รถไฟชินคันเซ็นของญี่ปุ่นเป็นที่โด่งดังไปทั่วโลกในฐานะรถไฟความเร็วสูงที่ช่วยร่นเวลาการเดินทางระยะไกลได้อย่างสะดวกสบายและตอบโจทย์ในหลาย ๆ ด้าน นอกจากนี้ยังเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้หลายประเทศทั่วโลกหันมาพัฒนารถไฟความเร็วสูงของตัวเองกันด้วย แต่ทราบหรือไม่คะว่ากว่าจะมาเป็นชินคันเซ็นที่รู้จักกันแพร่หลายอย่างในปัจจุบันนี้ ชินคันเซ็นมีประวัติความเป็นมาอย่างไรบ้าง?
บทความนี้เราจะมาแนะนำให้รู้จักกับ “Dream Super Express” ซึ่งเป็นชินคันเซ็นสายแรกจากเครือข่าย Tokaido Shinkansen ที่เปิดให้บริการเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ.1964 นับเป็นเวลากว่า 50 ปีแล้วตั้งแต่เปิดให้บริการ แม้จะเป็นระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควรทั้งด้วยการวิ่งรถด้วยความเร็วสูงและระยะเวลาที่อาจส่งผลต่อการเสื่อมสภาพต่างๆ แต่กล่าวได้ว่า Dream Super Express มีความปลอดภัยสูงพอกับความเร็วที่วิ่งได้เลย เพราะไม่เคยเกิดอุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อผู้โดยสารเลยแม้แต่ครั้งเดียว แค่กิตติศัพท์ยังยอดเยี่ยมขนาดนี้ ถ้าอยากรู้ประวัติความเป็นมาแล้วล่ะก็ เราจะพาย้อนกลับไปสู่ต้นกำเนิดชินคันเซ็นกันซึ่งเริ่มตั้งแต่ยุคก่อนสงครามโลกกันเลย
จากรถไฟหัวกระสุนก่อนสงครามโลกสู่รถไฟความเร็วสูงชินคันเซ็นในปัจจุบัน
ย้อนกลับไปเมื่อปี ค.ศ.1872 (ปีเมจิที่ 5) ญี่ปุ่นได้เปิดฉากการคมนาคมครั้งใหม่ด้วยทางรถไฟสายแรกที่เปิดให้บริการระหว่างชินบาชิในโตเกียวถึงโยโกฮาม่าในจังหวัดคานากาว่า รถไฟสายนี้ได้นำเทคโนโลยีจากประเทศอังกฤษเข้ามาใช้ และถูกออกแบบให้เป็นรถไฟรางแคบ (มีความกว้างเพียง 1,067mm เท่านั้นเมื่อเทียบกับรางแบบมาตรฐานที่กว้างประมาณ 1,400mm) ตามคำแนะนำของวิศวกรชาวอังกฤษ ซึ่งปัจจุบันรถไฟ JR ของญี่ปุ่นเองก็เป็นแบบรางแคบด้วยเช่นกัน
ต่อมาในปีค.ศ. 1939 (ปีโชวะที่ 14) เมื่อรถไฟรางแคบมีข้อจำกัดทางการขนส่ง จึงมีแผนสร้างรถไฟสายใหม่ที่ใช้รางกว้างกว่าเดิมและใช้รถไฟความเร็วสูงที่เรียกว่า “รถไฟหัวกระสุน” ขึ้น แต่เนื่องด้วยสถานการณ์ของสงครามโลกครั้งที่ 2 จากฝั่งทะเลแปซิฟิกย่ำแย่ลงจึงต้องเป็นอันพับโครงการเก็บไป
และแล้วแผนพัฒนาโครงการก็ถูกเปิดขึ้นมาอีกครั้ง
เมื่อเวลาล่วงเลยไปการสร้างทางรถไฟสายใหม่ที่เคยถูกพับเก็บไปก็ถูกเปิดขึ้นมาใหม่อีกครั้ง และถือกำเนิด “บิดาแห่งชินคันเซ็น” คือ โซโก ชินจิ (十河 信二) ผู้เป็นประธานการรถไฟแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan National Railways: JNR) ในยุคนั้นด้วย ซึ่งการก่อสร้างในครั้งนี้ไม่ธรรมดาเพราะมีผู้มีบทบาทสำคัญหลักอีก 3 คนจากตระกูลชิมะมาร่วมพัฒนาโครงการสร้างชิงกันเซ็นในครั้งนี้ด้วย เริ่มจาก ชิมะ ฮิเดโอะ (島 秀雄) ที่โซโก ชินจิแต่งตั้งให้เป็นวิศวกรประจำโครงการ นอกจากนั้น บิดาของชิมะ ฮิเดโอะเองก็มีส่วนเกี่ยวข้องในการบริหารงานด้านเทคนิคของการรถไฟ นอกจากนี้ยังมีลูกชายคนโตของ ชิมะ ฮิเดโอะ ผู้เป็นวิศวกรที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการชินคันเซ็นครั้งนี้ด้วย ถือเป็นการก่อสร้างที่มีบุคคลถึงสามรุ่นมาคนร่วมมือกันทำให้สำเร็จขึ้นมาได้
