เมื่อเร็ว ๆ นี้ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปร่วมงาน Grand Opening ของร้านค้าที่ชื่อ EN-MUSUBI (縁結び) ซึ่งเป็นร้านค้าที่มีลักษณะพิเศษคือเป็น Test Marketing Space ที่ขายของหลากหลาย รวมทั้งบริการให้คำปรึกษาในทุกแง่มุมเกี่ยวกับช่องทางการจัดจำหน่าย รวมทั้งให้คำปรึกษาแนวทางการปรับปรุงสินค้าและบริการ และที่ยิ่งพิเศษไปกว่านั้นคือร้านนี้เกิดจากความร่วมมือของ SHINKIN Central Bank (信金中央銀行) และบริษัทจัดหางานในเครือ Personnel Consultant จึงอยากจะเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้สักหน่อย
ผู้อ่านทุกท่านเริ่มรู้สึกว่า “เอ๊ะ” กันบ้างหรือยัง? ว่า ธนาคาร และ บริษัทจัดหางาน ร่วมมือกันทำ “ร้านค้าปลีก” ผู้เขียนจะเล่าให้ฟังดังต่อไปนี้
ความซับซ้อนของโลกธุรกิจปัจจุบัน
หลายท่านคงเคยได้ยินคำว่า VUCA กันมาบ้าง โดย VUCA ย่อมาจาก
- Volatility (ความผันผวน) – สิ่งที่เกิดขึ้นฉับพลัน คาดเดายาก ไม่ทันตั้งตัว
- Uncertainty (ความไม่แน่นอน) – สิ่งที่ไม่ชัดเจน ไม่แน่นอน อธิบายลำบาก
- Complexity (ความซับซ้อน) – สิ่งที่มีปัจจัยมากมายที่ต้องนำมาพิจารณาประกอบ
- Ambiguity (ความคลุมเครือ) – สิ่งที่คาดเดาผลลัพธ์ยาก มีแต่ความคลุมครือ ความสับสนงุนงง
เรียกว่าสถานการณ์ของโลกธุรกิจในปัจจุบันนั้น เต็มไปด้วย VUCA คือผันผวนเสียจนไม่มีใครสามารถทำนายทิศทางอะไรได้อีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก สงครามและการก่อการร้าย โรคระบาด การมาถึงของ AI ที่ฉลาดขึ้นเรื่อย ๆ การเกิด Disrupt แหลกลาญในทุกวงการ ฯลฯ ทำให้ธุรกิจที่เคยแน่นอนกลับกลายเป็นไม่แน่นอน บางธุรกิจอาจถึงขั้นต้องล้มเลิกกิจการ หรือ เปลี่ยนแปลงธุรกิจของตัวเองไปสู่ธุรกิจกลุ่มอื่นไปเลย ก็เกิดขึ้นให้เห็นบ่อย ๆ ธุรกิจที่ต้องการความมั่นคงจึงต้องมีการทำ Business Diversification ขยายไปทำธุรกิจอื่น ๆ ที่นอกเหนือไปจากธุรกิจเดิมของตัวเอง เพื่อกระจายความเสี่ยงว่าสักวันหนึ่งเกิดธุรกิจหลักที่ทำเงินเกิดถูก Disrupt จนกู่ไม่กลับ จะได้มีธุรกิจใหม่อื่น ๆ ไว้หล่อเลี้ยงบริษัทต่อไปได้นั่นเอง
กรณีศึกษาของร้าน EN-MUSUBI
คำว่า EN-MUSUBI (縁結び) มีความหมายที่ดีมากคือหมายถึงการผูกสัมพันธ์ หรือการสร้างบุพเพสันนิวาสร่วมกัน ร้านนี้จึงมีหน้าที่ในการผูกมิตรภาพหรือผูกสัมพันธ์ดี ๆ ในเชิงธุรกิจของลูกค้าและผู้บริโภคที่มาใช้บริการ
ธนาคารที่ชื่อ SHINKIN Central Bank นั้นก่อตั้งขึ้นในปี ค. ศ. 1950 แรกเริ่มมีลักษณะของธนาคารแบบสหกรณ์ คือเป็นธนาคารเพื่อผู้ประกอบการท้องถิ่น แต่ภายหลังก็วิวัฒนาการกลายเป็นธนาคารขนาดใหญ่อย่างในปัจจุบันคือใหญ่ในระดับที่จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ Tokyo Stock Exchange ได้
ส่วนบริษัทจัดหางาน Personnel Consultant นั้นมีธุรกิจหลักคือจัดหางานและให้คำปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์
