที่สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจและการตลาดให้บริษัท Corporate Directions Inc. ของประเทศญี่ปุ่น / เป็นผู้ก่อตั้งสาขาภาษาญี่ปุ่นธุรกิจของคณะศิลปศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ / เป็นผู้อำนวยการบริษัท AIRA Capital และเป็นทีมงานก่อตั้งบริษัท AIRA and AIFUL รวมทั้งบัตรกดเงินสด A-Money / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท TOYO Business Service / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท JECC ประเทศญี่ปุ่น / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจของบริษัท Business Consultants South East Asia / มีประสบการณ์สอนในมหาวิทยาลัยมากกว่า 10 แห่งในประเทศไทย / เป็นที่ปรึกษาและจัดฝึกอบรมให้องค์กรหลายแห่ง
ปัจจุบันมีธุรกิจเล็ก ๆ ของตัวเองคือ บริษัท Consulting Agency for Talent จำกัด ทำธุรกิจให้คำปรึกษาด้านพัฒนาองค์กรและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HROD และ HRD) / เป็นนักวิชาการอิสระ / วิทยากรอิสระ / นอกจากเขียนคอลัมน์ที่ Conomi แห่งนี้แล้ว ก็เขียนคอลัมน์ให้ธนาคารไทยพาณิชย์ / เขียนคอลัมน์ให้ The PEOPLE Online Magazine / เขียนคอลัมน์ให้ Marumura และยังคงใฝ่เรียนรู้สิ่งใหม่ต่าง ๆ อยู่เสมอแม้ว่าจะมีปริญญา 7 ใบแล้วก็ตาม
ติดตามผลงานเขียนทั้งหมดของวีรยุทธได้ที่
Facebook : รวมผลงานของวีรยุทธ – Weerayuth’s Ideas