ความสำเร็จของชินคันเซ็นสร้างแรงกระตุ้นการพัฒนารถไฟความเร็วสูงไปทั่วโลก
ช่วงแรกในปีค.ศ.1957 เมื่อแนวคิด Tokaido Shinkansen เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาเพราะต้องการแก้ไขข้อจำกัดทางการขนส่งของรถไฟ Tokaido Line ที่เป็นรางแคบ จากนั้นก็ได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยไม่สนเสียงคัดค้านมากมายที่อ้างถึงความตกต่ำของธุรกิจรถไฟในสหรัฐอเมริกา ในที่สุดเมื่อ Tokaido Shinkansen เปิดตัวในปี ค.ศ.1964 ก็มีผู้ให้ความสนใจและใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ต่อมาได้ดำเนินการเพิ่มกำลังการขนส่งให้มากขึ้นโดยการเพิ่มจำนวนขบวนรถไฟและเพิ่มตู้รถไฟ เป็น16 ตู้ เพื่อรองรับการจัดงาน World Exposition ที่โอซาก้าในปี ค.ศ. 1970 จึงเปิดตัว Sanyo Shinkansen ที่ให้บริการระหว่างสถานี Shin-Osaka และสถานี Okayama และในปี ค.ศ.1975 ก็ได้ขยายระยะเดินขบวนไปจนถึงเขตฮากาตะในจังหวัดฟุกุโอกะ และก่อนที่จะเปิดให้บริการถึงเขตฮากาตะ ชินคันเซ็นยังเปิดให้บริการตู้เสบียงขึ้นมาอีกด้วย
อีกด้านหนึ่งในปีค.ศ.1970 เกิดปัญหาต่าง ๆ เช่น รางรถไฟ Tokaido Shinkansen เกิดการทรุดโทรมและส่งเสียง รวมถึงมีแรงสั่นสะเทือนตลอดเส้นทางวิ่งจนมีการร้องเรียนจากเหล่าผู้อยู่อาศัยใกล้ทางรถไฟ ปีค.ศ.1974 – 1982 จึงกำหนดการตรวจสอบและบูรณะซ่อมแซมรางรถไฟอย่างต่อเนื่อง โดยแต่ละครั้งจะปิดให้บริการประมาณครึ่งวัน และแก้ไขปัญหาเรื่องเสียงและแรงสั่นสะเทือนที่กระทบต่อผู้อยู่อาศัยเลียบทางรถไฟโดยการติดแผงกั้นและปรับปรุงล้อรถไฟเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว
แม้จะมีปัญหาและอุปสรรคเกิดขึ้นมาบ้าง แต่ก็ถือว่าชินคันเซ็นประสบความสำเร็จในด้านการให้บริการที่สามารถขนส่งผู้โดยสารแต่ละเที่ยวได้อย่างปลอดภัย รวมถึงในแง่ของยอดขายก็ดีด้วยเช่นกัน ความสำเร็จนี้ส่งแรงกระตุ้นอย่างมากให้หลายประเทศทั่วโลกเริ่มการพัฒนารถไฟความเร็วสูงขึ้น เช่น TGV ของฝรั่งเศส (เริ่มให้บริการ ค.ศ.1981), ICE ของเยอรมนี (เริ่มให้บริการ ค.ศ.1991) เป็นต้น โดยเฉพาะ TGV ของฝรั่งเศสที่วิ่งด้วยความเร็ว 270 กม./ชม. แซงหน้าความเร็วสูงสุดของรถไฟชินคันเซ็นในขณะนั้นที่วิ่งได้ 210 กม./ชม. ไปเสียอีก เพื่อไม่ให้น้อยหน้า ญี่ปุ่นจึงพัฒนาความเร็วของชินคันเซ็นให้เร็วขึ้นตามไปขึ้นด้วย
เมื่อการแข่งขันของธุรกิจรถไฟความเร็วสูงเริ่มเข้มข้นขึ้นอย่างหนักหน่วง ปีค.ศ. 1962 ญี่ปุ่นจึงลงมือพัฒนา Linear motor car ซึ่งขับเคลื่อนด้วยแม่เหล็กไฟฟ้าที่ทำให้เกิดการลอยตัวขณะวิ่ง เพื่อเพิ่มความเร็วของรถไฟให้ได้มากยิ่งขึ้น และจากการทดสอบปีค.ศ.1997 ก็ประสบความสำเร็จด้วยความเร็วสูงสุดถึง 531 กม./ชม. แต่การพัฒนาก็ยังไม่หยุดนิ่งเพียงเท่านี้เพราะญี่ปุ่นกำลังดำเนินการพัฒนา Linear Chuo Shinkansen โดยมีเป้าหมายที่จะเปิดให้บริการระหว่างโตเกียวและนาโกย่าในปี 2027 ซึ่งหากเสร็จสมบูรณ์แล้วคาดว่าจะวิ่งได้ด้วยความเร็วถึง 505 กม./ชม.เลยทีเดียว
การส่งออกระบบชินคันเซ็นประสบความสำเร็จมากแค่ไหน?
เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ละบริษัท JR ที่ให้บริการรถไฟชินคันเซ็นได้เริ่มส่งออกระบบชินคันเซ็นที่มุ่งเน้นการให้บริการในรอบความถี่ที่สูงและตรงตามตารางเวลา มีความปลอดภัยด้วยสถิติอุบัติเหตุร้ายแรงที่ถึงแก่ชีวิตผู้โดยสารเป็น 0 นอกจากนี้ระบบชินคันเซ็นของญี่ปุ่นนั้นมีลักษณะเฉพาะอยู่ด้วย เช่น สายที่แยกออกมาเฉพาะจากสายธรรมดา การบริหารจัดการแบบรวมศูนย์โดยศูนย์ควบคุม และระบบควบคุมรถไฟอัตโนมัติ (ATC) ที่สามารถควบคุมความเร็วของรถไฟได้ เป็นต้น
แต่อย่างที่เราทราบกันว่าปัจจุบันทั้งจีนหรือไต้หวันมีรถไฟความเร็วสูงที่เทียบเท่าหรืออาจจะเหนือกว่าชินคันเซ็นของญี่ปุ่นเสียด้วยซ้ำ ซึ่งรถไฟความเร็วสูงเหล่านั้นเป็นเทคโนโลยีใหม่จากยุโรป และในต่างประเทศเองก็ไม่มีการกล่าวว่านำระบบชินคันเซ็นของญี่ปุ่นมาใช้งานเลย แม้ว่าสหรัฐอเมริกาและอินเดียจะแสดงความสนใจในการนำเทคโนโลยีชินคันเซ็นไปใช้กันมากขึ้นก็ตาม จึงเป็นที่น่าจับตามองว่าการส่งออกระบบชินคันเซ็นนี้จะประสบความสำเร็จได้หรือไม่กันแน่
Timeline แผนพัฒนาชินคันเซ็นในอนาคต
- 2025 มีกำหนดเปิดให้บริการ Hokuriku Shinkansen ระหว่าง Kanazawa และ Tsuruga
- 2027 มีกำหนดเปิดให้บริการ Linear Chuo Shinkansen ระหว่าง Shinagawa และ Nagoya
- 2035 มีกำหนดเปิดให้บริการ Hokkaido Shinkansen ระหว่าง Shin-Hakodate Hokuto และ Sapporo
- 2045 มีกำหนดเปิดให้บริการ Linear Chuo Shinkansen ระหว่าง Nagoya และ Shin-Osaka
การเดินทางระหว่างโตเกียวและโอซาก้าที่สะดวกมากยิ่งขึ้น
แน่นอนว่าข้อดีของรถไฟความเร็วสูงนั้นทำให้เราสามารถเดินทางข้ามจังหวัดโดยใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันเราสามารถเดินทางระหว่างโตเกียวและโอซาก้าด้วยชินคันเซ็นได้โดยใช้เวลาราว 2.30 ชั่วโมงมาตั้งแต่ตั้งแต่ปีค.ศ. 2015 ซึ่งเป็นการเดินทางที่รวดเร็วทันใจสุด ๆ จากเดิมในปีค.ศ.1960 ที่ใช้เวลาเดินทางถึง 6.30 ชั่วโมงเลยทีเดียวล่ะค่ะ
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปก็อดไม่ได้ที่จะทึ่งกับเทคโนโลยีที่ไม่เคยหยุดนิ่งเลยล่ะค่ะ กว่าจะมาชินคันเซ็นให้เราโดยสารกันอย่างสะดวกสบายอย่างทุกวันนี้แล้ว เจ้ารถไฟหัวกระสุนนี้ผ่านอะไรมาต่าง ๆ มากมายว่าที่คิดอีก นับว่ายาวนานเกินกว่าชั่วอายุของคนเสียอีก สมแล้วล่ะที่ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของญี่ปุ่นโดยแท้จริง
สรุปเนื้อหาจาก: nippon.com