เมื่อพิจารณาในแง่มุมของ VUCA แล้ว ไม่น่าแปลกใจที่ธนาคารจะถูกเทคโนโลยีต่าง ๆ มา Disrupt ธุรกิจธนาคาร เพราะผู้บริโภคหันไปพึ่งพาดิจิทัลมากขึ้น ๆ ๆ ในขณะที่บริษัทจัดหางานก็พบศึกหนักเพราะผู้หางานกับบริษัทผู้ว่าจ้างเองสามารถใช้สารพัดช่องทางอินเทอร์เน็ตในการติดต่อกันได้เองโดยไม่ต้องพึ่งพาคนกลางอย่างบริษัทจัดหางานอีกต่อไป จึงไม่จำเป็นต้องเสียค่าบริการจัดหางานในเมื่อติดต่อกันเองโดยตรงได้
การที่ SHINKIN Central Bank และ Personnel Consultant ตัดสินใจผูกสัมพันธ์กันตั้งโครงการร้าน EN-MUSUBI นี้ ในแง่มุมของการหนีให้พ้นจาก VUCA จึงถือว่าเป็นก้าวที่ปราดเปรื่องมาก โดย SHINKIN Central Bank เนื่องจากธุรกิจเดิมคือธนาคารสหกรณ์อยู่แล้ว จึงรู้จักสินค้าและบริการมากมายของลูกค้าของตัวเอง และช่วยแนะนำช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าให้กับลูกค้าธนาคารมาตลอด จึงเป็นธนาคารที่มี Know-how ด้านการค้าปลีกอยู่แล้ว ในขณะที่ Personnel Consultant เก่งเรื่องคน ย่อมรู้จักบริบทของลูกค้าและบริบทของคนทำงานเป็นอย่างดี เป็นความร่วมมือที่ทั้งสองฝ่ายได้รับประโยชน์
สำหรับผู้บริโภคเอง ก็ได้รับประโยชน์จากงานนี้ เพราะจะได้มีช่องทางของสินค้าและบริการจากญี่ปุ่นเพิ่มมาอีก 1 ราย (แต่สำหรับผู้ประกอบการ นี่อาจเป็นฝันร้าย เพราะมีคู่แข่งเพิ่มมาอีก 1 ราย)
ตัวอย่างกรณีอื่น ๆ ของ Business Diversification ของธุรกิจญี่ปุ่น
การกระจายธุรกิจนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับญี่ปุ่น มีแบรนด์ดัง ๆ ที่เรารู้จักดีที่ทำ Business Diversification กันมานานแล้ว เช่น
อะยิโนะโมะโต๊ะ ที่แต่เดิมทำธุรกิจผงชูรส แต่ปัจจุบันเป็นบริษัทขายอาหารเต็มรูปแบบทั้งอาหารสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง กาแฟกระป๋อง นมและผลิตภัณฑ์จากนม ฯลฯ
Suntory แต่เดิมมีธุรกิจหลักคือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ปัจจุบันขายแหลก ทั้งน้ำดื่ม น้ำผลไม้ เครื่องดื่มบำรุงสุขภาพ เครื่องดื่มบำรุงกำลัง ไปจนกระทั่งมีร้านอาหาร เปิดคาเฟ่ เปิดร้านอิซะกะยะ ก็มี
MUJI อันนี้แทบไม่ต้องอธิบาย เวลาอยากซื้อของแต่คิดอะไรไม่ออกให้เดินเข้า MUJI เพราะมีแทบจะครอบจักรวาลแล้ว
อ่านเรื่องของอะยิโนะโมะโต๊ะ Suntory และ MUJI ได้ที่นี่
หรืออย่างเช่นไปรษณีย์ญี่ปุ่นก็เป็นตัวอย่างที่เด่นมากในเรื่อง Business Diversification มาตั้งหลายทศวรรษแล้ว เพราะเป็นไปรษณีย์เพียงไม่กี่แห่งบนโลกที่มีธนาคารเป็นของตัวเอง และมีธุรกิจ Logistics ของตัวเอง คือเราสามารถเดินไป “ไปรษณีย์” เพื่อ “เปิดบัญชีธนาคาร ทำบัตรเดบิตและบัตรเครดิต” เรียกว่าชาวโลกช็อกมากเวลาไปญี่ปุ่นแล้วพบว่าไปรษณีย์ญี่ปุ่นเป็นธนาคารได้ด้วย
อีกกรณีของ Business Diversification ที่สุดโต่งอย่างที่สุด คือวัดในญี่ปุ่นสามารถจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเชิงศาสนา ที่สถานภาพคล้ายบริษัท และดำเนินธุรกิจได้เลย โดยวัดหลายแห่งในญี่ปุ่นนอกจากขายเครื่องรางแล้ว ยังสามารถทำธุรกิจจัดงานศพ เปิดร้านอาหารและร้านเครื่องดื่ม (แม้แต่เปิดบาร์เหล้าก็มี!) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์หรือเปิดเป็นธุรกิจโรงแรมก็ได้ ที่ว้าวที่สุดก็คือดำเนินกิจการรถไฟฟ้าแบบเคเบิ้ลคาร์ก็มี
อ่านรายละเอียดเรื่องธุรกิจของวัดพุทธในญี่ปุ่นได้ที่นี่
สรุป
น่าจับตามองอย่างยิ่งว่าในยุคที่ญี่ปุ่นผู้เคยเป็นมหาอำนาจแห่งเอเชียนั้นเริ่มมีผู้ท้าชิงความเป็นมหาอำนาจ อย่างจีน และ เกาหลี ญี่ปุ่นจะสามารถปรับตัวและทำ Diversification ตัวเอง เพื่อหนีตายจากภาวะ VUCA ทั่วโลกได้อย่างไร เป็นกรณีที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง
ขอบพระคุณ
- SHINKIN Central Bank Group
- Personnel Consultant Manpower (Thailand) CO., LTD.
- บริษัท DMK (Thailand) Co., Ltd.
เกี่ยวกับผู้เขียน
วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล เป็นคนไทยเพียงไม่กี่คนที่เคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นมาแล้วถึง 4 แห่ง โดยเคยได้รับทุนแลกเปลี่ยนระหว่างที่ว่าการจังหวัด Okinawa และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปศึกษาที่ The University of the Ryukyus รวมทั้งเคยได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่นแบบสอบผ่านสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ไปศึกษาที่ 1) Tokyo University of Foreign Studies / 2) International Christian University / และ 3) Keio University มีประสบการณ์ทำงานที่หลากหลาย เคยเป็นผู้สื่อข่าวและผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ให้บริษัท Nippon Production Service (บริษัทในเครือสถานีโทรทัศน์ NHK) / เป็นผู้สอนภาษาไทยที่สถาบันภาษาไทยหลายแห่งในโตเกียว / เป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติที่สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจและการตลาดให้บริษัท Corporate Directions Inc. ของประเทศญี่ปุ่น / เป็นผู้ก่อตั้งสาขาภาษาญี่ปุ่นธุรกิจของคณะศิลปศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ / เป็นผู้อำนวยการบริษัท AIRA Capital และเป็นทีมงานก่อตั้งบริษัท AIRA and AIFUL รวมทั้งบัตรกดเงินสด A-Money / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท TOYO Business Service / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท JECC ประเทศญี่ปุ่น / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจของบริษัท Business Consultants South East Asia / มีประสบการณ์สอนในมหาวิทยาลัยมากกว่า 10 แห่งในประเทศไทย / เป็นที่ปรึกษาและจัดฝึกอบรมให้องค์กรหลายแห่ง
ปัจจุบันมีธุรกิจเล็ก ๆ ของตัวเองคือ บริษัท Consulting Agency for Talent จำกัด ทำธุรกิจให้คำปรึกษาด้านพัฒนาองค์กรและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HROD และ HRD) / เป็นนักวิชาการอิสระ / วิทยากรอิสระ / นอกจากเขียนคอลัมน์ที่ Conomi แห่งนี้แล้ว ก็เขียนคอลัมน์ให้ธนาคารไทยพาณิชย์ / เขียนคอลัมน์ให้ The PEOPLE Online Magazine / เขียนคอลัมน์ให้ Marumura และยังคงใฝ่เรียนรู้สิ่งใหม่ต่าง ๆ อยู่เสมอแม้ว่าจะมีปริญญา 7 ใบแล้วก็ตาม
ติดตามผลงานเขียนทั้งหมดของวีรยุทธได้ที่
Facebook : รวมผลงานของวีรยุทธ – Weerayuth’s Ideas